ขณะที่รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ปัดฝุ่นโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ "แลนด์บริดจ์" ออกมาโหมกระพือเพรียกหาการลงทุนจากต่างประเทศ หวังจะให้เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ เป็น “ประตูสู่เอเชีย” ทั้งยังคาดหวังจะให้เป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของภูมิภาค
…
โดยผุดเส้นทาง “แลนด์บริดจ์ใหม่” ระนอง-ชุมพร หอบโครงการออกไปโรดโชว์ดึงดูด (ขายฝัน) นักลงทุนต่างประเทศใหญ่โต ไล่มาตั้งแต่จีน สหรัฐฐอเมริกา และญี่ปุ่น รวมทั้งล่าสุดที่เวทีดาวอส สหภาพยุโรป ที่นัยว่า ได้รับความสนใจจากนักลงทุนน้อยใหญ่ที่ตบเท้าเข้าหารือกับคณะนายกฯ เศรษฐา ชนิดหัวกระไดไม่แห้ง
ทั้งที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า โครงการดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ทุกอย่างยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเบื้องต้น รายงานผลการศึกษาที่รัฐบาลนำไปโรดโชว์ก็เป็นเพียงรายงาน “จับแพะชนแกะ” ตัดแปะเอารายงานผลศึกษาของหน่วยงานต่างๆ มาเสกสรรปั้นแต่งให้ดูสวยหรู ยังไม่รู้จะต้องเผชิญแรงต่อค้านจากประชาชนในพื้นที่อีกแค่ไหน
เพราะที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางแลนด์บริดจ์ที่ว่านี้จนนับนิ้วไม่ถูก ไล่ดะมาตั้งแต่แลนด์บริดจ์ กระบี่-ขนอม (นครศรีธรรมราช) แลนด์บริดจ์ทับละมุ (พังงา)-สิชล, ปากบารา-ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่นัยว่ามีการก่อสร้างถนนหนทาง ทางหลวงหมายเลข 44 ที่ใหญ่มหึมาที่สุดและตรงที่สุดของภาคใต้ไปแล้วก่อนหน้านี้
หลังมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็ขยับปรับเปลี่ยนโครงการทีโยกย้ายโครงการไปปลุกท่าเรือน้ำลึกโครงการทวาย โปรเจ็กต์ จะไปสร้างท่าเรือน้ำลึกเชื่อมการค้ากับตะวันออกกลางกับเอเชีย จนทำเอารัฐบาลเมียนมาหลงดีใจไปตั้งหลายปี หากวันนี้รัฐบาลและคมนาคมสามารถปลุกผี “แลนด์บริดจ์” เส้นทางใหม่ “ระนอง-ชุมพร” จนสามารถผลักดันให้เกิดการลงทุนได้จริง ก็ยังคงเป็นที่สงสัยกันอยู่ว่า จะสามารถช่วงชิงสายการเดินเรือ ฟีดเดอร์ให้หันมาใช้บริการแลนด์บริดจ์ไทยแลนด์ได้มากน้อยแค่ไหน จะทำให้ไทยทะยานขึ้นมาเป็น “ฮับ” แทนช่องแคบมะละกาได้แค่ไหน
เพราะข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมยกเมฆนำเสนอให้รัฐบาลนำไปขายฝันอยู่เวลานี้ ทุกฝ่ายต่างก็รู้ดีว่าตั้งอยู่บน นโยบาย "ไม้หลักปักเลน" ปรับเปลี่ยนพื้นที่ดำเนินการหลอกรัฐบาลไปวันๆ ปริมาณเรือสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาที่มีกว่าปีละกว่า 90,000 ลำ ปริมาณตู้สินค้า ตู้คอนเทนเนอร์ผ่านช่องแคบมะละกาและท่าเรือบริเวณนี้ (สิงคโปร์) กว่าปีละ 70 ล้านตู้ ก็เป็นการเอาตัวเลขตู้สินค้าที่มีการขนส่งผ่านท่าเรือแถบนี้แบบดิบๆ มาเสกสรรปั้นแต่งให้สวยหรู และคาดหวังว่าเมื่อแลนด์บริดจ์เปิดให้บริการจะสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งการขนส่งตู้สินค้ามายังประเทศไทยได้ เพราะดูไม่ต้องเดินทางอ้อมช่องแคบมะละกาประหยัดเวลาการเดินทางไปได้ 3-5 วัน โดยอนุมานกันดื้อ ๆ ว่า จุดนี้จะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้สายการเดินเรือ บริษัทเรือและผุ้ประกอบการหันมาใช้บริการขนถ่ายลำ ขนถ่ายตู้สินค้า หรือน้ำมันยังประเทศไทย
ทั้งที่ข้อเท็จจริงเรือขนส่งขนาดใหญ่ระวางขับนับแสนตันที่ขนส่งตู้สินค้านับหมื่นตู้จากประเทศผู้ผลิตในกลุ่มเอเชียตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ไปยังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ล้วนบรรทุกตู้สินค้ามาเต็มลำ 80-90% ไปแล้ว ที่แวะรับตู้สินค้าจากภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยนั้นมีสัดส่วนน้อยมากเพียง 10% เท่านั้น จึงไม่อาจคาดหวังว่าจะดึงเรือใหญ่เหล่านี้ให้มาดำเนินการขนถ่ายเปลี่ยนลำในประเทศไทยโดยต้องเสียเวลาขนถ่ายลำกันนานเป็นสัปดาห์แน่
ในขณะที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เป็นเพียงแค่นโยบาย “ขายฝัน” ไม่รู้จะต้องฝ่าฟันอุปสรรคและกระแสต้านจากผู้คนในพื้นที่อีกกี่มากน้อย
แต่ในส่วนของโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ "อีอีซี" ที่รัฐบาลชุดก่อนดำเนินการเอาไว้ วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ยืนอยู่บนเส้นด้าย” กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากนโยบาย “ไม้หลักปักเลน” ของรัฐบาลที่หันไปโหมโหมกระพือโครงการแลนด์บริดจ์ภาคใต้ ทั้งที่นักลงทุนน้อยใหญ่ต่างหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในเขตอีอีซีกันหัวกระไดไม่แห้ง
วันนี้โครงการลงทุนหลักที่เป็น “เรือธง” หรือ Flagship ของ อีอีซี ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 2.24 แสนล้าน , โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก วงเงินลงทุนกว่า 2.9 แสนล้าน คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว บริษัทเอกชนผู้ลงทุนหรือรับสัมปทานจากรัฐเปิดหวูดก่อสร้างโครงการไปถึงไหน อย่างไรแล้ว ฯพณฯ ท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และ ฯพณฯ ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ตอบได้ไหม?
ยิ่งในส่วนของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่การรถไฟฯ ลงนามในสัญญาสัมปทานกับบริษัทเอเชียเอราวัน จำกัด ของกลุ่มทุน ซีพี. ท่ามกลางสักขีพยานจากทั่วโลกเมื่อกว่า 4 ปีมาแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานก็ยังไม่เปิดหวูดเริ่มต้นก่อสร้างโครงการไปแม้แต่กิโลฯ เดียว จนหลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามเอากับรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม จะปล่อยให้โครงการเลื่อนลอยไปแบบนี้แบบไร้อนาคตกันไปเยี่ยงนี้อีกนานแค่ไหน?
ลำพังแค่เผชิญสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่แบงก์ชาติตั้งแท่นงัดข้อกับรัฐบาลในเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เดินไปคนละทิศ สวนทิศเศรษฐกิจที่ยังคงจมปลักติด “กับดัก” อัตราดอกเบี้ย ก็ทำเอาโครงการลงทุนน้อยใหญ่หายใจไม่ทั่วท้อง ส่งผลให้เส้นทางการระดมทุนดำเนินโครงการในอีอีซี รวมไปถึง 2 โครงการเรือธงข้างต้น ต่างหืดจับกันเต็มกลืนอยู่แล้ว
วันดีคืนดี กระทรวงคมนาคม และรัฐบาลยังลุกขึ้นมาปัดฝุ่น-ปลุกผี แผนแม่บทขยายศักยภาพของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) เฟส 2 (แถมมีติ่งเฟส 2 พิเศษอย่าง เทอร์มินัล (ตัดแปะ) North Expansion รวมทั้งขยายศักยภาพของท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 ขึ้นมาดำเนินการกันเข้าไปอีก ทั้งที่แผนเดิมนั้นรัฐบาลจะหันไปพัฒนาโครงการสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 หรือสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ใช้โครงข่ายรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเชื่อมโยงการเดินทาง
เมื่อกระทรวงคมนาคมหันไปปัดฝุ่นลุยขยายศักยภาพของสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองกันเต็มสูบเช่นนี้ มันจึงกลายเป็นนโยบาย “ไม้หลักปักเลน” ที่ทำให้โครงการเมืองการบินตะวันออก และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เผชิญกับความไม่แน่นอนหนักเข้าไปอีก !
ความเป็นไปได้ในการปลุกเมืองการบินตะวันออกให้กระหึ่ม โดยมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงย่อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง !
ยิ่งเมื่อรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม หันไปโหมกระพือระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ “แลนด์บริดจ์” หอบเอาโครงการออกไปเดินสายโรดโชว์กันเป็นวรรคเป็นเวร หวังจะให้เป็นโครงการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยตีปี๊บจะให้สัมปทาน สิ่งจูงใจในการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์อย่างถึงพริกถึงขิงแก่นักลงทุน
สิ่งเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดคำถามว่า แล้วในส่วนโครงการลงทุนในเขตอีอีซีเดิมที่รัฐบาลดำเนินการไปก่อนหน้า และได้เชื้อเชิญนักลงทุนน้อยใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนกันเป็นกุรุดก่อนหน้า โดยมีโครงการลงทุนกันไปแล้วไม่รู้กี่หมื่น กี่แสนล้านในเวลานี้ รัฐบาลยังคงให้การสนับสนุนอยู่หรือไม่ ? ยังคงให้ความสำคัญอยู่หรือไม่?
หากรัฐบาลยืนยันว่า รัฐบาลยังคงให้การสนับสนุน รัฐบาลและคมนาคมคงต้องให้ความกระจ่างสังคม รวมทั้งต่อ “เจ้าสัว” และกลุ่มทุนเอกชนผู้รับสัมปทานร่วมลงทุนทั้งหลายด้วยว่า จะให้การสนับสนุนอย่างไร? รูปแบบไหน หรือมีรูปธรรมอย่างไร เพราะที่เห็นและเป็นไป ก็เห็นมีแต่ปล่อยให้เป็นเรื่องของหน่วยงานคู่สัญญาดำเนินการเจรจากันไปแบบไร้ทิศ เจรจากันข้ามเดือนข้ามปี จนจะข้ามภพข้ามชาติแล้วก็ยังไม่มีข้อยุติ
ลำพังแค่ประเด็นในเรื่องบีโอไอ (BOI) ที่ล่าสุด รัฐบาลไม่ต่ออายุให้แก่โครงการไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน ก็ยิ่งทำให้ความเป็นไปได้ในการจัดลงทุนของการนี้ ริบหรี่ลงไปอยู่แล้ว
ล่าสุด ยังมาเผชิญปัญหาในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยและการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่รัฐบาลบอกปัดลอยแพ ให้บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทาน ไปหาทางแก้ไขปัญหาเอาเองด้วยอีก ในสภาวะที่แบงก์ชาติงัดข้อเอากับรัฐบาลเช่นนี้ ยังคงปล่อยให้แบงก์ชาติยืนกรานตนเองเป็นอิสระ จะดำเนินโยบายดอกเบี้ยเช่นนี้กันต่อไป ปล่อยให้เอกชนผู้รับสัมปทาน “ดิ้นรน” หาทางออกกันเอาเองในสภาวะที่ดอกเบี้ยสูงลิ่วติดยอดดอยเช่นนี้ เอกชนหน้าไหนจะมีศักยภาพระดมทุนได้
ดังนั้น ก่อนที่รัฐบาลจะลุยไฟระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างถึงพริกถึงขิงในขั้นต่อไป ก็สู้หันมา “ผ่าทางตัน” แก้ไขปัญหาโครงการลงทุนที่เป็น “เรือธง” ในเขตอีอีซีนี้ก่อนปะไร จะปล่อยให้นักลงทุนที่ (หลวมตัว) เข้ามาร่วมลงทุนรับสัมปทานดิ้นรนช่วยตัวเองแบบ “ธุระไม่ใช่(ของรัฐ)” เช่นนี้ต่อไปหรือ? จะยืนกรานรัฐบาลและคู่สัญญาฝ่ายรัฐต้องกอดสัญญาสัมปทานแบบแก้ไขไม่ได้เช่นนี้ต่อไปหรือ?
หากที่สุดแล้วโครงการลงทุนหลักในอีอีซีเหล่านี้ไม่เกิด รัฐบาลก็อย่าได้หวังว่า โครงการแลนด์บริดจ์กระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้จะได้เกิดเลย มันไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว !