ทันทีที่มีการเปิดเผยยอดจองรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ในงาน “มหกรรมยานยนต์ Motor Expo 2023” ที่ผ่านมาครึ่งทางระหว่าง 29 พ.ย. - 7 ธ.ค. 2566 นั้น พบว่า ยอดจองรถยนต์ในงานกว่า 17,079 คันดังกล่าว กว่าครึ่งนั้นเป็นรถยนต์ไฟฟ้า EV จากค่ายรถจีนแซงหน้าตลาดรถยนต์สันดาปจากญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก
…
โดยแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า BYD มีคนจองสูงสุดอยู่ที่ 2,530 คัน รองลงมาคือเจ้าตลาดเดิม TOYOTA มียอดจอง 2,245 คัน และอันดับ 3 HONDA 1,882 คัน ส่วนอันดับ 4-10 นั้น พบว่า ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV แทบทั้งสิ้น จนนำมาสู่การพาดหัวข่าว “สัญญานอันตรายของรถน้ำมัน” ตามมาทันที
เพราะนับเป็นครั้งแรกที่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า EV ผงาดขึ้นมาอยู่ใน TOP 10 ได้เกินกว่าครึ่ง ตอกย้ำให้เห็นแนวโน้มตลาดรถยนต์ EV ที่กำลังรุกคืบ “Disrupt” ตลาดรถยนต์ระบบสันดาปเดิม ยิ่งเมื่อย้อนไปพิจารณามาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ มาตรการ “EV 3.0” ของรัฐบาลที่กำหนดเป้าหมาย 30@30 ตั้งเป้าให้มีการผลิตรถ EV ภายในประเทศให้ได้ 30% ของการผลิตรถทั้งหมดภายในปี 2030 หรือคิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ EV ประมาณ 7.25 แสนคัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 6.75 แสนคัน
ผลของมาตรการ EV3.0 ดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยมีบริษัท EV เข้ามาลงทุนในประเทศไทยถึง 13 บริษัท มียอดจดทะเบียนรถ EV ใหม่ในช่วง 9 เดือนของปีนี้กว่า 50,340 คัน เพิ่มขึ้นถึง 7.6 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน ถือว่าเป็นตลาดรถ EV ที่เติบโตได้เร็วมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วยแล้ว หลายฝ่ายจึงมองไปถึงขั้นที่ว่า ประเทศไทยกำลังจะเป็นฐานการผลิต HUB รถยนต์ EV ของภูมิภาคนี้
แม้ก่อนหน้านี้ “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” จะประกาศนโยบายรัฐบาลที่ยังคงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ระบบสันดาป และประเทศไทยจะเป็นฐานที่มั่นประเทศสุดท้ายที่ยังคงให้ความสำคัญกับการผลิตรถยนต์ระบบสันดาป พร้อมกับสั่งการให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ไปทำมาตรการส่งเสริมเพื่อจะดึงค่ายรถยนต์โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ยังปรับตัวไปสู่การผลิตรถไฟฟ้า (EV) ไม่ทันให้เพิ่มการลงทุนผลิตรถยนต์ในไทยต่อไป
“เราไม่ลืมบุญคุณของญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยมายาวนาน และระหว่างการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นในช่วงเดือน ธ.ค.นี้ เตรียมจะประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนรถที่ใช้น้ำมัน (เครื่องยนต์สันดาปภายใน) อีกด้วย”
สำหรับผู้บริโภคที่กำลังตัดสินใจจะบ่ายหน้าสู่ตลาดรถยนต์ EV หรือยังคงภักดีอยู่กับรถยนต์ระบบน้ำมันเดิมของค่ายญี่ปุ่นนั้น “เนตรทิพย์ ออนไลน์” มีคำตอบให้พิจารณาดังนี้
*ชำเลืองตลาดรถยนต์ EV จีนอีกระลอก
ก่อนจะไปตื่นเต้นกับการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า EV ในไทยที่กำลังเคลิ้มหวังจะผงาดขึ้นมาเป็น HUB EV ของภูมิภาคนั้น หากทุกฝ่ายจะได้ชำเลืองกลับไปดูตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่เป็นต้นกำเนิดของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของโลกกลับพบว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีนได้เผชิญวิกฤตฟองสบู่ไปเรียบร้อยแล้ว
ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่มีอยู่ร่วม 500 ราย 400 กว่าแบรนด์ในปี 2562 ก่อนวิกฤติไวรัสโควิด-19 นั้น ผ่านมาวันนี้เพียง 4-5 ปี ต่างล้มหายตายจากเหลือค่ายใหญ่ๆ ที่มีสายป่านยาวอยู่ไม่ถึง 100 รายแล้ว และยังมีการคาดการณ์กันด้วยว่า ค่ายรถ EV ของจีนยังจะยังคงลดลงไปจนเหลือระดับ 10-20 รายเท่านั้นที่จะอยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้
ด้วยเหตุที่เส้นทางการเติบใหญ่ของอุตสาหกรรมยนต์ยนต์ไฟฟ้าของจีนนั้น มาจากการส่งเสริมและอุดหนุนของภาครัฐที่ต้องการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศ จึงออกมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมประชาชนที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า โดยรัฐจ่ายเงินอุดหนุนให้คนที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสูงสุดคนละ 3 แสนบาท ตั้งแต่ปี 2552 ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีน แข่งขันกันสร้างโมเดลผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากันออกมาเป็นกุรุด จนมีผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าร่วม 500 รายในปี 2562 สร้างแบรนด์ต่าง ๆ ออกมามากมายกว่า 400 แบรนด์
แต่เมื่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนผลิตกันออกมาแทบล้นตลาด แต่ละค่ายต่างงัดกลยุทธ์ ลดแลก แจกแถม ห้ำหั่นสงครามราคากันอย่างหนัก ยิ่งกับการเข้ามาของค่าย Tesla ที่มองเห็นโอกาสเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในจีนจึงตัดสินใจเข้าไปเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในจีนด้วยแล้ว จึงยิ่งทำให้เกิดสงครามราคากันอย่างหนัก
แต่หลังวิกฤติไวรัส-19 ในปี 2562-2564 ที่ผู้คนระงับการเดินทาง และรัฐบาลได้เข้ามาควบคุมการเดินทางออกจากบ้านอย่างเข้มงวด การเดินทางทุกชนิดแทบจะถูกปิดตายนั้น จึงทำให้บรรดาผู้ให้บริการรถยนต์เช่าที่เคยเฟื่องฟูและมีส่วนเกื้อหนุนการเติยโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในจีนพากัน “เจ๊งระนาว” ต้องนำรถไฟฟ้าไปจอดทิ้งกันเป็นล้านคันตามหัวเมืองต่าง ๆ จนกลายเป็นสุสานรถไฟฟ้ากองพะเนินประจานออกไปทั่วโลก
ขณะที่รัฐบาลจีนเองก็เริ่มเข้ามาควบคุมการเติบใหญ่ของกลุ่มทุนจีน ที่เข้ามาผูกขาดและทำตลาดในลักษณะที่เอาเปรียบผู้บริโภค รวมทั้งทยอยปรับลดมาตรการจูงใจคนใช้รถยนต์ไฟฟ่าที่เคยให้ลงไป โดยจะสิ้นสุดมาตรการจูงใจดังกล่าวในปี 2023 นี้ ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า หลังจากรัฐบาลจีนยุติมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในจีนจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนัก และคาดว่า สงครามราคา จะยังคงปรากฎให้เห็นอยู่ต่อไปจนสุดท้าย คาดว่า จะเหลือผู้ผลิตสายป่านยาวจริง ๆ (ที่ส่วนใหญ่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์) ไม่เกิน 10 รายเท่านั้น
เพราะฉะนั้นใครที่คิดอ่านจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนนับจากนี้ จึงต้องพิจารณาถึงแบรนด์ให้ดี ต้องพยายามหลีกเลี่ยงแบรนด์หน้าใหม่ โนเนมทั้งหลายแหล่ เพราะไม่รู้ว่าจะไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เมื่อหมดโปรจากรัฐบาลแล้วจะต้องยืนอยู่บนลำแข้งตนเองแล้ว
*เต้นท์รถมือ 2 – ไฟแนนซ์ เมินรถไฟฟ้า
อีกปัจจัยที่เป็นเครื่องชี้วัด เรายังฝากความหวังให้แก่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้กันอยู่หรือไม่ ก็คือ “ตลาดรถยนต์มือสอง” หรือเต้นท์รถมือ 2 ที่เป็นตลาดรองรับรถยนต์ใช้แล้วที่มีส่วนในการ Drive ตลาดรถยนต์อยู่ในปัจจุบัน แม้การรุกคืบเข้ามาของตลาดรถยสนต์ EV จะมีส่วนทำให้ราคารถยนต์ใสนตลาดทรุดต่ำลงไปมาก หลายเต้นท์ต้องขาดทุนป่นปี้จากรถยนต์มือ 2 ที่ถูกปล่อยออกมาด้วยปัจจัยต่าง ๆ
แต่ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้านั้น จนถึงปัจจุบันยังไม่มีเต้นท์รถมือสองรายใดรับซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่าย
สอบถามผู้รู้ก็ได้รับคำตอบว่า เหตุผลที่เต้นท์รถมือ 2 ไม่นำรถไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายนั้น ก็เพราะยังไม่มีไฟแนนซ์ใดปล่อยกู้ให้กับรถยนต์ไฟฟ้ามือสอง ทำให้ไม่มีราคากลางอ้างอิง เต้นท์รถจึงไม่กล้าเสี่ยงรับรถเข้ามา เพราะการจะจำหน่ายรถออกไปก็ต้องอาศัยไฟแนนซ์ปล่อยกู้ให้อยู่ดี หากไฟแนนซ์เองยังไม่รับรถยนต์ไฟฟ้าก็ยากที่ตลาดรถไฟฟ้ามือสองจะเกิดขึ้นได้
ส่วนเหตุผลที่ไฟแนนซ์ยังคงไม่ปล่อยกู้ หรือรับรถยนต์ไฟฟ้าเข้าพอร์ตนั้น ก็เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ายังไม่นิ่ง และราคารถยนต์ไฟฟ้าเองก็ยังมีความผันผวนสูง โดยรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก ๆ ที่ออกมานั้น มีราคาแพงแต่มีข้อจำกัดในเรื่องของระยะทางในการเดินทางต่อการชาร์ตแบตแต่ละครั้ง สามารถเดินทางได้เพียง 200-300 กม.เท่านั้น ขณะที่รถยนต์ในรุ่นหลังๆ ออกมา นอกจากจะวิ่งได้ไกลขึ้นเป็น 400-500 กม.แล้ว ราคายังถูกลงอีกด้วย
ยิ่งมีข่าวว่ารถยนต์ EV รุ่นใหม่ ๆ ที่จะออกมามีการพัฒนาไปถึงขั้นที่วิ่งได้ถึง 900-1,000 กม.ขึ้นไป ก็ยิ่งทำให้รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นเดิมๆ แทบไม่มีราคาอ้างอิงจ่อจะกลายเป็นเศษเหล็กไปเลย จึงทำให้ไฟแนนซ์เองไม่กล้ารับรถไฟฟ้ามือสอง หรือหากจะรับก็ตีราคาต่ำมาก ที่ทำการซื้อขายกันอยู่ในปัจจุบันนั้น จึงมีกรณีที่ลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว เมื่อจะขายต่อก็มักจะใช้วิธีการเปลี่ยนสัญญาแล้วผ่อนต่อ
*ตลาดรถยนต์ EV ในไทยจะไปได้อีกกี่น้ำ
ปัจจัยหนึ่งของผู้ซื้อรถยนต์ ก็คือ เมื่อเบื่อหน่าย หรือเห็นรุ่นใหม่แล้วก็ยังสามารถปล่อยรถในมือออกไปเพื่อซื้อหรือเปลี่ยนรุ่นใหม่ แต่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า EV นั้น คนที่จะซื้อใช้ ต้องมั่นใจว่าจะต้องใช้ไปจนหมดสภาพ และ “ใช้แล้วทิ้ง” เท่านั้น เพราะการจะปล่อยต่อเป็นมือ 2 นั้น ยังเป็นเรื่องยาทกที่จะเกิดขึ้น
ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ไม่มีใครบอกได้ว่าหากใช้งานไปถึง 5-8 ปี แล้วหมดระยะเวลารับประกันแบตเตอรี่แล้วจะเป็นอย่างไร จะต้องซื้อแบตใหม่ในราคาที่แพงกว่าตัวรถหลายเท่าหรือไม่ ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดของการซื้อขายเปลี่ยนมือไปโดยปริยาย หลายคนมองว่ารถยนต์ไฟฟ้ามือสองนั้นเมื่อหมดสภาพแล้วก็คือหมดต้องจอดทิ้งสถานเดียวแบบสุสานรถที่จีน ไม่สามารถจะแกะเอาอะไหล่ หรืออุปกรณ์อะไรมาเปลี่ยนใช้กับคนอื่นได้
“นั่นยิ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำให้การซื้อขายรถยนต์ไฟฟ้ามือสองเกิดได้ยาก เกิดใช้ไป 5-6 ปีแล้วปล่อยออกไปแม้จะยกให้ฟรี แต่คนซื้อไปจะต้องไปเสียค่าแบตใหม่อีก 3.5 - 4 แสนบาท มันก็จบเห่แล้ว นั่นจึงกลายเป็นข้อจำกัดของตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามือสองที่คงจะยังไม่เกิดขึ้นในระยะ 2 - 3 ปีจากนี้ จะต้องรอดูกันยาว ๆ หลังจากนั้น และยังต้องรอดูว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนในระยะ 1-2 ปีหน้า จะเป็นอย่างไรหลังรัฐบาลจีนยุติการให้การอุดหนุนอุตสาหกรรมนี้แล้ว”
สำหรับปัจจัยที่เราจะตัดสินใจบ่ายหน้าสู่รถ EV หรือยังคงภักดีกับรถน้ำมัน ที่วันนี้ได้มีการพัฒนาปรับตัวส่าระบบ “ไฮบริด” เครื่องยนต์ระบบสันดาปควบคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้ากันหมดทุกค่ายแล้ว และต่างมีการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์ระบบสันดาบให้ทำงานควบคู่กับระบบไฟฟ้ากันทุกค่ายแล้ว แม้เครื่องยสนต์ขนาดเล็กกินน้ำมันน้อย ก็สามารถให้กำลังขับเคลื่อนมหึมาเทียบเท่าเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ในอดีต
ตลาดรถยนต์ระบบสันดาปจึงยังคงไม่มีวันตายไปจากประเทศไทย
สิ่งสำคัญอีกประการ คนที่ใช้รถยนต์ไม่ว่าจะรถยนต์ไฟฟ้า หรือเครื่องยนต์ปกติ ต่างก็หวังว่าเมื่อเกิดเหตุใดขึ้นระหว่างการใช้งาน ช่างแถวบ้านสามารถจะแก้ไขได้ด้วย สามารถจะหวังพึ่งอู่ซ่อมรถข้างทางหรือแถวบ้าน อู่ตามสถานีบริการได้ด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักหนึ่งของการใข้งานบ้านเรา
แต่สิ่งเหล่านี้ จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยกันผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต้องใช้รถยกลากเข้าอู่สถานเดียวและค่าซ่อมเมื่อเข้าอู่นั้นไม่ได้ว่ากันที่หลักพัน หรือหลักหมื่น แต่ว่ากันที่หลักแสนขึ้น ทุกอย่างเปลี่ยนเท่านั้นไม่สามารถเคาะ ซ่อมหรือแกะเอาอะไหล่จากรถคันนั้น คันนี้มาใส่ได้
“ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามือสองยังต้องรออีกนาน และไม่รู้จะเกิดได้หรือไม่ ตราบใดที่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ายังไม่นยิ่ง ค่ายรถต่างๆ ยังคงจัดโปรโมชั่น ทำสงครามห้ำหั่นราคากันอยู่เช่นนี้ ไฟแนนซ์และเต้นท์รถมือสองไหนก็คงไม่อยากรับ เพราะตัวรถยนต์ไฟฟ้าเองก็มีข้อจำกัดในเรื่องของการประกันภัย และเบี้ยประกันที่สูงกว่ารถยนต์ทั่วไป เพราะซ่อมแต่ละทีแพงมาก เกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งแทบจะขอเวนคืนเบี้ยประกันไปเลย”
เหนือสิ่งอื่นใด ราคารถยนต์ EV บ้านเราวันนี้ ก็ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล ไม่ต่างไปจากที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ EV เพื่อหวังจะให้ไทยเป็น HUB การผลิตในภูมิภาคนี้ และเรายังให้การอุดหนุนไปถึงค่าไฟฟ้าที่ใช้กับรถยนต์ EV ในพื้นที่ต่าง ๆ อีกด้วย หากรัฐยุติให้การส่งเสริม ก็มีโอกาสที่อัตราค่าไฟฟ้าที่รถยนต์ EV จะต้องจ่ายค่าพลังงานไฟฟ้าที่ไม่ต่างไปจากรถยนต์น้ำมันทั่วไป
ดังนั้น ที่วิเคราะห์กันว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาทดแทนตลาดรถยนต์ระบบสันดาปในไทยนั้นคงต้องรอเพลงรอไปอีกยาว
..
หมายเหตุ:
- สรุปยอดจองรถยนต์ Motor Expo 2023
1 BYD 2,530 คัน
2 TOYOTA 2,245 คัน
3 HONDA 1,882 คัน
4 GWM 1,202 คัน
5 DEEPAL 1,175 คัน
6 MG 1,165 คัน
7 AION 1,127 คัน
8 ISUZU 860 คัน
9 NISSAN 650 คัน
10 NETA 555 คัน