นโยบายไม้หลักปักเลนของรัฐบาลที่หันไปมุ่ง “ปัดฝุ่น” ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ “แลนด์บริดจ์” ทำโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี เคว้ง ทั้งไฮสปีดเทรน-เมืองการบินตะวันออก ส่อหืดจับ 5 ปียังไม่ขยับ ล่าสุด กลุ่ม FS พันธมิตรร่วมทุนไฮสปีดเทรนจากอิตาลีถอนตัวไปแล้ว จี้รัฐบาลเศรษฐาเคลียร์หน้าเสื่อให้ชัดก่อนฉุดลงทุนในเขตอีอีซีล้มเป็นโดมิโน่
ความไม่ชัดเจนของรัฐบาลต่อการผลักดันและเดินหน้าโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC) ของรัฐบาลนายกเศรษฐา ทวีสิน หลังจากที่รัฐบาลหันไปปัดฝุ่นโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ “แลนด์บริดจ์” ขึ้นมาดำเนินการ และกระเตงโครงการออกไปโร้ดโชว์ในหลายเวทีทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และล่าสุดที่ยุโรป ทั้งที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตโครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลกำลังตีปี๊บอยู่นั้นยังคงเป็นเพียงในขั้นตอนการศึกษาเบื้องต้น และที่ผ่านมายังมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางก่อสร้างแลนด์บริดจ์หลายต่อหลายเส้นทาง อาทิ เส้นทางกระบี่-ขนอม ปากบารา-ท่าเรือสงขลา 2 เป็นต้น แต่สุดท้ายโครงการต่างๆ เหล่านี้ต้องล้มเลิกไป ไม่เกิดขึ้นจริงแม้โครงการเดียว
หลายฝ่ายจึงตั้งข้อสังเกตว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ดังกล่าว ยังเป็นเรื่องไกลตัวเยอะมาก และข้อมูลที่รัฐบาลและคมนาคมนำมาตีปี๊บอยู่เวลานี้ยังเป็นเพียงรายงานเบื้องต้นที่ไม่รู้จะต้องเผชิญแรงต่อต้าน คัดค้านจากผู้คนในพื้นที่อีกสักกี่มากน้อย จึงยังไม่สามารถจะคาดหวังกับโครงการเหล่านี้ได้ รวมทั้งยังเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยากว่า เมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์แล้วเราจะช่วงชิงเรือสินค้า-ตู้คอนเทนเนอร์ และตลาดน้ำมัน รวมทั้งแท้งเกอร์จากช่องแคบมะละกา และท่าเรือสิงคโปร์ได้หรือไม่ เพราะยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณากันอีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องของความพร้อมด้านบุคลากรและการลงทุน
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวว่า แทนที่รัฐบาลจะมุ่งเน้นปลุกผีโครงการแลนด์บริดจ์ที่ยังคงอยู่ในแผ่นกระดาษ ยังเป็นเพียงรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น รัฐบาลจึงน่าจะหันมาผลักดันโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลเดินหน้าโครงการไปมากแล้ว มีการเชื้อเชิญนักลงทุนทั้งไทย-เทศเข้ามาลงทุนในระดับหนึ่งแล้ว แต่ขณะนี้หลายต่อหลายโครงการต่างหยุดชะงักรอดูท่าที รอดูความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะเอายังไง
อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่รัฐและการรถไฟฯ ให้สัมปทานแก่บริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด ของกลุ่มซีพีโฮลดิ้ง และพันธมิตรไปก่อนหน้านั้น ก็เห็นๆ ได้ชัดเจนว่า กว่า 4 ปีที่ผ่านมานั้น โครงการยังไม่มีความคืบหน้า ยังไม่มีการเปิดหวูดก่อสร้างโครงการ โดยต่างฝ่ายต่างก็อ้างปัญหา โดยเอกชนอ้างว่า รัฐคือการรถไฟฯ ยังส่งมอบที่ดินไม่ครบตามสัญญา ที่ดินที่ส่งมอบมายังคงมีปัญหา ไม่ใช่ที่ดินปลอดภาระ ยังไม่มีการยกเลิกลำรางสาธารณะ เป็นต้น ขณะที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐก็อ้างว่า ดำเนินการครบถ้วนตามสัญญาแล้ว แต่เอกชนยังเล่นแง่ และตั้งแท่นจะไล่เบี้ยปัญหาระหว่างกัน
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ความสำคัญของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมควรต้องเร่งเคลียร์หน้าเสื่อให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพราะหากโครงการไฮสปีดเทรนไม่เกิดขึ้น โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินตะวันออก จะต้องล้มครืนลงไปด้วย เนื่องจากขาดโครงข่ายคมนาคมพื้นฐานเชื่อมโยง และหากสองโครงการดังกล่าวไม่เกิดขึ้น โครงการลงทุนอื่น ๆ ในเขตอีอีซีนับหมื่นนับแสนล้านที่จะมีตามมาก็ต้องล้มครืนลงไปด้วย จึงเป็นเรื่องที่นายกฯ ควรจะต้องลงมาให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาโดยเร็ว
“ไม่ใช่ปล่อยให้สำนักงานอีอีซี และการรถไฟฯ แก้ไขปัญหากันไปเองตามลำพัง ในขณะที่รัฐบาลเองมัวไปปัดฝุ่นแลนด์บริดจ์ จะดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทยกับโครงการเหล่านี้ แต่ในส่วนของนักลงทุนที่ได้ลงทุนไปแล้วในเขตอีอีซี รัฐกลับไม่เหลียวแลอะไร จนก่อนหน้านี้มีข่าวว่า กลุ่ม Ferrovie dello stato Yellow italiane ผู้ให้บริการเดินรถไฟความเร็วสูงจากอิตาลี ที่เป็นพันธมิตรของกลุ่มซีพีในโครงการนี้ได้ถอนตัวไปแล้ว เพราะความไม่แน่ชัดของนโยบายรัฐบาล ยิ่งหากเป็นอย่างนี้ด้วยแล้วจะไปกู่ก้องเพรียกหานักลงทุนเข้ามาได้อย่างไร หากแม้นโครงการที่ได้ลงทุนไปแล้วกลับกลับตั้งท่าจะลอยแพ แต่กลับจะไปปลุกผีเอาโครงการที่เป็นเพียงแค่กระดาษมาขายฝันแทน”