ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอต เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์
หลัง "เดอะ เซลส์แมน – นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน" ป่าวประกาศความสำเร็จในการนำคณะเดินทางไปเยือนยุโรป ฝรั่งเศส-เยอรมัน โดยเฉพาะได้มีโอกาสหารือกับนาย Stefano Domenicali ผู้บริหารบริษัท Formula One Group หรือ F1 เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการดึงการแข่งขันรถสูตร 1 Formula 1 มาจัดแข่งในประเทศไทย
โดยผู้บริหาร Formula 1 ได้หยอดคำหวานกับ "เดอะเซลส์แมน” นายกฯ เศรษฐา (พวกเราจะเป็นเศรษฐี) ว่า ประเทศไทยเหมาะสำหรับการขยายการแข่งขัน Formula 1 ซึ่งทางทีมผู้บริหารจะรีบเดินทางมาสำรวจสถานที่ที่เหมาะสมต่อไป
ทำเอา "เดอะเซลส์แมน" หัวใจพองโต ตีปี๊บผลงานความสำเร็จในการชักชวนผู้บริหารรายการแข่งขันรถสูตรหนึ่ง ให้เข้ามาจัดการแข่งในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ (จากที่เพื่อนบ้านสิงคโปร์จัดในบ้านเขามานับสิบปี ) นัยว่า รัฐบาลได้เมียงมองสถานที่จัด Formula1 เอาไว้เป็นเบื้องต้นบ้างแล้ว อาจจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่
หากจะถามว่า เหตุใดการแข่งขันรถสูตร 1 Formula 1 จึงมีความสำคัญจนถึงกับที่นายกฯ ลงทุนเชิญชวนผู้จัดการแข่งขันให้เข้ามาจัดในเมืองไทยให้ได้สักแมตช์นั้น ก็คงต้องย้อนไปดูข้อมูลของเพื่อนบ้าน อย่างสิงคโปร์ที่ดึงรายการนี้มาจัดในสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2008 หรือเมื่อ 14-15 ปีก่อนจนกระทั่งวันนี้
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MTI) ของสิงคโปร์เปิดเผยว่า F1 ได้นำผลประโยชน์มากมาย มาสู่สิงคโปร์นับตั้งแต่จัดแข่งครั้งแรกเมื่อปี 2008 โดยสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวยังสิงคโปร์ได้มากกว่า 550,000 ราย สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 53,000 ล้านบาท) นอกจากนี้ ยังมีผู้ชมผ่านการถ่ายทอดสดทั่วโลกมากกว่า 1 พันล้านคน
แต่หากจะจัดรายการแข่งขันดังกล่าวขึ้นที่เชียงใหม่ ก็คงต้องย้อนถามไปยังรัฐบาลว่า ได้ถามชาวเชียงใหม่เขาหรือยังว่า อยากให้จัดการแข่งขันรถสูตร 1 กลางเมืองเชียงใหม่หรือไม่ หากเป็น "เสี่ยหนู - อนุทอน..เอ้ย! นายอนุทิน" หรือผู้มากบารมีแห่งบุรีรัมย์ก็ว่าไปอย่าง ขานั้นพร้อมอ้าแขนรับการแข่งขันรถสูตร 1 แบบนี้อยู่แล้ว เพราะมีสนามแข่ง "ช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต" ที่จัดการแข่งขัน MotoGP เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
แต่การจะยกระดับ "สนามช้าง" ขึ้นเป็นสนามแข่งรถสูตร 1 Formula1 นั้น คงต้องว่ากันอีกยาว เพราะหัวใจหลักของ Formula1 นั้นไม่ใช่แค่เรื่องของสนามแข่ง เรื่องของสถานที่ที่ต้องเป็นสนามตามมาตรฐาน FIA เกรด 1 ที่สามารถใช้จัดแข่งกีฬาความเร็ว 4 ล้อได้ทุกรายการ ต้องใช้งบประมาณลงทุนที่สูงถึง 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8,900 ล้านบาท) เพื่อให้สามารถรองรับการแข่งขันรถสูตรหนึ่งที่มีความเร็วพอๆ กับจรวด (ความเร็วเกิน 300 กม.ต่อชม.ขึ้นไป)
ทั้งยังต้องมี Facilities โรงแรม ที่พักศูนย์ประชุม ศูนย์การค้า สถานที่ท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่ต้องพร้อมมูล ทั้งของทีมงานนักแข่ง และนักท่องเที่ยวที่สามารถจะรองรับผู้คนเรือนแสนได้ในคราวเดียวกัน ซึ่งว่ากันตามเกณฑ์นี้ก็ต้องยอมรับว่า สนามช้างอินเตอร์ฯ นั้น ยังห่างไกลยังมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงอีกพะเรอเกวียน
แม้จะเป็นสนามที่เคยผ่านสังเวียน MotoGP ที่ได้มาตรฐาน FIM Grade A และ FIA Grade 1 สามารถแข่งรถทั้งสองล้อและสี่ล้อได้ทุกรายการบนโลกนี้ แต่ต้องยอมรับด้วยว่า ยังไงเสียบุรีรัมย์นั้นก็ยังเป็นแค่ "เมืองรอง" ที่มีโรงแรมระดับ 4-5 ดาวไม่มากนัก แค่เจอการแข่งขัน MotoGP แต่ละปี ยังต้องไปอาศัยโรงแรมในจังหวัดใกล้เคียง ขณะที่ท่าอากาศยานบุรีรัมย์นั้นก็เป็นเพียงสนามบินในประเทศ ไม่ใช่สนามบินอินเตอร์ ทำให้การขนส่งและการเดินทางไม่สะดวกสบายเท่าที่ควร
ไหนจะเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดึงรายการแข่งดังกล่าวมาจัดในไทย เบื้องตันก็คือ ค่าลิขสิทธิ์ที่หากจัดแข่งเพียงปีเดียวก็สูงถึง 31.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 พันล้านบาท) แต่หากต้องการเซ็นสัญญาระยะยาว ค่าลิขสิทธิ์ในปีต่อ ๆ ไปจะเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวหน้า โดยหากเซ็นสัญญาจัดแข่งรถสูตรหนึ่งเป็นเวลา 10 ปี จะมีค่าลิขสิทธิ์สูงถึง 396.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 13,000 ล้านบาท) เลยทีเดียว
เมื่อรวมค่าลิขสิทธิ์กับงบประมาณในการปรับปรุงสนามที่ต้องทำทุกปีแล้ว หากประเทศใดต้องการจัดแข่ง F1 แบบ “สตรีท เซอร์กิต” 10 ปี จะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 971.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 32,000 ล้านบาท) เลยทีเดียว
หลายฝ่ายจึงได้แต่ส่ายหัวจะไหวหรือนายกฯ นิด เดี๋ยวก็ถูกนักร้องร้องแรกแหกกระเชอสัพยอกเอาอีกหรอก เพราะรายการในลักษณะนี้เราทำไม่เป็น แค่จะช่วงชิงเอานักร้องอินเตอร์อย่าง “เทเลอร์ สวิฟต์” มาเปิดคอนเสิร์ตอย่างเพื่อนบ้านสิงคโปร์ แบบที่รัฐบาลสิงคโปร์ทำเรายังทำไม่ได้เลย
ที่จริง! ในแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ที่รัฐบาลให้สัมปทานแก่บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ซึ่งประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA , บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) นั้น มีแผนก่อสร้างสนามแข่งรถระดับเวิลด์คลาส Formula1 บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเมืองการบินตะวันออกอยู่แล้ว
แถมตอบโจทย์ในสิ่งที่ทุกฝ่ายกังวลได้ครบวงจร ทั้งในส่วนของทีมงาน เครื่องไม้เครื่องมือรองรับการแข่งขันที่จะนำเข้ามา ที่ไม่ต้องนำออกไปนอกเขตอีอีซี ไม่ต้องเสีบเวลา Declare เรื่องของภาษี ส่วนในเรื่องของ Facilities รองรับทั้งเรื่องของโรงแรม สถานที่พัก ศูนย์ประชุม หรือศูนย์การค้าที่จะรองรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่จะเข้ามาดูการแข่งขัน ทั้งชลบุรี พัทยา ระยอง รวมถึง ฉะเชิงเทราเมืองรองนั้น รองรับได้อยู่แล้ว มีระบบคมนาคมและโครงข่ายรองรับได้อย่างพร้อมมูล
ที่สำคัญทุกสนามแข่ง Formula1 ท่านนายกฯ รู้ไหม สปอนเซอร์หลักที่ให้การสนับสนุนทีมนักแข่งระดับโลกที่ขึ้นแท่นเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่สุดของโลก ก็คือ “เรดบูลล์ เรซซิ่ง” นั่นแหล่ะคุ้นๆ ไหมว่าใครคือเจ้าของ ผมมะกล้าออกชื่อเพราะกลัว “บิ๊กบอส” เขาจริงๆ ครับ!!!
สำคัญแต่ว่ารัฐบาลและท่านนายกฯ เศรษฐา จะทำอย่างไร จึงจะทำให้ “โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก” มูลค่ากว่า 290,000 ล้านบาท “เปิดหวูด” เดินหน้าโครงการได้เสียที ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเดินหน้าโครงการต่อไปได้ รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมก็ต้องไล่เบี้ยทำให้โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) “เปิดหวูด” เดินหน้าโครงการก่อสร้างไปให้ได้ก่อน
เพราะหากปราศจากซึ่งโครงการ “ไฮสปีดเทรนฯ เชื่อม 3 สนามบิน” แล้ว โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก (ซึ่งมีแผนก่อสร้างสนามแข่งรถระดับเวิลด์คลาสรวมอยู่ด้วย) ก็ต้องถูก “ปิดประตูลั่นดาน” ลงไปด้วยโดยอัตโนมัติ
แค่นั้นจริงๆ... ย้ำแค่นั้นจริงๆ ครับ