แม้หลากสำนักเศรษฐกิจจะตบเท้าปรับตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 และแนวโน้มในปีหน้า 2567 ลงจากที่เคยคาดการณ์กันเอาไว้กันเป็นทิวแถว อย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ที่ปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้จาก 3.4% เหลือ 2.7% และปีหน้า 2567 จะขยายตัวได้เพียง 3.2% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.6%
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประกาศตัวเลชเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในไตรมาส 3 เติบโตเพียง 1.5 % ต่ำกว่าประมาณการที่วางไว้ 2.1 % และต่ำกว่าไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 1.8% อันเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว
เช่นเดียวกับที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก็ประเมินภาวะเศรษฐกิจของไทยในปี 2567 จะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.8 - 3.3% และมีความเสี่ยงที่จะเติบโตได้น้อยกว่า 3% เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน เนื่องจากเผชิญปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัจจัยความเปราะบางในประเทศ
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ตัดสินใจผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน “ดิจิทัล วอลเลต” ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) หาเสียงเอาไว้สุดลิ่ม ด้วยเล็งเห็นถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในช่วง “เปราะบาง” ไม่ได้แข็งแกร่งเช่นที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และธนาคารแห่งประเทศไทย ท่องเป็นตำรานกแก้วนกขุนทอง..
เจ้าสัว “ธนินท์-ธนาคารโลก” ดัน “ดิจิทัล วอลเล็ต” สุดลิ่ม!
และก็อย่างที่ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ออกมาแสดงความเห็นถึงนโยบายแจกเงิน “ดิจิทัล วอลเลต” ของรัฐบาล “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” ในงานสัมมนาหอการค้าไทยทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 เมื่อขวบเดือนที่ผ่านมาว่า “เชื่อมั่นในรัฐบาลชุดใหม่ เพราะเข้ามาในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม เข้ามาเพื่อแก้ไขเศรษฐกิจที่กำลัง “หดตัว” พร้อมตอกย้ำด้วยว่า เห็นด้วยและสนับสนุนการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลโดยเฉพาะนโยบาย ดิจิทัล วอลเลต 10,000 บาท ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ”
“พวกเราต้องช่วยกันพูด คือ ไม่ใช่ไปช่วยเหลือคนยากจน แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องให้เข้าใจ เพราะวันนี้เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะไม่ปกติ แต่เราต้องมีแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าถ้าพวกเราสามัคคีกัน ทั้งนักธุรกิจ ข้าราชการ นักการเมือง มองประเทศชาติเป็นหลัก เชื่อมั่นว่า ประเทศไทย ภายใต้การนำของรัฐบาลชุดใหม่จะต้องเจริญรุ่งเรืองแน่นอน”
แม้แต่ ธนาคารโลก (World Bank) เอง ยังออกมาคาดการณ์ผลพวงจากเงินดิจิทัล วอลเลต จะกระตุ้นเศรษฐกิจโตได้ 0.5 - 1.0% ในช่วง 2 ปี แม้จะมีความเสี่ยงที่อ่จกดดันให้เงินเฟ้อและหนี้สาธารณะก็ตาม
ดังนั้น มาถึงวินาทีนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความคาดหวังของประชาชนคนไทยมีต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าตัง “ดิจิทัล วอลเลต” นั้นมีอยู่สูงลิ่ว ชนิดที่เรียกได้ว่า นายกฯ เศรษฐา เดินสายลงไปยังพื้นที่แห่งหนตำบลใด กระแสเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดโครงการดิจิทัล วอลเลต เป็นกระหึ่มไปเต็มรูหู
ชนิดที่กล่าวได้ว่า หากเกิดความพลิกผัน รัฐบาลไม่สามารถแจกเงินดิจิทัลวอลเลตได้ตามสัญญาแล้ว ก็มีหวังได้เรียกแขกให้งานเข้า คงถูกประชาชนลุกขึ้นมา “ถลกหนังหัว” กันเป็นทิวแถวแน่ เพราะเศรษฐกิจไทยเวลานี้ไม่ได้แข็งแกร่งถึงขั้นที่จะป่าวประกาศว่า ไม่ต้องการแรงกระตุ้นใดๆ ได้อีกแล้ว
ตลาดมือถือจ่อกระเพื่อม!
อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังคงต้องการแรงกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทั้งจากการลงทุนโดยตรงและจากนโยบาย “ดิจิทัล วอลเลต” แต่สำหรับตลาดสื่อสารโทรคมนาคมมือถือแล้ว จ่อกระเพื่อมรับนโยบายดิจิทัล วอลเลตของรัฐบาล ที่กำลังจะดีเดย์ตั้งแต่ต้นปี 2567 นี้กันเลยทีเดียว
ด้วยทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะมาตรการ “อีซี่ อี-รีซีท Easy E-Receipt” หรือโครงการ “อี-รีฟันด์” เดิม ที่ให้สิทธิผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดา หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ที่ใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 50,000 บาท
โดยคาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 1.4 ล้านคน คิดเป็นวงเงินใช้จ่ายประมาณ 70,000 ล้านบาท
หรือโครงการดิจิทัล วอลเลต ที่คาดว่าจะใช้เม็ดเงินมากกว่า 600,000 ล้านบาท โดยเป็นส่วนที่ต้องใช้เม็ดเงินกู้โดยตรงประมาณ 500,000 ล้านบาท และมีผู้ที่อยู่ในข่ายจะจับจ่ายใช้สอย ผ่านโครงการนี้มากกว่า 54 ล้านคน แน่นอนว่า ทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องกระทำผ่านสมาร์ทโฟนมือถือ ไม่ว่ารัฐบาลและกระทรวงการคลังจะใช้บล็อกเช่นเดิม หรือบล็อกเชนใหม่ ขึ้นมารองรับโครงการ แต่ด้วยเหตุผลที่ทุกกิจกรรมในการจับจ่ายใช้สอยต้องกระทำผ่านสมาร์ทโฟนมือถือนั้น เม็ดเงินที่จะสะพัดมากกว่า 9 แสน ถึง 1 ล้านล้านบาทดังกล่าว ย่อมจะทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนมือถือกลับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ยิ่งหากทุกฝ่าย จะย้อนกลับไปพิจารณาความสะพัดของระบบการเงินในช่วงที่รัฐบาลดำเนินโครงการ "คนละครึ่ง" ที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดก่อน โดยรัฐแจกจ่ายเงินผ่าน "แอพเป๋าตัง" ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยที่เจ้าตัวต้องร่วมสมทบด้วยนั้น
ขนาดเม็ดเงินที่รัฐใช้ในโครงการดังกล่าว ที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย และจ่ายแบบ "กระปิดกระปอย" แค่ 1,000 ถึง 2,000 บาท ยังทำให้เม็ดเงินสะพัด ทำให้ธุรกรรมทางการเงินบนสมาร์ทโฟนมือถือกระเพื่อม จนทุกฝ่ายถวิลหากันอยู่ทุกวันนี้
แล้วมีหรือ ที่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ "ดิจิทัล วอลเลต" ที่รัฐมีเป้าหมายจะอัดฉีดเม็ดเงินให้แก่ประชาชน ที่มีคุณสมบัติถึงคนละ 10,000 บาท เป็นจำนวนกว่า 54 ล้านคน ซึ่งมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว (ไม่รวมโครงการ อีซี่ รีซิท อีกกว่า 1.4 ล้านคนแล้ว) ธุรกรรมทางการเงินที่กระทำผ่านสมาร์ทโฟนของผู้คน นับร้อย นับพันรายการ ต่อวัน ต่อสัปดาห์ และต่อเดือน ที่จะมีต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี 2567 ถึง 2568 นั้น จะยิ่งสัมผัส ไปกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว นั่นยิ่งจะทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนมือถือกระเพื่อมเป็น "ปรอทแตก"!
จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ให้บริการมือถือ 2 ค่ายยักษ์ ทั้ง AIS และ "ทรู-ดีแทค" จะออกโรงเคลื่อนไหวสนับสนุน นโยบายดิจิทัล วอลเลต ของภาครัฐอย่างใจจดใจจ่อ และเชื่อว่า ทั้งสองค่ายมือถือต่างกำลังจับจ้อง ที่จะวัดโปรโมชั่นใหม่กระโจนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในครั้งนี้อย่างแน่นอน
ตลาดสมาร์ทโฟนมือถือ กำลังจ่อระอุแดด เป็นทะเลแดงเดือดขึ้นมาอีกครั้ง จับตากันอย่ากระพริบ!!!