หอการค้าไทยนำคณะผู้บริหารลงพื้นที่เยี่ยมเยือนหอการค้าจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมพญาตานี ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี รับฟังข้อเสนอผู้ประกอบการภาคการค้า การลงทุน และท่องเที่ยวในพื้นที่ ก่อนนำเสนอหน่วยงานเกี่ยวข้องให้การสนับสนุน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส รับทราบเสียงสะท้อนส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดนใต้ ว่ามีความกังวลต่ออัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ต้นทุนภาคการผลิต การค้า และการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น จึงอยากเสนอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางช่วยเหลือทั้งมาตรการทางการคลัง (มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ๆ) และมาตรการทางการเงิน (ดูแลอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดภาระของผู้ประกอบการและประชาชน) ขณะเดียวกันยังมีข้อเสนอผ่านไปยังรัฐบาลให้มีการต่ออายุและขยายเวลามาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และอีก 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ออกไปอีก 5 - 10 ปี เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการสนับสนุนด้านการค้า การลงทุน และการจ้างงานที่สำคัญในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงจูงใจให้ผู้ประกอบการรายใหม่ เข้ามาลงทุนในพื้นที่
นอกจากนี้ ภาคเอกชน จ.ปัตตานี ยังเสนอให้มีการผลักดันโครงการศึกษาความเป็นไปได้การจัดทำเส้นทางรถไฟสายใหม่ในจังหวัดปัตตานี ให้เชื่อมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยศึกษา 3 เส้นทางสำคัญมีความเป็นไปได้ ได้แก่ เส้นทางที่ 1 สถานีโคกโพธิ์ – สถานีเมืองปัตตานี – เขตอุตสาหกรรม จ.ปัตตานี (ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร) เส้นทางที่ 2 สถานีเมืองปัตตานี ไปยัง สถานีเมืองยะลา (ระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร) เส้นทางที่ 3 สถานีเมืองปัตตานี ไปยัง สถานีตากใบ จ.นราธิวาส (ระยะทางประมาณ 125 กิโลเมตร) เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคม การขนส่ง การกระจายสินค้า การค้า การลงทุน ไปยังพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อกับโครงข่ายเดิมกับชุมชนต่าง ๆ เขตเศรษฐกิจ เขตอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ในระดับจังหวัด ภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ได้หยิบยกประเด็นปัญหาตั๋วเครื่องบินราคาแพง ที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่สามจังหวัด รวมไปถึงการลดจำนวนเที่ยวบินเข้า-ออก ของสายการบินในท่าอากาศยานนราธิวาส ที่ถือเป็นประตูเชื่อมการเดินทาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับประเทศเพื่อนบ้าน จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการเดินทางมายัง 3 จังหวัดชายแดน ส่วนนี้หากรัฐบาลสามารถพิจารณาเพิ่มเที่ยวบินและหารือสายการบินถึงการกำหนดราคาตั๋วเครื่องบินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จะเป็นประโยชน์ต่อภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนสอดคล้องกับแนวทางพัฒนาให้ 3 จังหวัดเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวของนายกรัฐมนตรีที่ได้ประกาศไว้ ในระหว่างเดินทางลงตรวจราชการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นพื้นที่ศักยภาพสำคัญของประเทศ ทั้งในแง่การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน วันนี้เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว โดยใช้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลความมั่นคง ซึ่งภาคเอกชนเห็นว่ามีความสำคัญและพร้อมสนับสนุนการทำงานอย่างใกล้ชิด เพราะหากพื้นที่มีเศรษฐกิจดี เกิดความมั่งคั่ง จะนำไปสู่ความสันติสุขในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป” นายสนั่น กล่าวทิ้งท้าย