น่าเสียดายโอกาสทองของอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมไทยในวันนี้ แทนที่จะเป็นกลไกหลักของการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยยามนี้ เฉกเช่นในอดีตเมื่อปี 2563 ที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตตกต่ำกันถ้วนหน้าจากวิกฤตไวรัสโควิด -19
…
แต่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมบ้านเรากลับสวนทิศผงาดขึ้นมาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในเวลานั้น เพราะเรามีการจัดประมูลคลื่นความถี่ 5G ใน 3 คลื่นหลัก คือ 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ที่ไม่เพียงจะนำเงินเข้ารัฐได้มากกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว
ยังก่อให้เกิดการลงทุนในโครงขายโทรคมนาคม 5G ตามมาอีกนับแสนล้าน และมีส่วนในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศตามมาอีกหลายแสนล้าน กลายเป็นปัจจัยหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ผลงานชิ้นโบแดงในครั้งนั้น คงต้องยกนิ้วให้ กสทช. ชุดก่อน รวมทั้ง นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ในเวลานั้น ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันและประสานสิบทิศจนทำให้เกิดการประมูลคลื่น 5G ได้
หันกลับมาดูสภาพขององค์กร กสทช. ในปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ความหวังและหนทางในอันที่จะหวังพึ่งการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม รวมไปถึงกิจการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ หรือดิจิทัลทีวี ให้ผงาดขึ้นมาเป็นกลไกหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนั้น "ริบหรี่” เต็มทน!
ทั้งจากสถานการณ์ของกิจการดิจิทัลทีวี ภายหลังจากเปิดเสรีออกใบอนุญาตประกอบกิจการดิจิทัลทีวีไปเป็นกุรุดกว่า 20 ช่องเมื่อปี 56 ปัจจุบันกำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของใบอนุญาตนั้น กล่าวได้ว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกช่องต่างอยู่ในสภาพ “หืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง” ยังคงยืนอยู่บนเส้นด้ายที่ต้องดินปรับตัวกันเป็นรายวัน จากการไหลบ่าเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์ และแพลตฟอร์ม platform ใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด
ไม่ต่างไปจากกิจการกระจายเสียง หรือบรรดาผู้ประกอบการสถานีวิทยุ หรือวิทยุชุมชน นับร้อยนับพันสถานีในปัจจุบันที่กล่าวได้ว่า อยู่ในสภาพหืดจับหายใจไม่ทั่วท้องถูกกระแสไหลบ่าของแพลตฟอร์มใหม่ๆ ทั้ง LINE Facebook และ YouTube ตลอดจนสื่อออนไลน์บน platform ใหม่ๆ ที่ก่อกำหนดขึ้นมา ได้เบียดให้สถานีวิทยุ กิจการวิทยุกระจายเสียงทั้งหลายแทบจะสูญพันธุ์
นัยว่า บางคลื่นบางสถานี ที่เคยเป็นขุมทรัพย์เป็นแม่เหล็กของสื่อด้านนี้ ที่ต้องจ่ายค่าเวลาค่าสถานีกันเดือนละ 3 ล้าน 5 ล้านแต่เวลานี้แค่ค่าน้ำค่าไฟเดือนละ 3-5 แสน ผู้ประกอบการหรือผู้เช่าสถานียังต้องร้องขอชีวิตกันอยู่เลย
ขณะองค์กรกำกับดูแล คือ กสทช. วันนี้ยังคงเต็มไปด้วยความขัดแย้งยังคงฟัดกันนัว ไหนจะเรื่องที่บอร์ด กสทช. ฟ้องประธาน กสทช. , รักษาการเลขาธิการ กสทช. ฟ้อง 4 กสทช. ต่อศาลอาญาใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบกลั่นแกล้งทำให้ไม่ได้รับการพิจารณาเสนอชื่อเป็นเลขาธิการ ไหนจะเรื่องที่ นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. ยื่นฟ้อง ประธาน กสทช. เป็นจำเลยในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
แม้ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมบอร์ด กสทช. จะมีมติเสียงข้างมาก จะ “หักดิบ” ไม่เห็นชอบรายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ ตามที่ประธาน กสทช. นำเสนอ แต่กระนั้นความโกลาหลของกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ ก็ยังคงไม่มีข้อยุติ ตัวรองเลขาธิการก็ยังคงมีกรณีร้องเรียนอิรุงตุงนังตามมาอีกเป็นพรวน จนทำให้ กสทช. ไม่เป็นอันได้ทำงานหรือพิจารณาเรื่องสำคัญใด ๆ โดยเฉพาะกรณีการปรับโครงสร้างองค์กร กสทช. ให้ทันสมัย รองรับการไหลบ่าของกิจการสื่อสารโทรคมนาคมใหม่ที่กำลังมีอยู่ ที่แม้เวลาจะล่วงเลยมาร่วมปีก็ยังไม่สามารถดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็นที่ยุติได้ การประชุมบอร์ด กสทช. วันนี้แทบจะเป็นการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้าง อันเป็นงาน "รูทีน" พื้นๆ สิวๆ เท่านั้น
ความคาดหวังในอันที่จะเห็นองค์กร กสทช. เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโทรคมนาคมให้เป็นปัจจัยหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยามนี้ที่กำลังฝืดเคือง ประชาชนชักหน้าไม่ถึงหลัง หวังแต่เงินดิจิทัลจะมาเยียวยานั้นจึงเป็นได้แค่ความหวังลมๆ แล้งๆ เท่านั้น
เอวัง!!!