จนถึงวันนี้ที่ผ่านมากว่า 6 เดือนเข้าไปแล้ว ประชาชนคนไทยยังคงต้อง “หาวเรอ” รอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาล“เศรษฐา ทวีสิน”ประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งหาเสียง จะแจกเงินคนละ 10,000 บาทผ่านกระเป๋าตัง “ดิจิทัล วอลเล็ต” ในทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล
……
แต่ผ่านมาจนวันนี้ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีเดย์เมื่อใด ยังไม่รู้จะต้องรอกันข้ามปี หรือข้ามภพข้ามชาติแบบค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในอดีตกันหรือไม่ หลังเส้นทางการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 500,000 ล้าน เพื่อดำเนินนโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” ทำท่าจะถูก “ปิดประตูลั่นดาน” ไปแล้วเวลานี้
เพราะหลังจากกระทรวงการคลังหารือแนวทางไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา คำตอบที่ได้รับกลับเป็นเพียง “คู่มือ” ทำคลอดกฎหมายกู้เงินที่ต้องมีองค์ประกอบและเงื่อนไขอย่างไร ต้องเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจถึงขั้นไหนจึงจะเข้าเงื่อนไขเท่านั้น ไม่ได้มีคำแนะนำใด ๆ ให้
แถมยังสำทับด้วยรายงานข้อเสนอแนะในการป้องการการทุจริตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีต่อนโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่ว่านี้ ที่เห็นว่าการตรา พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน เพื่อดำเนินนโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” ได้ไม่คุ้มเสีย สุ่มเสี่ยงเต็มไปด้วยช่องว่างที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ และยังมองไม่เห็นเศรษฐกิจวิกฤตถึงขั้นที่ต้องออก พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ในเวลานี้
เป็นการส่งสัญญาณ “หักดิบ” ประเภทหากรัฐจะ “ดั้นเมฆ” ดำเนินการต่อไป ก็ต้องพร้อมขึ้นเขียงรับผิดชอบในความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ที่เรียกได้ว่าแทบจะ “ปิดประตูลั่นดาน” หนทางออก พ.ร.บ.เงินกู้ ที่ว่านี้กันเลยทีเดียว!
หันไปอ้อนวอนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หัวหอกในการคัดค้านนโยบายแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ เพื่อสะท้อนความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และประชาชน ที่กำลังหืดจับหายใจไม่ทั่วท้องกันถ้วนหน้า จากปัจจัยหลายๆ ประการ โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายของรัฐที่ล่าช้าไปจาก “ไทม์ไลน์” ปกติถึง 7-8 เดือน
แถมในช่วงที่ผ่านมา ยังเผชิญกับแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายการเงินและดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปถึง 8 ครั้ง ในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี ดันอัตราดอกเบี้ยนโยบายทะยานจาก 0.5% เมื่อกลางปี 2564 ขึ้นมาเป็น 2.5% ในปัจจุบัน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินพาเหรดปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ตามมาเป็นพรวน ฉุดรั้งการลงทุนและเศรษฐกิจไปโดยปริยาย
แม้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะร่วมออกโรง เรียกร้องให้ ธปท. ได้พิจารณาทบทวนนโยบายการตรึงดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นอยู่ หลังตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมของปี 66 ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่กำลังดำดิ่งจน “กู่ไม่กลับ” แต่ ธปท. ก็ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะดำเนินนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลอยู่ดี
เห็นจุดยืนอันแข็งกร้าวของ ธปท. แล้ว ก็ให้นึกย้อนไปถึง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ “กสทช.” ก่อนหน้านี้ที่ไปไฟเขียว “ดีลควบรวม” ธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงหรือทัดทานจากใครหน้าไหน
แม้แต่คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่ กสทช. ตั้งมาเองกับมือ หรือความเห็นของอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ที่กอปรด้วยผู้ทรงวุฒิด้านกฎหมายระดับบรมครูของประเทศ ที่ต่างเห็นว่า ดีลควบรวมธุรกิจดังกล่าวจะส่งผลต่อจำนวนผู้ให้บริการสื่อสารในตลาดลดลง จนส่งผลต่อสภาพการแข่งขันในตลาด มีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้บริโภคผู้ใช้บริการถูก “มัดมือชก” โขกค่าบริการเอาได้ทุกเมื่อ
แต่ก็เจอลูกเล่นสุดพิสดารของ กสทช. ที่ “อุ้มสม” ดีลควบรวมกิจการสื่อสารครั้งประวัติศาสตร์นี้แบบ “ไม่สนโลก” อ้างว่าตนเองไม่มีอำนาจที่จะอนุมัติ-หรือไม่อนุมัติ ทำได้แค่ “รับทราบ” และรับเบอร์แสตมป์ดีลควบรวมดังกล่าวหรือไม่ และนำมาตรการเฉพาะเพื่อบรรเทาผลกระทบมาบังคับใช้ก่อนและหลังการควบรวมเท่านั้น
ขวบปีของดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์ที่ว่ายังประโยชน์ให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ทำให้ตลาดสื่อสารแข่งขันกันอย่างสูสี ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับบริการและคุณภาพบริการที่ดีขึ้นหรือ
ปกติหากยังความสำเร็จได้ตามเป้าหมายจริง ป่านนี้ กสทช. คงตั้งโต๊ะเรียงหน้าแถลงผลงานชิ้นโบแดงที่ว่านั้นไปแล้ว
ตรงกันข้าม วันนี้ผลพวงจากดีลควบรวมดังกล่าวสะท้อนออกมาให้เห็นจากรายงานและถ้อยแถลงของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติ (สศช.) ด้านสังคม ล่าสุด ที่ดำเนินการสำรวจผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมกิจการโทรคมนาคมจากข้อร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งพบว่า ภายหลังการควบรวมกิจการค่าบริการรายเดือนของโทรศัพท์มือถือปรับตัวเพิ่มขึ้น และบางโปรโมชันยังถูกลดนาทีค่าโทรลง เช่น แพ็กเกจราคา 349 บาท ปรับราคาขึ้นเป็น 399 บาท ทั้งยังมีการลดปริมาณและความเร็วอินเทอร์เน็ตลง , แพ็กเกจราคา 499 และ 599 บาท ถูกลดนาทีค่าโทรลงจาก 300 นาที เหลือ 250 นาที อีกทั้งผู้บริโภคยังเริ่มประสบปัญหาด้านคุณภาพสัญญาณมากขึ้น
นอกจากนี้ จากผลสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายมือถือทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังพบด้วยว่า กลุ่มตัวอย่าง 81% พบปัญหาการใช้งานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยเครือข่ายของบริษัทที่มีการควบรวมพบมากที่สุด คือ ปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า รองลงมาเป็นปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตหลุดบ่อย เป็นต้น โดย 91% ของผู้ได้รับผลกระทบเคยร้องเรียนไปยัง Call center ของเครือข่ายที่ใช้บริการแล้วแต่ก็ยังพบปัญหาอยู่เช่นเดิม
แม้สำนักงาน กสทช. จะมีการกำหนดเงื่อนไขในการควบรวม เช่น การลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยลง 12% เพื่อควบคุมราคาค่าบริการแต่จากสถานการณ์ข้างต้น เห็นได้ชัดว่า มาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้เท่าที่ควร เหตุนี้ สศช. จึงมีข้อเสนอแนะมายัง กสทช. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการด้านโทรคมนาคม จึงควรมีการทบทวน/เพิ่มเติมแนวทางการกำกับดูแลที่ชัดเจนและเข้มข้นมากขึ้น อาทิ การกำหนดเพดาน/ควบคุมราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ยให้เหมาะสม ตลอดจนมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่อย่างจริงจัง
เป็นรายการ “ตบหน้า” หน่วยงานกำกับดูแลกิจการสื่อสารโทรคมนาคม ที่ไม่ต่างจากกรณีที่ สศช. จัดทำรายงานเสนอแนะธปท.ให้พิจารณาทบทวนแนวนโยบายการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนหน้า ก่อนจะนำมาซึ่งการที่รัฐบาลต้องลุยไฟนโยบายเพิ่มไลเซ่นส์แบงก์ ในลักษณะที่เป็น Virtual Bank ในที่สุด
แต่กรณีตลาดสื่อสารโทรคมนาคม และ กสทช.นั้น ประชาชนคนไทยผู้บริโภคคงไม่ได้คาดหวังให้ กสทช. ได้ “ไถ่บาป” ทบทวนและเพิ่มใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแก่ผู้ให้บริการมือถือรายใหม่ แบบที่กระทรวงการคลังและรัฐบาลดำเนินการไปในกรณีของการเพิ่ม “ไลเซ่นส์” แบงก์พาณิชย์ ด้วยการเพิ่มใบอนุญาตธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank ขึ้น
ขอแค่ให้ กสทช. และสำนักงานฯ ดำเนินการ Enforce มาตรการกำกับดูแลดีลควบรวมกิจการที่ตนเองทำคลอดออกมาก่อนหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังก็พอ เพราะที่ขอแค่นี้ ก็ไม่รู้จะต้องหาวเรอรอไป พ.ศ.ไหนกันแล้ว !!!