“สุริยะ” เมินดีเอสไอสั่งสอบรถไฟฟ้าสายสีส้ม จ่อเดินหน้ากระเตงเผือกร้อนผลประมูลอื้อฉาวเข้า ครม. เดินหน้าเซ็นสัญญา ขณะ สคร. ชิ่งหนีเผือกร้อน แม้เห็นโทนโท่ว่า ITD ที่เข้าประมูลโครงการขาดคุณสมบัติแต่อ้างเป็นเรื่องของหน่วยงานเจ้าของโครงการและกรรมการฯคัดเลือกชี้ขาดไปแล้ว จึงไม่มีสิทธิ์ล้วงลูก โยนกลองให้คณะ กก.พีพีพี ชุดใหญ่ชี้ขาดเอง!
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปีแล้วนั้นว่า ขณะนี้การพิจารณาผลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ทั้งยังมีข้อพิพาทเกี่ยวกับผลการคัดเลือกเอกชนที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง โดยทราบว่า ปัจจุบันเหลือข้อพิพาทอีก 1 คดี ดังนั้นกระทรวงคมนาคม จึงมองว่าโครงการนี้ต้องรอให้การพิจารณาของศาลปกครองแล้วเสร็จจึงจะดำเนินการต่อได้
ส่วนประเด็นที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สั่งให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการสอบสวนโครงการนี้เพิ่มเติมนั้น นายสุริยะกล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคมจะไม่มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบคู่ขนาน เพราะมองว่า ควรให้เป็นอำนาจของกระบวนการยุติธรรมในการพิจารณา
ขณะเดียวกัน มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 29 ม.ค. สคร. ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายเพื่อพิจารณาประเด็นที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ร้องเรียนเกี่ยวกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในประเด็นคุณสมบัติของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่น่าจะขาดคุณสมบัติในการเข้าประมูลโครงการนี้
*สคร. ชิ่งหนี โยน กก.พีพีพีชุดใหญ่ ชี้ขาด!
ทั้งนี้ ความเห็นฝ่ายเลขานุการฯ ได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าด้วย พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 กำหนดให้กระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมทุนในโครงการฯ อยู่ในหน้าที่และอำนาจของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการและคณะกรรมการคัดเลือกฯ ตามมาตรา 36
อย่างไรก็ดี คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายในการประชุมครั้งที่ 4/2566 มีความเห็นว่า ประเด็นข้อร้องเรียนของ BTSC มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ในการคัดเลือกเอกชนที่จะเข้าเป็นคู่สัญญากับภาครัฐตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 โดยปัจจุบันได้ผลการคัดเลือกเอกชนโครงการฯ เป็นข้อยุติไปแล้ว นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงปรากฎว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างนำเสนอผลการคัดเลือกต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้น การใช้ดุลพินิจข้างต้นจึงมิใช่ปัญหาข้อกฎหมาย และมิใช่กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
*หลักฐานชัด ITD ขาดคุณสมบัติ!
สำหรับประเด็นที่มีการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการพีพีพีพิจารณานั้น เนื่องจากพบหลักฐานรายงานการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีการระบุถึงการพิจารณาคุณสมบัติของ ITD Group ที่อาจขัดกฎหมายและข้อกำหนดของคณะกรรมการการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ใน 2 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคาในกลุ่ม ITD Group ในประเด็นที่ นายเปรมชัย กรรณสูต กรรมการ ITD เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ซึ่งอาจขัดต่อประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของบริษัทเอกชนที่ไม่สมควรร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
กับ 2. การตรวจสอบคุณสมบัติสำหรับนิติบุคคลต่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้ต้องรวมกลุ่มกับนิติบุคคลไทยเพื่อให้เป็นกลุ่มนิติบุคคล รวมทั้งต้องแสดงมูลค่าสินทรัพย์สุทธิรายปีรวม 3 ปี โดยแสดงงบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต แต่การประมูลในโครงการนี้ กลับพบว่า เอกสารของ Incheon Transit Corporation (ITC) ผู้ร่วมยื่นข้อเสนอกับ ITD Group ยื่นเอกสารไม่ครบถ้วนหรือไม่ชัดเจนตามแบบที่กำหนด โดยเฉพาะเอกสารทางการเงิน โดยเฉพาะงบกำไรขาดทุนย้อนหลัง 3 ปี ที่ไม่ได้ยื่นประกอบการยื่นข้อเสนอ
ทั้งที่ตามข้อกำหนดในกฎหมายและเงื่อนไขประมูลโครงการเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ กำหนดเอกสารข้อเสนอ 4 ซอง ประกอบด้วย ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ซองที่ 3 ด้านการลงทุนและผลตอบแทน และซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ซึ่งเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องส่งเอกสารและผ่านการตรวจสอบตามข้อกำหนดต่างๆ จึงทำให้ ITD อาจขาดคุณสมบัติในการยื่นข้อเสนอมาตั้งแต่แรก
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ได้รายงานกรณีที่ ดีเอสไอมีหนังสือเร่งรัดให้กระทรวงคมนาคมตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มในหลายประเด็น และได้นำเสนอแนวทางการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ที่มี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กลุ่มงานโครงสร้างพื้นฐานและขนส่ง เป็นประธาน แต่เนื่องจากนายสรพงศ์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่อยู่ในข่ายต้องถูกตรวจสอบด้วย จึงทำให้นายสุริยะสั่งชะลอเรื่องออกไปก่อนที่ในที่สุดจะระงับการตั้งกรรมการตรวจสอบในที่สุด