กรณี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งคำวินิจฉัยชี้ขาดต่อ กรณีรัฐบาลและกระทรวงการคลังจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อทาดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่าน "ดิจิทัล วอลเลต"ว่าทำได้หรือไม่
โดยมีรายงานว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ฟังธงว่า ทำได้หรือไม่ เพียงแต่เป็นการอธิบายรายละเอียดในข้อกฎหมายในการที่รัฐจะตรา พรก.-พรบ.เงินกู้ที่ว่านี้ให้กระทรวงการคลังทราบเท่านั้น
ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ยอมรับว่า ได้รับคำตอบมาเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีข้อเสนอแนะข้อคิดเห็นหลายประการ ซึ่งจากนี้เราคงต้องฟังความคิดเห็นอีกหลายฝ่าย อีก 2 วัน คงจะมีการแถลงออกมาว่าขั้นตอนต่อไป “เบื้องต้นไม่มีข้อติดขัดอะไร มีเพียงข้อเสนอแนะและขั้นตอนที่ต้องไปทำต่อ” นายเศรษฐา กล่าว
........
เป็นที่น่าสังเกตว่า คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังเล่นเกมปริศนา หรือกำลัง "วางยา" รัฐบาลหรือไม่?
เหตุใดจึงเลือกที่จะชี้แจงเพียงรายละเอียดของข้อกฏหมายกลับไปให้รัฐบาลพิจารณาเองว่า จะออก พ.ร.บ.(พรก.)เงินกู้เพื่อดำเนินโครงการ “ดิจิทัล วอลเลต” หรือไม่!
โดยไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดลงไปว่า สถานะปัจจุบันรัฐทำได้หรือไม่? เหตุผลในการตรา พ.ร.บ.(พรก.)เงินกู้ดังกล่าวขัดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 หรือไม่อย่างไร สอดคล้องกับมาตรา 53 ของกฏหมายหรือไม่อย่างไร?
อย่างน้อยก็เพื่อเป็นเกราะกำบังให้การดำเนินนโยบายของรัฐ เป็นไปด้วยความรอบคอบ เพราะบทเรียนในอดีตอันหลากหลายของนโยบายของรัฐบาลที่มีการดำเนินการไป แม้สามารถแก้ไขปัญหากัดหนองของผู้คนไปได้อย่างสัมฤทธิ์ผล อย่างนโยบาย "หวยบนดิน" แต่สุดท้ายกลับต้องจบลงด้วยการที่นายกฯ และ รมต. ถูกลากขึ้นเขียงดำเนินคดีกันกราวรูดนั้น ทำให้ทุกฝ่ายต้องตระหนักไม่อยากพบจุดจบในลักษณะเดียวกัน
ผิดกับ "ดีลควบรวมธุรกิจ" บริษัทสื่อสาร "ทรู-ดีแทค" ก่อนหน้านี้ ที่มีการดำเนินการกันไปในช่วงปลายปี 2565 ก่อนส่งเรื่องมายังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
โดยที่หน่วยงาน/องค์กรกำกับดูแล กสทช. ไม่สามารถจะชี้ขาดลงไปได้ว่า ตนเองมีอำนาจพิจารณาอนุมัติกรณีดังกล่าวหรือไม่? ทั้งที่ กสทช. ตั้งอนุกรรมการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ไม่รู้กี่ชุดต่อกี่ชุด ว่าจ้างทีปรึกษาอิสระทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งจัดทำประชาพิจารณ์ และขอความเห็นจากที่ปรึกษากฏหมายชั้น "บรมครู" ของ กสทช.เอง ซึ่งต่างก็ยืนยันนั่งยันว่า กสทช. มี "อำนาจ" ที่จะพิจารณายับยั้งดีลควยรวมธุรกิจดังกล่าว ได้ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และกฏหม่ยที่เกี่ยวข้องได้เต็มที่
แต่กระนั้น กสทช. ก็เลือกที่จะทำเรื่องหารือข้อกฏหมายไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เป็นที่ปรึกษาด้านกฏหมายของรัฐเพื่อขอให้วินิจฉัยกรณีการควบรวมธุรกิจดังกล่าวว่า ทำได้หรือไม่ ขัดแย้งบทบัญญัติกฏหมายใดหรือไม่อย่างไร?
คณะกรรมการกฤษฎีกาเองก็ “เอื้ออาทร” พิจารณาจนมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้แก่กรณีดังกล่าว ท่ามกลางความงวยงง ท่ามกลางข้อกังขาของผู้คนในสังคม ตลอดจนนักวิชาการด้านกฏหมาย ที่ต่างก็เห็นว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็น หรือผ่าทางตันปัญหาดังกล่าวให้กับองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระแม้แต่น้อย
แต่กระนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกากลับ "เผือก" ไปผ่าทางตันดีลควบรวมฯ จนวันนี้ แนวทางที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีกรรเชียง เลี่ยงบาลี ตีความกฏหมายแบบศรีธนญชัยให้ กสทช. ลุยกำถั่วดำเนินการไฟเขียวให้ไปนั้น ยังคงกลายเป็นปมปัญหาที่ทำให้องค์กร กสทช. งานเข้า! ยังคงถูกฟ้องร้องอิรุงตุงนัง และร่ำมาซึ่งความขัดแย้งภายในองค์กร กสทช. จนกลายเป็นองค์กร "เป็ดง่อย" อยู่ในปัจจุบัน
แต่กับเรื่องที่รัฐบาลและกระทรวงการคลัง หารือถึงการออก กฏหมายเงินกู้ 5 แสนล้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญวิกฤติอยู่เวลานี้ ผ่านโครงการ "ดิจิทัล วอลเลต" ที่เป็นอำนาจหน้าที่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาโดยตรง ก็กลับมีคำวินิจฉัยแบบ "ขี่ม้ารอบค่าย" ถามมา-ตอบไปแบบสงครามประสาทโยนเผือกร้อนกลับไปให้รัฐบาลต้อง "วัดดวง" กันเอาเองว่า จะลุยไฟเดินหน้าโครงการดังกล่าวหรือไม่?
เป็นการโยกเผือกร้อนไปให้รัฐวัดดวงเอง หากในท้ายที่สุด รัฐบาลเกิดลุยไฟดำเนินการ ตรา พ.ร.บ.(พรก.) เงินกู้ดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่พรรคได้หาเสียงเอาไว้ จนถึงขั้นถูกบรรดานักร้อง "ขาประจำ" ลุกขึ้นมาฟ้องหัว รัฐบาลก็ไม่อาจจะโทษหรือโยนกลองมาเป็นความคิดเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้
เรียกได้ว่า ทุกอย่างปล่อยให้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องไป "วัดดวง" กันเอง ช่างแตกต่างจากกรณีดิวควบคุมธุรกิจครั้งประวัติศาสตร์ True Dtac ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าไปเผือก "ผ่าทางตัน" ให้ดีแท้
จนอดคิดไม่ได้ว่า ตกลงแล้ว หน่วยงานนี้มีหน้าที่อะไรกันแน่ ได้ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน หรือผลประโยชน์ของเอกชนกันแน่!!!