กสทช. ออกแถลงข่าวร่วม ยก 6 พฤติกรรมประธาน กสทช. ต้นตอความขัดแย้ง กระทบภารกิจบอร์ด กสทช. ติดขัด - งานไม่เดิน ยืนยัน กสทช. ทุกคนทำหน้าที่ตาม กม. คำนึงประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เป็นไปตามที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งพอใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา กสทช. 4 คน ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต, รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้เผยแพร่เอกสารแถลงข่าวร่วม กรณีที่สื่อบางแขนงได้รายงานข่าวว่า ภายในคณะกรรมการ กสทช. มีความแตกแยก ส่งผลให้งานไม่เดิน และไม่ปรากฏผลงาน
*4 กสทช. ชี้ประธาน กสทช. คือต้นตอปัญหา
โดยระบุว่า ตามที่ปรากฏในรายงานข่าวของสื่อบางแขนงว่า ภายในคณะกรรมการ กสทช. มีความแตกแยก ส่งผลให้งานไม่เดิน และไม่ปรากฏผลงานนั้น กรรมการ กสทช. 4 คน ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต, รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งในเรื่องส่วนตัว แต่เกิดจากการที่ประธาน กสทช. ไม่ยอมรับรูปแบบการบริหารงานของ กสทช. ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจหน้าที่ในรูปแบบของคณะกรรมการ ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติที่ประชุม กสทช. ไม่ใช่อำนาจของประธาน กสทช. หรือกรรมการ กสทช. เพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
ขอยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนี้
1. ประธาน กสทช. พยายามที่จะรวบอำนาจในการบริหารจัดการสำนักงาน กสทช. แต่เพียงผู้เดียว เห็นได้จากกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. แทนตำแหน่งที่ว่างเว้นมาเกือบ 4 ปี โดยพยายามจะกล่าวอ้าง และใช้อำนาจเฉพาะตัวประธาน กสทช. แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งขัดกับระเบียบของ กสทช.ฯ ที่กำหนดให้ประธานกรรมการ โดยความเห็นชอบของที่ประชุม กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. ซึ่งหมายถึง กสทช. ทั้งคณะ ไม่ได้ให้อำนาจประธาน กสทช. แต่เพียงผู้เดียว
ประกอบกับแนวทางปฏิบัติในการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ในทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา ก็ดำเนินการพิจารณาแต่งตั้งเลขาธิการกสทช. ในรูปแบบของคณะกรรมการ กสทช. ทั้งคณะมาโดยตลอด ไม่ใช่กระทำโดยออกประกาศของประธาน กสทช. หรือใช้อำนาจของประธาน กสทช. แต่เพียงผู้เดียวในการสรรหา ทั้งการออกประกาศประธาน กสทช. รับสมัคร/ดำเนินการคัดเลือกเองทั้งหมด นำมาซึ่งความขัดแย้งในการบริหารงานในรูปแบบองค์กรกลุ่ม/คณะกรรมการ กสทช.
2. มูลเหตุอีกประการหนึ่ง เกิดจากการที่ประธาน กสทช. ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมติที่ประชุม กสทช. ทั้งๆ ที่ประธาน กสทช.เอง ก็เข้าร่วมประชุมและลงมติในการประชุมนั้นด้วย เช่น มติ กสทช. ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2566 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนตัวผู้รักษาการเลขาธิการ กสทช. จาก นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ เป็น ผศ.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ อันเนื่องจากกรณีเงินสนับสนุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก จำนวน 600 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2565 ซึ่งมีรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ระบุว่า นายไตรรัตน์ฯ มีการกระทำที่อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุมของ กสทช.
แต่ภายหลังจากที่ประชุม กสทช. มีมติเสียงส่วนใหญ่ให้เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการฯ แล้ว ประธาน กสทช.เอง กลับไม่ยอมลงนามในคำสั่งแต่งตั้งรักษาการเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ ตามมติที่ประชุม กสทช. ทั้ง ๆ ที่ตัวประธานเองก็ได้ลงมติเห็นชอบให้เปลี่ยนตัวผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ด้วยเช่นกัน
การที่ประธาน กสทช. ปฏิเสธที่จะลงนามในคำสั่งดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของสำนักงาน กสทช. โดยนายไตรรัตน์ฯ ยังคงปฏิบัติหน้าที่และลงนามในคำสั่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงาน กสทช. ในตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง หรือการที่นายไตรรัตน์ฯ ออกคำสั่งยกเลิกคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตนเอง กรณีเงินสนับสนุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก จำนวน 600 ล้านบาท ที่นายไตรรัตน์ฯ มีความเกี่ยวข้องด้วย
*อัด รักษาการเลขาฯ กสทช. ก็ใช่ย่อย!
3. ไม่นำวาระปรับปรุงโครงสร้างสำนักงาน กสทช. เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ทั้งๆ ที่ กสทช. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้ว แต่กลับมีเจตนาข้ามการพิจารณาวาระนี้ ทำให้เป็นวาระตั้งแต่การประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2566 วันที่ 26 มิ.ย. 2566 ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการปรับปรุงโครงสร้าง
ในทางกลับกัน นายไตรรัตน์ฯ รองเลขาธิการ กลับมีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารในตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ทั้งๆ ที่ มติ กสทช. ให้ชะลอการแต่งตั้งไปจนกว่าจะได้เลขาธิการ กสทช. ตามโครงสร้างใหม่ คำสั่งโยกย้ายพนักงานในตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งของนายไตรรัตน์ฯ จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ
4. ไม่ยอมให้กรรมการ กสทช. พิจารณางบประมาณรายจ่ายของสำนักงาน กสทช. ประจำปี 2567 ตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยงบประมาณที่ กสทช. มีมติเห็นชอบปฏิทินงบประมาณที่กำหนดขั้นตอนการดำเนินการไว้ชัดเจนว่า จะต้องเสนอให้ที่ประชุมกรรมการ กสทช. เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ก่อนที่จะส่งไปยังคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการดีอีเอส) แม้ว่ากรรมการ กสทช. 4 คน จะทักท้วงแล้ว แต่ก็ไม่ฟัง
และเมื่อนายไตรรัตน์ฯ รักษาการเลขาธิการ กสทช. ได้กระทำการข้ามขั้นตอนโดยส่งให้คณะกรรมการดีอีเอส พิจารณา ผลปรากฎว่า คณะกรรมการดีอีเอส ไม่รับพิจารณาให้ความเห็น และส่งเรื่องกลับมายังสำนักงาน กสทช. และด้วยเงื่อนไขของเวลาที่ใกล้จะสิ้นปีงบประมาณ ประธาน กสทช. จึงมีความพยายามจะบีบให้กรรมการ กสทช. อนุมัติงบประมาณฯ ทั้งๆ ที่เป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอนและไม่ละเอียดรอบคอบเท่าที่ควร และทำให้กรรมการ กสทช. แต่ละคน ต้องใช้เวลาในการกลั่นกรองพิจารณารายละเอียดของโครงการที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาทด้วยตนเองทั้งหมดในระยะเวลาที่จำกัด ซึ่งอาจกระทบความละเอียดรอบคอบและการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสในการอนุมัติงบประมาณ
5. ไม่บรรจุวาระสำคัญเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม กสทช. ทำให้ภารกิจต้องหยุดชะงักในหลายเรื่อง ตัวอย่าง เช่น (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 (ประกาศฯ ปี 2561) และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการปรับปรุงประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ที่ รศ.ดร.ศุภัชฯ ได้มีบันทึกส่งให้ประธาน กสทช. พิจารณาเพื่อบรรจุเป็นวาระพิจารณาในการประชุม กสทช. ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 2566 แต่จนถึงขณะนี้ (27 ธ.ค.) ประธาน กสทช. ยังไม่ได้ลงนามคำสั่งบรรจุวาระพิจารณา แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังมี (ร่าง) ประกาศอื่นๆ ที่รอการบรรจุวาระเพื่อพิจารณาอีก เช่น (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประกาศฯ ตามมาตรา 52) และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ.2566 ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรียบร้อยแล้ว
รวมถึงการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อม และสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพด้วย
*ประธาน กสทช. เรียกประชุมบอร์ดตามอำเภอใจ
6. กำหนดนัดวันประชุม กสทช. เอง โดยไม่ปรึกษา กสทช. ทุกคน และแจ้งกำหนดวันประชุมล่วงหน้ากระชั้นชิด รวมถึงการนัดประชุมในวันที่ทราบอยู่แล้วว่ากรรมการบางคนติดภารกิจ แม้ว่าในข้อบังคับการประชุม กสทช. จะกำหนดว่า ให้ประธาน กสทช. นัดประชุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่ที่ผ่านมาในระยะหลายปี เป็นที่รับทราบว่า กสทช. จะมีการประชุมกันทุกวันพุธ และมีตารางนัดหมายล่วงหน้าเป็นเวลานาน (เป็นเดือน) เว้นแต่มีกรณีจำเป็นเร่งด่วน อีกทั้งในการให้เกียรติเพื่อนร่วมงานและเพื่อให้การทำงานร่วมกันเป็นองค์คณะมีความราบรื่น ประธานจะมีการสอบถามความพร้อมของกรรมการก่อนตัดสินใจนัดหมาย
แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประธาน กสทช. กลับไม่ยอมแจ้งกำหนดการประชุมตามธรรมเนียมปกติทั่วไปที่เคยปฏิบัติมา และเมื่อกรรมการ กสทช. ไม่ได้เข้าร่วมประชุม/องค์ประชุมไม่ครบ ก็จะกล่าวอ้างว่าเป็นความผิด/ความขัดแย้งของกรรมการ กสทช. นั้น
ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2566 ประธาน กสทช. มีบันทึกเรื่อง ขอเชิญประชุม กสทช. ในวันพฤหัสบดีที่ 7 ธ.ค.2566 ซึ่งตรงกับวันที่สำนักงาน กสทช. จัดการประชุมนานาชาติ Regulatory Network Meeting 2023 ที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้แทนจากองค์กรกำกับดูแลในประเทศต่างๆ จากทั่วโลกเข้าร่วม และมีการเตรียมงานล่วงหน้าเป็นเวลาหลายเดือน
อีกทั้งทราบว่า กรรมการ กสทช. 4 คน จะไปร่วมงาน มีการอนุมัติค่าใช้จ่ายในการเดินทางล่วงหน้า ในขณะที่ประธาน กสทช. เลือกที่จะไม่นัดประชุมในวันพุธที่ 6 ธ.ค. 2566 เนื่องจากตนเอง และ กสทช. อีก 1 คนติดภารกิจ
อนึ่ง การเลือกนัดประชุมในวันที่มีกรรมการ กสทช. บางคนติดภารกิจ นับว่ามีความอ่อนไหวต่อการลงมติในวาระสำคัญ เนื่องจากในกรณีที่มีเสียงเท่ากัน ประธาน กสทช. มีสิทธิออกเสียงซ้ำ ซึ่งอาจทำให้ผลการลงมติไม่เป็นไปตามคะแนนเสียงที่แท้จริง เกิดเป็นข้อกังขาถึงความชอบธรรมของมติได้
“จากพฤติกรรมของประธาน กสทช. ดังที่กล่าวมา ทำให้การดำเนินงานของ กสทช. ในลักษณะของคณะกรรมการมีความติดขัด ซึ่งมิใช่เกิดจากความขัดแย้งส่วนตัวแต่ประการใด เพียงแต่ กสทช. 4 คน ยืนยันว่าต้องปฏิบัติภารกิจ ทำหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ด้วยความถูกต้อง คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ผลประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ มิใช่ตามความสะดวกหรือความพึงพอใจของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ”