"....คลังบี้ รสก.เร่งลงทุน ชดเชย “ดิจิทัล วอลเลต” ส่ออืด....พาดหัวสื่อต่างๆ ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่แม้ว่า รัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสิน จะกระเตงร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่พลพรรคฝ่ายค้านให้ฉายา “งบเป็ดง่อย-เบี้ยหัวแตก” ผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรกไปได้!
…
แต่กระนั้นก็คาดการณ์กันว่า กว่าที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะประกาศบังคับใช้ ก็คงหลังเดือนพฤษภาคม 2567 ไปแล้ว ล่าช้าไปจาก “ไทม์มิ่ง” การใช้จ่ายงบประมาณปกติไปร่วม 8-9 เดือน จนล่วงเข้าสู่กระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ไปแล้ว
ทำให้ความคาดหวังที่งบประมาณรายจ่ายจะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัว แทบจะเรียกได้ว่า หืดจับไปเลยก็ว่าได้ ความหวังทั้งมวลจึงอยู่ที่การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านโครงการดิจิทัล วอลเลต และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่จะเข้ามาทดแทน
ล่าสุด จึงเห็น นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ออกมาส่งสัญญาณไปยังหน่วยงานรัฐวิสาหกิจน้อยใหญ่ทั้งหลายให้เร่งลงทุนใช้งบประมาณ 2.58 แสนล้าน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ระหว่างรองบประมาณรายจ่ายปี 2567 โดยปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อประคองเศรษฐกิจ ในช่วงรอร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้
อาทิ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงให้หน่วยราชการที่มีงบลงทุน ต้องเตรียมการลงทุนไว้แต่เนิ่นๆ ยกร่างทีโออาร์ประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมประมูลโครงการรัฐล่วงหน้าเพื่อให้พร้อมเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะได้ลงนามในสัญญาต่อไปได้ ไม่ต้องไปปูเสื่อรอให้งบประมาณรายจ่ายมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ไม่งั้นจะทำอะไรไม่ได้เลย
แน่นอนว่า หนึ่งในโครงการลงทุนที่อยู่ในแผนเร่งรัดของกระทรวงการคลังก็คงหนีไม่พ้น โครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) วงเงินลงทุนกว่า 1.42 แสนล้านบาท ที่ “การรรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” จัดประมูลไปตั้งแต่ปีมะโว้ 2563 โน้น แต่จนป่านนี้ยังยักแย่ยักยันไม่ขยับไปไหน แม้จะรวบรัดประกวดราคากันใหม่จนได้ผู้ชนะการประมูลกันไปแล้ว คือ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และประกาศผลประกวดราคากันไปตั้งแต่ปลายปีก่อน (7 กันยายน 2565)
แต่จนถึงวันนี้ รฟม. และกระทรวงคมนาคม ก็ยังไม่กล้ากระเตงผลประมูล เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ด้วยทุกฝ่ายต่างรู้สาแก่ใจกันดี เบื้องหน้าเบื้องหลังการประมูลโครงการนี้เป็นอย่างไร เอาเป็นว่า ขนาดรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ที่ได้ชื่อว่ามีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในสามโลก ก็ยังไม่กล้าเคาะผลประมูลโครงการนี้ ได้แต่โยนเผือกร้อนให้รัฐบาลชุดใหม่ของนายกฯ เศรษฐา รับไปพิจารณากันเอาเองว่าจะตัดสินใจกันยังไง
จะเดินหน้าประเคนโครงการให้กลุ่มทุนการเมืองชุบมือเปิดตามที่ รฟม. รวบรัดจัดประมูลกันเอาไว้ หรือจะ "ล้างไพ่" เปิดประมูลใหม่กันดี ซึ่งแม้จะผ่านมาจนถึงวันนี้ จะ 120 วันของรัฐบาลใหม่ไปแล้ว ก็ยังไม่มีการตัดสินใจกันใดๆ ว่างั้นเถอะ
เหตุนี้ เมื่อกระทรวงการคลังมีนโยบายจะให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการลงทุนโครงการในมือ จึงทำให้ทุกฝ่ายพากันประหวั่นพรั่นพรึงว่า กระทรวงคมนาคมจะผ่าทางตันโครงการนี้อย่างไร?
เพราะต่อให้ตัดสินใจ “ล้มประมูล” เพื่อจัดประมูลใหม่ ให้เกิดความโปร่งใส ตัดปัญหาคาราคาซังทั้งหลายทั้งปวง แต่คำถามก็คือ บอร์ดและฝ่ายบริหาร รฟม. จะฟังคำสั่งหรือนโยบายคมนาคมหรือ?
ขนาด รมช.คมนาคม ผู้กำกับดูแล รฟม. ส่งสัญญาณลงไปยังบอร์ดและฝ่ายบริหาร รฟม. ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ว่ากระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะ “ล้างไพ่” บอร์ดและฝ่ายบริหาร รฟม. กันใหม่ แต่จนแล้วจนรอดทั้งบอร์ดและฝ่ายบริหาร รฟม. ก็ยังคง "นิ่งเฉย" ทำเป็นหูทวนลมไม่หือไม่อือ และไม่อินังขังขอบอะไรด้วยทั้งนั้น
ทำเอากระทรวงคมนาคม ไปไม่เป็นเลยก็แล้วกัน และจนถึงขณะนี้กระทรวงคมนาคมก็ยังไม่สามารถจะปรับเปลี่ยนบอร์ด รฟม. ให้สะเด็ดน้ำลงไปได้ ต้องปล่อยคาราคาซังไปตามยถากรรมอย่างที่เป็นอยู่
ขนาดกรณีลูกบ้านโครงการคอนโดฯ หรู "แอชตันอโศก" ที่โดนหางเลขจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่สั่งให้ กทม. เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการก่อนหน้านี้ เนื่องจากที่ดินผ่านเข้า-ออกโครงการ ที่บริษัทได้รับอนุญาตจาก รฟม. ที่นำมาประกอบการพิจารณาไม่ชอบด้วยกฏหมาย จนทำเอาทั้ง กทม. และบริษัทเอกชนผู้พัฒนาโครงการแทบไปไม่เป็น ต้องวิ่งวุ่นหาทางแก้ไขปัญหากันให้ยุ่งขิง
ในส่วนของกระทรวงคมนาคมจึงมีนโยบายให้ รฟม. ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่ถูกพาดพิงดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อลูกบ้าน และกระทบโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายรอบสถานี ที่ถือเป็นลูกค้าชั้นพรีเมี่ยมของโครงการรถไฟฟ้า โดยแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่มี นายสรพงศ์ ไพฑูรพงษ์ รองปลัดคมนาคมเป็นประธาน และมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. และผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ฝ่ายกฎหมายร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย
แต่คล้อยหลังคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานที่ว่านี้ ผู้ว่าการ รฟม. กลับมีหนังสือแจ้งไปยังลูกบ้านโครงการแอชตันฯ และบริษัทอนันดาฯ ที่เป็นผู้พัฒนาโครงการเพื่อแจ้งว่า รฟม. ได้เพิกถอนหนังสืออนุญาตผ่านทางเข้า-ออกโครงการที่เคยออกให้แก่โครงการไปก่อนหน้านี้ โดยอ้างว่า เป็นการอนุญาตที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด
ทำเอาทั้งลูกบ้านแอชตันอโศก และกระทรวงคมนาคมเอง รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องได้แต่ “อึ้งกิมกี่” ไปตามๆ กัน ตกลงแล้วคำสั่งหรือนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่มีต่อเรื่องนี้ก่อนหน้านั้นเป็นเพียง “กระดาษเช็ดตูด” หรืออย่างไร
เพราะไม่เพียงฝ่ายบริหาร รฟม. จะไม่ปฏิบัติตามแล้ว ยังดำเนินการสวนนโยบายกระทรวงคมนาคมกันอื้อๆ ส่อจะเรียกแขกให้งานเข้าเอาด้วยอีก หากบริษัทและลูกบ้านโครงการลุกขึ้นมาฟ้องหัว ก็มีสิทธิ์ได้พาเหรดขึ้นเขียงเอาได้ทุกเมื่อ
เพราะในคำพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลปกครองสูงสุดนั้น ไม่มีส่วนใดเลยที่จะลากเอา รฟม. เข้าไปเป็นคู่กรณี และไม่มีส่วนใดของคำพิพากษาที่สั่งให้ รฟม. ต้องดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตผ่านทางเข้า-ออกที่ว่านี้แม้แต่น้อย ตรงกันข้ามศาลมีแต่สำทับลงไปด้วยว่า หนังสืออนุญาตผ่านทางเข้า-ออกที่ รฟม. ดำเนินการไว้กับบริษัทนั้น ถือเป็น “สัญญาต่างตอบแทน” ระหว่างกัน ศาลจะไม่เข้าไปล้วงลูกพิจารณาในส่วนนี้
การ "หักดิบ" คำสั่งของกระทรวงคมนาคมต่อกรณีข้างต้น จึงยิ่งไม่ต้องคิดเลยไปถึงการที่กระทรวงคมนาคม จะสั่งยกเลิกการประกวดราคาที่ รฟม. ตั้งแท่นเอาไว้ก่อนหน้านี้
เพราะหากจะสั่งยกเลิกโครงการ กระทรวงคมนาคมก็คงดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ คงไม่ปล่อยให้ปัญหาคาราคาซัง อย่างที่เห็น หรือต่อให้สั่งยกเลิกประกวดราคาไปวันนี้ ก็ไม่รู้ว่า บอร์ดและฝ่ายบริหาร รฟม. จะยอมปฏิบัติตามคำสั่งที่ว่านี้หรือไม่ ?
เป็นการประกาศให้รู้ว่า ไผเป็นไผ และใครมีแบ็คหนาปึ๊กกว่ากัน เอากะพ่อซี่!!!