สมกับที่ผู้คนเขาสัพยอก “เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ก็ไม่อีก” !
…
กับจุดยืนของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ประชาชนคนกรุงคะแนนเสียงให้อย่างท่วมท้น ด้วยความคาดหวังจะได้ผู้ว่า กทม. ที่เข้าใจ เข้าถึงปัญหากลัดหนองของคนกรุงโดยแท้ ยิ่งก่อนได้รับเลือกตั้งนั้น เจ้าได้ลงพื้นที่หาเสียงทุกตรอกซอกซอยใน กทม. มาเป็นปี ๆ ด้วยแล้ว ผู้คนจึงยิ่งฝากความหวังไว้กับผู้ว่า กทม. ไว้สูงยิ่ง
ที่ไหนได้...ขวบปีผลงานผู้ว่า กทม. กลับทำให้ประชาชนคนกรุงผิดหวัง เพราะภารกิจหลักของ กทม. ที่สมควรต้องลงไปแก้ไข ทั้งปัญหาการจราจรและรถไฟฟ้าเพื่อให้การเดินทางของผู้คนนับ 10 ล้าน ได้รับความสะดวกสบาย เด็ก ๆ ไม่ต้องเติบโตใช้ชีวิตกันในรถนั้น
ล่าสุด! ผู้ว่า กทม. ก็เพิ่งประกาศ กทม. มีนโยบายจะโอนโครงข่ายรถไฟฟ้า 3 สายทาง คือ สายสีเงิน บางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ , สายสีเทา เฟสแรกช่วงวัชรพล-ทองหล่อ และสีฟ้าช่วงดินแดง-สาทร ไปให้รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ
ด้วยข้ออ้างน่าจะสามารถบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนได้มากกว่า เพราะกระทรวงคมนาคมมีรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบหลายเส้นทาง จึงสามารถบริหารจัดการ และดูแลเรื่องของระบบตั๋วร่วม ค่าแรกเข้า และการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลได้ รวมทั้งภาครัฐมีศักยภาพในการลงทุนมากกว่า กทม. ด้วย
ทำเอาประชาชนคนกรุงเหวอไปตามๆ กัน เพราะที่เคยหาเสียงเอาไว้ก่อนหน้าจะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าใน กทม. ลดราคาเหลือ 23-30 บาท ก็หายเข้ากลีบเมฆไปแล้ว ไม่มีการพูดถึงใด ๆ อีก นี่ยังจะมาชิ่งโอนภารกิจหลักของ กทม. ไปให้รัฐบาลดำเนินการเองอีก
เช่นเดียวกับปัญหากลัดหนองของคนกรุงเรื่องของฝุ่น PM2.5 ที่นัยว่า ค่าฝุ่นพิษในเขต กทม. และปริมณฑล ติดทำเนียบอันดับ 9/10 ของโลกไปแล้วนั้น ผู้ว่าฯ กทม. เราก็แก้ไขปัญหานี้อย่างได้ผลเป็นรูปธรรมไม่ทันข้ามวัน ด้วยการออกประกาศให้ข้าราชการ ลูกจ้างและหน่วยงานของ กทม. ทำงานแบบ Work from Home
พร้อมขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 151 แห่ง ในเขต กทม. ที่มีผู้ปฏิบัติงานอยู่กว่า 60,279 คน ได้ทำงานที่บ้านด้วย ส่วนประชาชนคนกรุงอีกนับสิบล้านที่ต้องเดินทางไปทำงาน ไปเรียนหนังสือหนังหาเผชิญค่าฝุ่น PM2.5 ก็คงแล้วแต่นายจ้างสถานประกอบการ เอาเป็นว่าคงปล่อยไปตาม “ยถาวาริวหา” นั่นแหล่ะ!
ช่างสมกับที่ผู้คนเขาสัพยอก “เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ก็ไม่(ทำ)” โดยแท้!!!
กทม. กับการตั้งแท่นลอยแพคนกรุง
เรื่องของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบน้ำประปา ไฟฟ้า รถเมล์ รถไฟ หรือรถไฟฟ้านั้น ที่จริงแล้วควรจะเป็นเรื่องขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา หรือกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่จะดำเนินการเอง เพราะเป็นการให้บริการประชาชนในพื้นที่
หลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นขอนแก่น ภูเก็ต หาดใหญ่ ชลบุรี หรือเชียงใหม่นั้น ทั้งผู้ว่าฯ และ อปท.ท้องถิ่น ต่างมีความพยายามที่จะดำเนินกิจการรถไฟฟ้ารางเบา หรือ Monorail อย่างเป็นรูปธรรม อย่างจังหวัดขอนแก่นนั้น มีการจัดตั้ง บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง หรือ KKTT ขึ้นมาดำเนินกิจการรถไฟฟ้ารางเบาของตนเองโดยตรง ขณะที่จังหวัดชลบุรีนั้น ผู้ว่าฯ ชลบุรี และ อบจ.ชลบุรี ก็มีแผนจะดำเนินโครงการรถไฟฟ้ารางเบาถึง 3 สายด้วยกัน
ทั้งที่เมืองเหล่านี้ยังมีความเจริญไม่ถึงครึ่งของ กทม. ด้วยซ้ำ!
ขณะที่ กทม.นั้น แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ส่งเงินเข้ารัฐสูงที่สุดของประเทศ ทั้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีรถยนต์ แม้แต่ภาษีเงินได้คน กทม. นี่แหล่ะ คือ ผู้ที่จ่ายภาษีเงินได้เข้าประเทศสูงที่สุดอาจจะมากกว่าครึ่งค่อนประเทศด้วยซ้ำ
แต่รัฐบาลได้จ่ายคืนภาษีกลับมาให้ กทม. ที่ต้องแบกรับทุกอย่างเอาไว้อย่างเหมาะสมหรือไม่ ให้การสนับสนุนกิจการท้องถิ่นในการดูแลกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และโดยเฉพาะกิจการรถไฟฟ้า รถรางและรถเมล์ มีเพียงพอหรือไม่ ทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดี
แม้แต่รถเมล์ สองแถวสักสาย ผู้ว่า กทม. ยังไม่มีอำนาจจะบริหารจัดการเอง ขณะที่รถไฟฟ้าที่เป็นหัวใจหลักของการแก้ไขปัญหาจราจรที่ กทม. มีอยู่นั้นผู้ว่า กทม. ยังตั้งแท่นจะโอนคืนไปให้รัฐดำเนินการเองเสียอีก จนทำให้อดคิดไปไม่ได้ว่าหากโอนคืนภารกิจต่างๆ ในการดูแลสาธารณูปโภค สาธารณูปการเหล่านี้ไปให้รัฐบาลดูแลแล้ว แล้วผู้ว่า กทม. จะหลงเหลือภารกิจอะไรเอาไว้ให้ทำ
ก็คงเหลือภารกิจเก็บขยะมูลฝอย กับการไล่เปิดงานเทศกาลดนตรีในสวน และเปิดงานเดิน-วิ่งในสาธารณะของ กทม.เท่านั้น ที่เป็นงานหลักของผู้ว่า กทม.
ย้อนรอยมติ ครม. โอนสายสีเขียวให้ กทม. ดูแล
กับข้ออ้างของ กทม. ที่จะโอนบรรดารถไฟฟ้ากลับไปให้รัฐบาลดูแล เพราะ กทม. มีข้อจำกัดในการลงทุน ขาดงบประมาณดำเนินการ จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะดำเนินโครงการรถไฟฟ้า หรือกิจการระบบขนส่งมวลชนทั้งรถเมล์ รถรางและรถไฟฟ้าทั้งหลายได้นั้น
ที่จริงแล้ว หาได้เป็นปัญหาและข้อจำกัดที่จะแก้ไขไม่ได้ เพราะบรรดาค่าก่อสร้างระบบงานโยธากิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเหล่านี้ ไม่ว่าจะโครงการรถไฟฟ้า รถรางหรือรถเมล์ทั้งหลายแหล่ ล้วนเป็นกิจการที่ภาครัฐสมควรต้องผู้ลงทุนอยู่แล้ว หรือให้การสนับสนุนท้องถิ่นลงทุนโดยตรง
แต่กลับเป็นเรื่องน่าแปลก ที่เหตุใดผู้ว่าฯ กทม. ไม่คิดจะไปหารือพูดคุยกับรัฐบาล ทั้งในส่วนของกระทรวงคมนาคมและนายกฯเศรษฐา (เราจะเป็นเศรษฐี) ทั้งที่มาจากพรรคเดียวกันแท้ ๆ เพราะหาก กทม. จะขอสนับสนุนการลงทุนด้านงานโยธาในโครงการรถไฟฟ้า 3 สายทาง เหมือนโครงการรถไฟฟ้าอื่นๆ จะขอลดหย่อนค่าแรกเข้า กำหนดกรอบวงเงินที่รัฐจะให้การอุดหนุนเป็นเงื่อนไขการลงทุนอย่างไรก็สามารถทำได้อยู่แล้ว
เหตุใดผู้ว่า กทม. จึงไม่ลงไปศึกษามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 26 พ.ย. 2561 ที่ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ (รฟม.) โอนโครงข่ายรถไฟฟ้า สายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 สายทาง (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) มาให้ กทม. บริหารจัดการ ซึ่งในมติ ครม. ระบุเหตุผลเอาไว้อย่างชัดเจนว่า จะทำให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกรณี รฟม. เป็นหน่วยงานบริหารจัดการ เนื่องจากปัจจุบัน กทม. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-แบริ่ง โดยมีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นผู้รับสัมปทานเดินรถอยู่แล้ว
“เจตนารมณ์ตามมติ ครม. ก็คือ เพื่อให้ กทม. สามารถบริหารจัดการการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 ช่วงได้อย่างเป็นระบบ โดยมีการกำหนดข้อตกลงต่างๆ เช่น การโอนสิทธิ์ การโอนกรรมสิทธิ์ ภาระผูกพันของหน่วยงาน บุคคลอื่นๆ ค่าแรกเข้าระบบต่างๆ (ยกเว้นเพียง 1 เรื่อง คือ อาคารจอดแล้วจร (Park and Ride) เนื่องจาก รฟม. มีการว่าจ้างเอกชนเข้ามาบริหารอาคารจอดแล้วจรล่วงหน้าไปแล้ว”
ดังนั้น สิ่งที่ผู้ว่า กทม. กำลังตั้งแท่นดำเนินการอยู่นี้ จึงเป็นการดำเนินการที่สวนทิศกับนโยบายรัฐบาลและมติคณะรัฐมนตรีอย่างชัดเจน ซึ่งเชื่อแน่ว่า หากนำเสนอแนวทางดังกล่าวขึ้นไปยังสภา กทม. ก็เชื่อแน่ว่าคงถูกถล่มในความไร้กึ๋น ไม่เข้าท่าของผู้ว่า กทม. เป็นแน่!
ตรงกันข้ามหาก กทม. จะดำเนินโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายเอง ก็สามารถขอการสนับสนุนการลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธาได้อยู่แล้ว เพราะแม้แต่โครงข่ายสายสีเขียวที่ ครม. โอนมาให้ กทม. ก่อนหน้านี้ ก็ยังมีเงื่อนไขให้กระทรวงการคลังเข้าไปจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ และยังกำหนดเงื่อนไขการรับโอน ตลอดจนการยกเว้น ค่าแรกเข้าที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายอื่น ๆ ด้วย
“เราไม่เคยเห็นผู้ว่าฯ ชัชชาติ จะยกก้นไปพูดคุยหารือนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม หรือนายกฯ เศรษฐา จะขอให้รัฐบาลช่วยเหลือหรืออุดหนุนการลงทุนโครงการรถไฟฟ้า รถเมล์หรือรถราง อุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้า หรือกำหนดเงื่อนไขอย่างไร ก็สามารถทำได้ทั้งสิ้น หรือจะตรงไปพูดคุยกับ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” โดยตรงก็สามารถทำได้ แต่เหตุใดผู้ว่า กทม. จึงไม่ทำ”
เปิด “โมเดล” สายสีทองกับการขับเคลื่อน ศก.คลองสาน
หากผู้ว่า กทม. จะลงไปศึกษาความเจริญของเขตคลองสาน กทม. ภายหลังจากกลุ่มสยามพิวรรธน์ผุดห้าง “ไอคอนสยาม” ขึ้นมาแถมยังใจถึง (พึ่งได้) ยอมควักเงินลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองจากสถานีธนบุรี-สำนักงานเขตคองสาน ระยะทาง 1.8 กม. ด้วยอีก
แค่ 4 สถานี คือ สถานีกรุงธนบุรี เจริญนคร สถานีคลองสาน และสถานีประชาธิปกนั้น ได้ทำให้ความเจริญในเขตคลองสานและย่านฝั่งธนที่เคยเป็นชุมชนเก่าแก่ของกรุงรัตนโกสินทร์เปิดโลกสู่ภายนอก กลายเป็นทำเลทองของย่านธุรกิจ CBD ยิ่งกว่าย่านใด ๆ
ซึ่งหากพิจารณาในด้านเศรษฐกิจแล้ว แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้ถือได้ว่า เป็นทำเลที่น่าลงทุนสำหรับนักลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และผู้ที่มองหาที่อยู่อาศัย เพราะรายล้อมไปด้วยสถานที่สำคัญที่กลายมาเป็น “แลนด์มาร์ค” แห่งใหม่ของฝั่งธนบุรี
นอกจากกลุ่มสยามพิวรรธน์จะผุดห้างไอคอนสยามที่ถือเป็นจุดเริ่มของการพัฒนาแลนด์มาร์คใหม่ฝั่งธนบุรีแล้ว ยังได้พัฒนาโครงการ "ไอคอนสยาม เฟส 2" คือ โครงการไอซีเอส มิกซ์ยูส ไลฟ์สไตล์ ทาวน์ ตั้งอยู่ริมถนนเจริญนครฝั่งตรงข้ามไอคอนสยามที่เชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีทอง สถานีเจริญนครด้วยอีก
จนแทบจะกล่าวได้ว่า รถไฟฟ้าสายสีทอง ได้ส่งผลต่อศักยภาพของทำเลที่รถไฟฟ้าพาดผ่าน เช่น คลองสาน หรือเจริญกรุง ทำให้เกิดที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร และแหล่งช้อปปิ้งผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด และส่งผลให้ร้านรวงเก่าแก่ย่านฝั่งธน เปิดสู่โลกภายนอกส่งผลต่อราคาที่ดินที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจล่าสุดนั้นพบว่า ที่ดินแนวถนนเจริญนครเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมมาก หากเป็นที่ดินติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาราคาพุ่งไปกว่า 400,000 - 500,000 บาทต่อตารางวาแล้ว ส่วนที่ดินไม่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาราคาไม่ต่ำกว่า 300,000 บาทต่อตารางวาแล้ว
และกล่าวได้ว่าสำนักงานเขตคลองสานเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้เพิ่มขึ้นมาน้อยแค่ไหน สำนักงานที่ดินเขตคลองสานจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีธุรกิจเฉพาะ และทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากน้อยอย่างไรนั้นทุกฝ่ายต่างมองเห็นเป็นรูปธรรม
หาก กทม. จะเดินหน้ารถไฟฟ้าอีก 3 สายทาง ไม่ว่าจะสายสีเทา สายสีเงิน และสายสีฟ้า จะก่อให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจพื้นที่ที่รถไฟฟ้าพาดผ่านให้ขยายตัวไปมากแค่ไหนนั้น แทบไม่ต้องใช้หัวคิดเลย (เอาหัวแม่เท้าคิดแทนก็ยังได้)
แล้วผู้ว่า กทม. ติดขัดข้อจำกัดตรงไหน ถึงตั้งแท่นจะโยนกลองโอนโครงข่ายรถไฟฟ้า 3 สายกลับคืนไปให้รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมรับผิดชอบเอง ด้วยข้ออ้างสุดติ่งกระดิ่งแมว กทม. มีข้อจำกัด (เพราะไร้กึ๋น) ไม่สามารถจะแบกรับภาระลงทุนได้เอง ทั้งที่สิ่งเหล่านี้หาใช่ข้อจำกัดที่ไร้ทางออก
จนถึงกับมีผู้คนพากันสัพยอกว่า นี่หากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ของ “เสี่ยหนู” และผู้มากบารมีแห่งจังหวัดบุรีรัมย์ มีโอกาสได้บริหาร กทม. แบบเดียวกันนี้ ประชาชนคนกรุงเราอาจได้เห็น กทม. เปิดมิติใหม่แห่งการลงทุนรถไฟฟ้าที่ไม่เพียงแค่รถไฟฟ้าแค่ 3 สายทางนี้เท่านั้น
แต่อาจผุดรถไฟฟ้าขึ้นมาอีกนับ 10 สาย เอาชนิดที่เรียกว่าตรอก ซอกซอย ถนนใดยังขาดรถไฟฟ้า ยังไม่มีสถานีรถไฟฟ้าไปถึง คงได้เห็นตั้งแต่ปีแรกที่เข้าบริหาร กทม. กันแล้วจริงไม่จริง!!!