หลังจาก “หมอลี่ - นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” ประธานอุนกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดแถลงข่าวร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถึงผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการเครือข่ายมือถือที่มีต่อคุณภาพการให้บริการ ภายหลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไฟเขียวดีลควบรวมกิจการระหว่าง “ทรู-ดีแทค” ไปตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา
โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในช่วงระหว่างวันที่ 9-23 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่า ได้พบ 5 ปัญหาใหญ่ถึงร้อยละ 81 คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า , สัญญาณหลุดบ่อย , โปรโมชันเดิมหมดต้องถูกบังคับให้ไปใช้โปรโมชันในราคาที่แพงขึ้น , ค่าแพ็กเกจ ราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก และ Call center โทรติดยาก เพราะทุกค่ายใช้ระบบ AI แทนให้เจ้าหน้าที่ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตถึงคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่อืด คุณภาพเครือข่ายที่อ่อนลงนั้น น่าจะเกิดจากค่ายมือถือมีการปรับลดเสาสัญญานโทรศัพท์ลงหรือไม่นั้น
*ทรูยืนยันคุณภาพไม่ได้ห่วย - มีแต่ดีขึ้น
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ออกแถลงการณ์ 6 ข้อตอบโต้ทันทีว่า 1. บริษัทฯ ยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งเงื่อนไขภายหลังการควบรวมตามที่ กสทช. กำหนดมาโดยตลอด โดยยืนยันว่า คุณภาพสัญญาณภายหลังการควบรวมกิจการไม่ได้แย่ลงแต่อย่างใด ในทางกลับกันสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5G และ 4G ของลูกค้าทรูและดีแทคดีขึ้นทันทีจากการโรมมิ่งสัญญาณคลื่น 2600 MHz และ 700 MHz
2. เรื่องของเสาสัญญาณนั้น ทางทรูยืนยันว่า บริษัทไม่มีการลดอุปกรณ์ส่งสัญญาณ (Cell Site) ลงแต่อย่างใด ที่ผ่านมามีเพียงการปรับเสา (Tower) บางแห่งที่อยู่ในจุดซ้ำซ้อนเพื่อป้องกันสัญญาณรบกวนกันเองเท่านั้น นอกจากจะไม่มีการปรับลดระบบสื่อสัญญาณ (Cell Site) แล้ว ในทางกลับกันยังมีการติดตั้ง cell sites เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอีก 5,000 สถานีฐาน เพื่อขยายสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และทำให้ 5G ครอบคลุมพื้นที่และจำนวนประชากรได้ทั่วประเทศยิ่งขึ้นด้วย
.
3. ในปัจจุบันโครงข่าย 5G ของทรู-ดีแทคครอบคลุม 90% และตั้งเป้าขยายให้ครอบคลุมประชากรถึง 97% ภายในปี 2568 ขณะที่โครงข่าย 4G ของทรู-ดีแทค ครอบคลุมประชากร 99% ซึ่งหลังควบรวมทุกแพ็กเกจสามารถใช้งาน 5G ได้ หากเครื่องมือถือที่ใช้งานรองรับ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแพ็กเกจ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการแพ็กเกจราคาประหยัดก็สามารถเข้าถึงบริการ 5G ได้ โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนแพ็กเกจใหม่
4. ส่วนกรณีที่กล่าวหาว่า มีการบังคับให้ต้องเปลี่ยนเป็นแพ็กเกจราคาสูงขึ้นนั้น ในข้อเท็จจริงของการให้บริการตามปกติทุกแพ็กเกจจะมีกำหนดอายุการใช้งาน โดยเมื่อจะครบกำหนด บริษัทฯ จะมีการส่ง SMS แจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า 30 วัน และนำเสนอแพ็กเกจที่น่าจะเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ลูกค้า หากลูกค้าไม่ต้องการเปลี่ยนแพ็กเกจตามที่เสนอ ลูกค้ารายเดือนสามารถเลือกใช้งานแพ็กเกจเดิม หรือสมัครแพ็กเกจอื่นๆ ได้ตามปกติ
5. ส่วนที่ว่ามีการนำเสนอแพ็กเกจราคาแพงขึ้นนั้น ในข้อเท็จจริง มีการเสนอแพ็กเกจโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากและหลากหลาย โดยแต่ละแพ็กเกจมีเงื่อนไขการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปเพื่อให้ผู้ใช้บริการเลือกแพ็กเกจที่ตรงกับความต้องการของตนมากที่สุด โดยเริ่มต้นตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป
6. ส่วนเรื่องที่ว่า แพ็กเกจ Unlimited ไม่ Unlimited จริงนั้น ยืนยันว่า บริษัทฯ ยังคงมีโปรโมชั่นแบบ Unlimited ให้ลูกค้าเลือกใช้งาน นอกจากนี้ สำหรับแพ็กเกจที่จำกัดปริมาณบนความเร็วสูงสุด (Volume) หลังจากมีการใช้งานครบปริมาณแล้ว บริษัทฯ ได้ปรับความเร็วให้ลูกค้าใช้งานได้ต่อเนื่อง จากเดิมความเร็ว 384kbps เป็น 1Mbps - 6Mbps ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของลูกค้า
*ปลุก กสทช. เลิกทำตัวเป็นเมือกกระดาษ
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในสำนักงาน กสทช. ระบุว่า คำชี้แจงของทรูแทบไม่มีน้ำหนักอะไรเมื่อเทียบกับข้อมูลการร้องเรียนของผู้ใช้บริการที่ร้องเข้ามายังสำนักงานฯ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ผู้บริโภคประสบกับตนเองจนไม่อาจจะอดรนทนได้
ทั้งนี้ สิ่งที่หมอลี่ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงออกไปนั้น เป็นช้อมูลที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนผู้ใช้บริการที่ใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ แต่มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 2,924 ราย ซึ่งหากทุกฝ่ายจะพิจารณาข้อมูลที่ทางทรูชี้แจงออกมานั้นจะเห็นได้ว่า แทบจะไม่มีอะไรเป็นเอกสารหลักฐานที่จะมาหักล้างคุณภาพบริการที่อ้างว่าดีขึ้นกว่าเดิม คุณภาพสัญญาน 4G หรือ 5G ดีกว่าเดิมแม้แต่น้อย
“ข้อมูลและข้อเสนอแนะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำเสนอหรือเผยแพร่ออกมานั้น หากไม่ใช้ข้อเท็จจริง ทางทรูก็คงใช้สิทธิ์ทางกฎหมายดำเนินการเอากับผู้เกี่ยวข้องในข้อหานำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ไปแล้ว ซึ่งหากบริษัทมั่นใจว่าตนเองถูกรังแกหรือถูกกล่าวหาไม่เป็นธรรมก็สามารถใช้สิทธิ์ทางกฎหมายได้จะได้นำเอาข้อมูลไปพิสูจน์กันในชั้นศาล”
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลและข้อเสนอแนะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำเสนอออกมาครั้งนี้ ก็เพื่อให้ กสทช. ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นได้สะท้อนความเป็นจริงถึงสภาพตลาดที่ก่อให้เกิดการผูกขาด ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสินค้าและบริการ อีกทั้ง กสทช. ต้องมองโลกในความเป็นจริงให้มากกว่านี้ ศึกษาผลกระทบการควบรวมเครือข่ายมือถือให้รอบคอบ ต้องนึกถึงประโยชน์เพื่อประชาชนเป็นที่ตั้ง อย่าเป็นแค่เสือกระดาษ
“หาก กสทช. พบว่า บริษัทมีการลดเสาสัญญาณลงจริง แม้จะอ้างว่าเป็นการเปลี่ยนที่ตั้งหรือปรับเปลี่ยนเพื่อลดสัญญานรบกวน แต่หากการปรับเปลี่ยนที่ว่ามีส่วนทำให้คุณภาพของสัญญานลดลง ก็ถือเป็นการดำเนินการที่ขัดมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการควบรวม20 ข้อที่ กสทช.กำหนดไว้ ซึ่งตรงนี้ กสทช.จะต้องดำเนินการพิจารณามาตรการลงโทษต่อไป”
หมายเหตุ:อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม..
- เนตรทิพย์: Hot Issue
เน็ตอืด - สัญญาณแย่ลง "หมอลี่" อัดผลงานชิ้นโบแดง กสทช. ไฟเขียวควบ "ทรู - ดีแทค"
http://www.natethip.com/news.php?id=7656