กำลังเป็นประเด็นสุดร้อนเป็น Talk of the Town ที่นักลงทุนจับตากันอย่างไม่กะพริบ!
กับการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA ในวันที่ 29 ก.พ.นี้ ที่มี “วาระร้อน” ในการขอมติจากที่ประชุมปลด "ประธานกรรมการบริษัท” คือ นายวิษณุ เทพเจริญ พร้อม 2 กรรมการและผู้บริหารบริษัท
ทั้งที่ก่อนหน้าไม่ถึงขวบเดือน 2 ผู้บริหาร NUSA คือ นายวิษณุ เทพเจริญ และ นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด เพิ่งจะออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีมีคำสั่ง “ปลดฟ้าผ่า” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารณุศาศิริ (CEO) นายณัฐพสิน เชฏฐ์อุดมลาภ ก่อนตั้งตัวเองขึ้นทำหน้าที่รักษาการซีอีโอแทน
ทั้งยังแถลงด้วยว่า บริษัทได้ยกเลิกข้อตกลงและสัญญายืมตัวพนักงานและให้การสนับสนุนระหว่าง ณุศาศิริ กับบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ WEH เนื่องจากการขอเปิดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น NUSA ของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ นายประเดช กิตติศรานนท์ และบริษัท ธนาพาวเวอร์ (TNH) ผู้ถือหุ้นใหญ่ NUSA และ WEH ไม่เป็นไปตามมาตรา 100 พ.ร.บ.มหาชนฯ
ขณะที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ NUSA ก็โต้กลับด้วยการฟ้องร้องบริษัท และกรรมการบริษัทจำนวน 8 รายต่อศาลแพ่ง ขอให้ศาลระงับการขายทรัพย์สิน 6 รายการ หรือกว่า 70% ของทรัพย์สินทั้งหมดในราคาต่ำกว่า 1.1 หมื่นล้าน โดยอ้างว่า ขายต่ำกว่าราคาตลาดและไร้แผนงานรองรับ ทำให้บริษัทเสียหาย เป็นการดำเนินการที่ขัด พ.ร.บ.บริษัทมหาชน ทั้งยังรุกคืบฟ้องคดีต่อศาลอาญา เพื่อดำเนินคดีกับ 2 ผู้บริหาร NUSA ข้างต้น จากการขายทรัพย์สินบริษัทที่พบว่า ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย จนทำให้บริษัทเสียหาย
ท่ามกลางความงวยงงของนักลงทุนทั้งในและนอกตลาดว่า เกิดอะไรขึ้นกับ ณุศาศิริ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งแท่นจะสยายปีก ขยายกิจการให้นักลงทุนและผู้ถือหุ้นได้ฮือฮามาก่อนหน้านี้ หลังจากบรรลุผลสำเร็จในการเพิ่มทุน-แลกหุ้นกับ WEH ที่ถือเป็นบ่อเงินบ่อทอง (บางคนบอกยิ่งกว่าห่านทองคำ) เข้ามาเสริมศักยภาพของบริษัท ในการรุกธุรกิจพลังงาน
ยิ่งในส่วนของ “วินด์เอนเนอร์ยี่ (WEH)” ที่ถูกลากเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั้น ยิ่งทำให้นักลงทุนหูผึ่ง เพราะเส้นทางการเติบโตของ WEH นั้น กล่าวได้ว่าเต็มไปด้วยบาดแผลที่เกิดจากการช่วงชิงหุ้นใหญ่และอำนาจบริหารในบริษัท ถึงกับเป็นชนวนก่อให้เกิด “ศึกสายเลือด” ในตระกูลใหญ่ของเมืองไทยถึงขั้นประกาศตัดพ่อ-ตัดลูก ตัดพี่-ตัดน้องกันมาแล้ว
เมื่อกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ NUSA และ WEH เดินเกมเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นด้วยอีก ถนนทุกสายจึงต่างลุ้นสุดขั้วว่า บทสรุปสุดท้ายของความขัดแย้งในครั้งนี้จะลงเอยอย่างไร
*ปมปริศนาประธาน NUSA สั่งปลด CEO
แหล่งข่าวในคณะกรรมการ NUSA เปิดเผยว่า ถ้อยแถลงของนายวิษณุก่อนหน้านี้ ที่ประกาศยกเลิกข้อตกลงระหว่าง NUSA กับ WEH และคำสั่งปลด CEO ณุศาศิริ โดยอ้างว่า มติคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 8/2566 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 66 ที่อนุมัติการทำสัญญายืมตัวพนักงานและให้บริการสนับสนุนระหว่าง NUSA กับ WEH ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ให้ นายณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และอ้างว่า ภายหลังได้ตรวจสอบพบว่า การทำสัญญายืมตัวพนักงานมาทำหน้าที่ CEO ดังกล่าว ไม่มีข้อความระบุความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่เป็นการส่วนตัว ทำให้บริษัทไม่ได้มีสถานะเป็นนายจ้างของนายณัฐพศินนั้น
“เข้าใจว่า ท่านประธาน NUSA คงจะลืมไปว่าข้อตกลงข้างต้นได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติโดยคณะกรรมการ (บอร์ด) NUSA ที่ตัวเองนั่งเป็นประธานเอง โดยไม่มีข้อทักท้วงใด ๆ มาก่อน การจะมาอ้างว่า การแต่งตั้งซีอีโอไม่เป็นไปตามกระบวนการ ไม่ผ่านการสรรหา ไม่เป็นไปตามระเบียบบริษัทนั้น ก็คงต้องย้อนถามไปยังท่านประธานด้วยว่า ในการพิจารณาอนุมัติสัญญาและข้อตกลงเหล่านี้ ท่านแว้ปไปเข้าห้องน้ำอยู่หรือ ไม่ได้นั่งอยู่ในที่ประชุมหรือถึงเพิ่งจะมานึกได้ว่า CEO ไม่ผ่านกระบวนการสรรหาตามระเบียบบริษัท หรือมีการอนุมัติจัดทำข้อตกลงกันไปโดยลืมทักท้วงหรือไม่”
ยิ่งไปกว่านั้น กับเหตุผลที่ว่าการแต่งตั้ง CEO ต้องมีการกำหนดขอบข่ายความรับผิดเป็นส่วนตัว หากทำให้บริษัทเสียหายจะต้องชดใช้ด้วยนั้น ก็ต้องย้อนถามประธาน NUSA ด้วยว่า ที่ผ่านมา มีการกำหนดเงื่อนไขเหล่านี้ไว้ในสัญญาแต่งตั้ง CEO มาก่อนหรือไม่ CEO เดิมที่บริหารงานมาถึง 8 ปี แต่กลับทำให้ผู้ถือหุ้นร้องระงม ไม่เคยมีกำไร ไม่มีเงินปันผลให้ แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทกลับนำเงินไปซื้อเครื่องบินส่วนตัวกันเอิกเกริกนั้น สิ่งเหล่านี้อดีต CEO ต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ ต่อบริษัทด้วยหรือไม่
*แจ้งศาลพระภูมิยกเลิกข้อตกลงก็ได้หรือ?
ที่สำคัญมีคำถามว่า การที่ประธาน NUSA ออกมาแถลงข่าวก่อนหน้าว่า ได้ยกเลิกข้อตกลงและความร่วมมือใด ๆ ระหว่าง NUSA และ WEH แล้วพร้อมกับมีคำสั่งปลด CEO โดยตั้งตัวเองขึ้นทำหน้าที่รักษาการนั้น สิ่งเหล่านี้สามารถดำเนินการได้เองตามลำพัง เป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของประธาน NUSA ที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติจัดตั้งบริษัทอย่างนั้นหรือ ไม่ต้องขออนุมัติบอร์ด ใด ๆ เลยหรือ
นอกจากนี้ ในการเพิ่มทุนแลกหุ้นและทำสัญญาข้อตกลงทั้งหลายทั้งปวงของ NUSA และ WEH ที่ถือเป็นการได้มาซึ่งหลักทรัพย์ เป็นการทำธุรกรรมที่มีนัยสำคัญ มีผลต่อบริษัทนั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติ โดยคณะกรรมการบริหารและที่ประชุมผู้ถือหุ้น ต้องแจ้งตลาดหลักทรัพย์ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตลาด และ ก.ล.ต. ทุกกระเบียดนิ้ว
“ดังนั้น การที่จู่ ๆ ท่านประธานก็ลุกขึ้นมาแจ้งสื่อมวลชนว่า ได้ยกเลิกข้อตกลงความร่วมมือกับ WEH ก่อนมีคำสั่งปลด CEO และตั้งตัวเองแทนโดยอัตโนมัตินั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องขออนุมัติบอร์ด หรือแจ้งที่ประชุมผู้ถือหุ้นใดๆ เลยหรือ ตกลง ณุศาฯ เป็นบริษัทในครอบครัวที่หารือกันเองโดยไม่ต้องเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้น ไม่ต้องแจ้งให้บอร์ดรับทราบใดๆ ก็ได้หรือ”
*ทิ้งห่านทองคำ-โผซื้อหุ้นเน่า รร.เยอรมัน
แหล่งข่าวยังได้ย้อนรอยถึงสิ่งที่ฝ่ายบริหาร NUSA ดำเนินการไปล่าสุดในการลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวยึดอำนาจบริหารทั้งหมดนั้น ก็เพราะแต่เดิมบริหารกิจการแบบกงสีภายในครอบครัว ขาดการตรวจสอบ ทำให้แม้ผลประกอบการณุศาฯ ตลอดระยะเวลา 8-9 ปีที่ผ่านมา จะประสบกับการขาดทุน ก็ไม่มีการตรวจสอบหรือแสดงความรับผิดชอบใดๆ
แต่เมื่อมีผู้ถือหุ้นใหญ่เข้ามา (กลุ่มนายประเดช กิตติสลานนท์) โดยมีการดึงตัว CEO ใหม่จากบริษัท วินด์เอนเนอร์ยี่ (WEH) เข้ามาด้วย เพื่อปลุกปั้น NUSA จากธุรกิจที่ยืนตายซาก ขาดความเคลื่อนไหวมานานให้ผงาดขึ้นมาเป็น “หุ้นทองคำ” หลังจากรุกคืบเข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน “วินด์เอนเนอร์ยี่” นั้น แม้สิ่งเหล่านี้จะช่วยพลิกฟื้นธุรกิจของ NUSA ให้มีความเคลื่อนไหวขึ้นมาและมีแนวโน้มจะกลายเป็นบ่อเงิน บ่อทองตามมา แต่การดำเนินการบริหารจะต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่ที่ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส
สิ่งเหล่านี้ต่างหากคืออุปสรรคที่ทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมและผู้บริหาร NUSA เดิมอึดอัดรับไม่ได้จนออกมาเคลื่อนไหวยกเลิกความร่วมมือทั้งหลายทั้งปวงแล้ว และเตรียมจะขายหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่ฯ ที่เป็นหุ้นทองคำออกไป จนทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวก่อนนำเรื่องเข้าไปร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้
“จะไม่เป็นหุ้นทองคำได้ไง เพราะเดิมแม้บริษัทถือหุ้นอยู่เพียง 7% ยังได้รับเงินปันผลเข้าบริษัทมากกว่า 300 ล้านบาท จึงนำมาซึ่งการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง NUSA และ WEH เพื่อกรุยทางให้ WEH เข้าตลาดทางอ้อมผ่านบริษัทแม่ณุศาศิริ ซึ่งถือเป็นธุรกรรมที่ทำให้ Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย เพราะวินด์เอง ก็เข้าตลาดได้ ขณะ NUSA ก็สามารถสยายปีก ขยายกิจการ เปลี่ยนผ่านธุรกิจจากอสังหาริมทรัพย์ไปยังพลังงานได้”
กับเรื่องที่ NUSA อ้างกับสื่อ และตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงดีลการซื้อโรงแรมพานาซี แกรนด์ Panacee Grand Roemerbad ในเยอรมนี โดยอ้างว่า เป็นดีลที่ทำไว้ก่อนผู้ถือหุ้นใหม่ (กลุ่มนายประเดช) จะเข้ามา และได้ขออนุมัติบอร์ดไว้นานแล้วในราคา 20 ล้านยูโร หรือ 740 ล้านบาทนั้น
แหล่งข่าวในกลุ่มผู้ถือหุ้น NUSA เผยว่า หากเป็นดีลที่มีข้อตกลงไว้ก่อนการดึงหุ้นใหญ่ WEH เข้ามาก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหาร NUSA ต้องแจ้งให้ผู้ถือหุ้นใหม่ได้รับทราบถึงธุรกรรมซ่อนเร้นเหล่านี้อยู่ดี แต่จากการตรวจสอบดีลการเข้าซื้อหุ้นในโรงแรมดังกล่าว พบว่า ไม่ได้เป็นการถือหุ้นปกติ แต่เป็นการซื้อหุ้นผ่านบริษัทนอมินีที่ถือหุ้นโรงแรมดังกล่าวอีกชั้น จนไม่อาจจะแยกแยะได้ว่า เป็นการลงทุนในหุ้นโรงแรมที่ให้บริการด้านสุขภาพ หรือไซฟ่อนเงินกันหรือไม่?...
“ที่สำคัญที่ผู้บริหาร NUSA ต้องตอบผู้ถือหุ้นด้วย ก็คือ ขณะที่ตนเองประกาศจะขายหุ้น WEH ออกไป โดยอ้างว่า ได้ยกเลิกข้อตกลงความร่วมมือทั้งมวลไปแล้ว แต่กลับตั้งท่าจะไปซื้อหุ้นโรงแรมในเยอรมนีมาแทนนั้น ดีลเหล่านี้ได้ขออนุมัติบอร์ดและผู้ถือหุ้นหรือไม่ ดีลซื้อหุ้นในกิจการโรงแรมที่ว่านั้น หากเกิดความเสียหายขึ้นมาฝ่ายบริหาร NUSA จะรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นอย่างไร???”
เป็นการขายทิ้ง “หุ้นทองคำ” เพื่อจะไปกอดหุ้นเน่าโรงแรมในเยอรมันที่ไม่รู้จะสร้างผลตอบแทนให้แก่บริษัทได้จริงหรือไม่?
นั่นจึงเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้บริษัท ธนาพาวเวอร์ โฮลดิ้ง (TNH) ผู้ถือหุ้นใหญ่ NUSA ตัดสินใจขอเปิดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติที่ประชุมปรับเปลี่ยนกรรมการบอร์ด NUSA ยกกระบิในวันที่ 29 ก.พ. 2567 นี้ เพื่อรักษาหุ้น(ห่าน)ทองคำเพื่อให้บริษัทเดินหน้าต่อไปได้