กสทช. แถลงยืนยันหลังตรวจสอบคุณภาพสัญญานมือถือ-อินเตอร์เน็ต หลังควบรวมกิจการทรู-ดีแทค พบค่าบริการโดยรวมเฉลี่ยลดลง 12% ยืนยันยังไม่พบปัญหาคุณภาพสัญญานตามที่ผู้บริโภคร้องเรียนทุกกรณี
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ได้เปิดแถลงกรณีอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงาน กสทช. ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร้องเรียนปัญหาคุณภาพบริการหลังการควบรวมกิจการระหว่าง “ทรูและดีแทค” โดยพบปัญหาความเร็วอินเทอร์เน็ตคุณภาพต่ำสวนทางค่าบริการที่แพงขึ้น นับจาก 1 มีนาคม 2566 นั้น จากการตรวจสอบของสำนักงาน กสทช.และจากที่เรียกผู้บริหารบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) มาชี้แจงนั้นยืนยันว่า ผลการติดตามภายหลังการควบรวมกิจการ ระหว่างทรูและดีแทค นับตั้งแต่ 1 มีนาคม เป็นต้นมา ไม่ได้มีปัญหาเรื่องคุณภาพบริการ และไม่พบเรื่องการร้องเรียนค่าบริการแพงอย่างที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอนกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคร้องเรียนมาก่อนหน้านี้
โดยในส่วนของการตรวจสอบในเรื่องของอัตราค่าบริการตามตามเงื่อนไขการควบรวมและมาตรการเฉพาะจะต้องปรับลดลง 12% นั้นผลการติดตาม และตรวจสอบก็เป็นไปตามนั้น โดยทรูใช้วิธีเฉลี่ยราคาใหม่ โดยใช้วิธีถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการแต่ละรายการส่งเสริมการขาย ซึ่งผู้ประกอบการได้ดำเนินการภายใน 90 วันนับจาก 1 มีนาคม 2566 ที่ประกาศอย่างเป็นทางการครบตามเงื่อนเวลาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ที่ กสทช. ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะได้ เนื่องจากต้องรอการประชุมของคณะอนุกรรมการติดตามประเมินผลการรวมธุรกิจ 6 เดือนเสียก่อนซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประชุมแม้แต่ครั้งเดียว
ส่วนประเด็นในเรื่องคุณภาพสัญญานที่ผู้บริโภคร้องเรียนว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตล่มบ่อย เพราะมีการยุบ Cell Site ลงไปนั้น จากการตรวจสอบพบว่า เป็นแค่การยุบเสาไปยังพื้นที่ซึ่งครอบคลุมมากกว่า จึงทำให้สัญญาณให้บริการไม่เสถียรในบางช่วงเวลา โดยจากการตรวจสอบพบว่า เมื่อทรู-ดีแทครวมกันก็ได้ร่วมตรวจสอบพื้นที่ให้บริการว่า มีเซลไซต์ไหนที่ซ้ำซ้อนกันและเซลล์ไซต์ใดครอบคลุมพื้นที่มากกว่ากันก็คงจะคงเสานั้นเอาไว้ ส่วนที่เหลือจะโยกย้ายไปยังที่ใหม่ แต่ยทนยันสัญญานโดยรวมยังเท่าเดิม อย่างไรก็ตามประเด็นในเรื่องการย้ายเสาส่งสัญญานนั้นทางสำนักงาน กสทช.ได้ตำหนิทางทรูไปแล้วกรณีที่ต้องย้ายเสาสัญญานควรต้องมีการแจ้งให้ประชาชนผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้า รวมถึงต้องจัดทำแผนการเคลื่อนย้ายจุดรับ-ส่งสัญญาณทั้งหมดส่งมาให้ กสทช. รับทราบด้วย
ส่วนในเรื่องของการปรับแพ็คเกจค่าบริการนั้นได้รับการยืนยันว่า ไม่ได้มีการปรับขึ้นแพ็คเกจค่าบริการแต่อย่างใด บรรดาแพ็คเกจราคาถูกอย่าง 299 บาทก็ยังคงมีอยู่ แต่ก่อนหมดโปรโมชั่นทางบริษัทจะส่งข้อความไปยังลูกค้าเพื่อนำเสนอแพ็คเกจต่างๆ ที่เหมาะสมกับการใช้งานของลูกค้าให้ได้เลือกใช้ แต่หากลูกค้าต้องการใช้แพ็คเกจเดิม หรือยืนยันจะใช้แพ็คเกจเดิมก็สามารถใช้ได้
นอกจากนี้ รักษาการ เลขาธิการ กสทช. ยังระบุด้วยว่า ประเด็นข้อร้องเรียนของผู้บริโภคภายหลังการควบรวมกิจการนั้น แม้จะมีเพิ่มขึ้นจาก 500 เรื่อง เป็น 600 เรื่อง แต่ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับข้อความโฆษณา การให้บริการและการคิดค่าบริการผิดพลาด และมีเพียง 17 เรื่องเท่านั้น ที่ร้องเรียนในเรื่องคุณภาพสัญญาณสอดคล้องกับการตรวจสอบคุณภาพสัญญาณของ กสทช. จากทีมงานที่สุ่มทดสอบทั่วประเทศ
“ขอยืนยันว่า กสทช. ไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหาเรื่องร้องเรียนต่างๆ โดยติดตามเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอยู่เสมอ ซึ่งกล้ายืนยันได้ว่าอะไรที่ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน เราไม่เคยทำ เราเป็นหน่วยงานกำกับดูแลมีหน้าที่ต้องดูแลการแข่งขันให้เกิดความเป็นธรรม ดูแลทั้งผู้บริโภค ดูแลผู้ประกอบการ และดูแลตลาด เพราะฉะนั้นจะไม่มีการเพิกเฉยแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ออกโรงระบุถึงคำแถลงของสำนักงาน กสทช. ข้างต้นว่า กลับสวนทางปัญหาของผู้บริโภคที่ร้องเรียนผ่านโพลล์สำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ร่วมทำแบบสำรวจผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนผ่าน GOOGLE FORM ตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 23 พฤศจิกายน 2566 มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 2,924 ราย โดยผลการสำรวจพบ 5 ปัญหาใหญ่ที่สุดถึงร้อยละ 81 คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า , สัญญาณหลุดบ่อย ,โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น , ค่าแพ็กเกจ ราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก และ call center โทรติดยาก ทั้งหมดนี้เป็นผลสำรวจความเห็นของผู้ใช้บริการมือถือที่ล้วนได้รับผลกระทบหลังการควบ TRUE-DTAC