ขณะที่บรรยากาศการเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย (ส.อ.ท.) กำลังเข้มข้น จากการขับเคี่ยวของ 2 คู่ชิงดำระหว่าง นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. คนปัจจุบัน กับ นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธาน ส.อ.ท. และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ซึ่งสมาชิกจะมีการลงมติในวันที่ 25 มี.ค.นี้
ถ้าจะพิจารณาประวัติของการมีประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2530 (ก่อนหน้า ตั้งแต่ปี 2510-2530 เป็นสมาคมอุตสาหกรรมไทย) มีท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ท่านอานันท์ ปันยารชุน เท่านั้น ที่เป็นประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพียงแค่ 1 ปีเศษ เนื่องจากท่านเสียสละลาออกไปรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อทำงานให้กับประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหลังท่านอดีตนายกฯ อานันท์ ทุกท่านทั้ง 7 ท่าน ก็อยู่ในตำแหน่งอย่างน้อย 2 สมัยทุกท่าน
ทั้งนี้ โดยทั่วไป น่าจะมี 2 เหตุผลหลักๆ ดังนี้..
1. เพื่อให้เกิดการต่อเนื่องในการทำงาน เพราะว่า 2 ปี เป็นเวลาที่สั้นเกินไปในการดำเนินนโยบายที่สำคัญๆ ให้แล้วเสร็จ แต่อาจจะมีการเลือกตั้งเพื่อปรับปรุงกรรมการสภาอุตสาหกรรมฯ บ้าง ในการเลือกต้้งกรรมการสภาอุตสาหกรรมฯ เปรียบเสมือนการปรับ ครม. ของรัฐบาล เมื่อครบ 2 ปี ก็เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นจากการทำงาน 2 ปีที่ผ่านมา
2. พยายามลดความขัดแย้งภายในองค์กร เพราะว่าในอดีตทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งจะเกิดความขัดแย้งค่อนข้างหนักทุกครั้ง และสภาอุตสาหกรรมฯ ต้องสูญเสียคนเก่ง คนดี ไปครั้งละมากๆ ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง โดยส่วนใหญ่คนที่เคยเป็นทีมเดียวกันในขณะนั้นๆ เมื่อมีเลือกตั้งใหม่ก็แตกแยกกันเป็นแบบนี้มาเกือบๆ จะ 30 ปีแล้ว ทำให้สูญเสียบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถไปแล้วมากมาย
กรณีท่านประธานสุพันธุ์ มงคลสุธี และท่านประธานเจน นำชัยศิริ ที่เป็นกันคนละ 1 สมัยนั้นเป็นกรณีพิเศษ เพราะว่าในขณะนั้น ท่านประธานพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ได้เป็นประธานมา 2 วาระครบแล้ว จึงมีการแข่งขันเลือกตั้ง เพื่อเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ท่านใหม่...
โดยจะมีผู้สมัคร 3 คน คือ คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี คุณเจน นำชัยศิริ และ คุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา และเนื่องจากกลุ่มผู้สนับสนุนคุณสุพันธุ์และคุณเจนทับซ้อนกันค่อนข้างมาก ถ้าแข่งขันกัน 3 คนจะทำให้เสียงจะแตก คุณสุพันธุ์และคุณเจน จะพ่ายแพ้ต่อคุณวิศิษฐ์ จึงเกิดการจับมือกันระหว่างทีมคุณสุพันธุ์และคุณเจน เพื่อรวมเสียงกันแล้ว พร้อมตกลงกันนั่งเก้าอี้ประธาน ส.อ.ท. คนละสมัย ซึ่งก็คือ 2 สมัยสำหรับ 1 กลุ่ม กลุ่มทีมเดียวกัน เมื่อจบคนละ 1 สมัยแล้ว ก็มาคุยกันใหม่
ส่วนเบื้องลึกเบื้องหลังว่า ทำไมท่านประธานสุพันธุ์ ได้นั่งเก้าอี้ประธาน ส.อ.ท. ก่อนประธานเจนนั้น เป็นหนังเรื่องยาว แต่ถือว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเรื่องที่ดีต่อสภาอุตสาหกรรมฯ มีการเจรจากันหลายรอบ เพื่อไม่ให้สภาอุตสาหกรรมฯ แตกแยกเช่นในอดีต และรีบคุยกันก่อนจะเริ่มมีการหาเสียง ซึ่งจะเริ่มสร้างความแตกแยกเช่นเหตุการณ์เลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ที่จะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2567 นี้!
จนกระทั่งเมื่อหมดสมัยท่านประธานเจน ท่านประธานสุพันธุ์ ก็กลับมาเป็นต่อ แล้วก็ทำหน้าที่ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ต่ออีก 2 สมัย โดยการสนับสนุนของสมาชิก
ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเป็นประธาน 2 สมัยต่อเนื่องกันมา
ทั้งนี้ เบื้องหลังที่ทำให้ท่านประธานเจน ยอมถอยให้ไม่เป็นต่อสมัยที่ 2 นั้น แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งก็เพราะสมาชิกฝั่งสนับสนุนคุณสุพันธุ์มากกว่า “แต่ที่สำคัญ คือ ต้องยกนิ้วให้ spirits ของคุณเจน ที่ไม่ต้องการเห็นภาพการแข่งขันที่จะสร้างความแตกแยกให้กับสภาอุตสาหกรรมฯ อีก”
นอกจากนี้ จะเห็นได้ถึง spirits สูงสุดที่ท่านประธานเจน ได้เสนอชื่อคุณสุพันธุ์ เป็นประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ในการประชุมกรรมการสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อเลือกประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ในปี 2561
ถ้าประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ทุกๆ ท่านในอดีต ได้เป็นประธาน 2 สมัยทุกคน จึงมีคำถามว่า.. “ทำไมนายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ คนปัจจุบัน จะเป็นประธานฯ สมัยที่ 2 ไม่ได้”
ที่ผ่านมา ประธานเกรียงไกร มีผลงานไม่ด้อยไปกว่าอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมฯ แต่ละท่านอย่างไร? ในทางกลับกัน เห็นได้ว่า ประธานเกรียงไกร มีวิสัยทัศน์ที่แหลมคม ทำให้วิสัยทัศน์ในหลายๆ เรื่อง ถูกนำไปประกอบในนโยบายของรัฐบาล มีผลงานที่โดดเด่นหลายเรื่องที่สามารถสัมผัสได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่สภาอุตสาหกรรมฯ ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากรัฐบาล ได้รับการยอมรับถึงความเป็นกลางทางการเมือง มีความเป็นมืออาชีพ เพราะว่าองค์กรไม่อิงการเมืองใดๆ จึงสามารถยืนตัวตรงได้ มีจุดยืนและหลักการที่ชัดเจน เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ มีศักดิ์ศรีสูง สามารถต่อรองกับนโยบายต่างๆ ของฝ่ายการเมือง เพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมไทยและประเทศไทยได้อย่างแท้จริง เช่น การเจรจาเรื่องค่าไฟฟ้ามาตลอดเวลา 2 ปี ที่ต้องขัดแย้งกับฝ่ายการเมืองในบางครั้ง เพื่ออุตสาหกรรมไทยสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจและภาคประชาชนกว่า 88,800 ล้านบาท แต่ฝ่ายการเมืองก็เข้าใจบทบาทและจุดยืนของสภาอุตสาหกรรมฯ รวมถึงการได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน Innovation One 1,000 ล้านบาท เพื่อมาสนับสนุนการเติบโตอย่างมีนวตกรรมของอุตสาหกรรมไทย เพื่อความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน ซึ่งในวงเงินจำนวน 1,000 ล้านบาท ด้วยหลักเกณฑ์การอนุมัติที่เป็นธรรมเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวมมากเป็น credit ของสภาอุตสาหกรรมฯ ในสายตาภาครัฐมาก เป็นต้น
ทั้งนี้ เรื่องผลงานของประธานเกรียงไกร ยังมีอีกมากมาย ดังนั้น จึงเป็นการยืนยันว่า ธรรมเนียมปฏิบัติ 2 สมัยของประธานสภาอุตสาหกรรมฯ “มีการปฏิบัติจริง” และด้วยผลงานของประธานเกรียงไกร ที่โดดเด่นมาตลอด
ดังนั้น ทำไมเราไม่สนับสนุนการทำงานของประธานเกรียงไกรต่ออีก 1 สมัย ทำไมต้องให้เกิดการแข่งขันแบบที่สร้างความแตกแยกทำลายองค์กร เช่นปัจจุบัน
กรณีจะมีการเสนอแนะอะไรเพิ่มเติมในสมัยที่ 2 เชื่อแน่ว่า ประธานเกรียงไกร ใจกว้างมากพอที่จะรับฟังและนำไปเป็นนโยบาย พร้อมทั้งนำไปปฏิบัติอย่างโปร่งใส โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของสภาอุตสาหกรรมฯ และประเทศไทยเป็นที่ตั้ง
ทั้งนี้ ในอดีตเวลาต่อตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ สมัยที่ 2 ก็จะมีกรรมการและสมาชิกมีข้อเรียกร้อง รวมถึงให้คำแนะนำในการทำงานในสมัยที่ 2 เป็นประจำ ทำให้ธรรมเนียมปฏิบัตินั้นมีอยู่จริง!
ถึงวินาทีนี้... เราไม่อยากเห็นความแตกแยกในสภาอุตสาหกรรมฯ อีกแล้ว มันเป็นแบบนี้มา 30 ปีแล้ว ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มันสงบไปแล้ว “สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ก้าวข้ามความขัดแย้งมาแล้วกว่า 10 ปี และทำงานเป็นทีมที่เข้มแข็งมาแล้ว 2 ปี และจะเดินหน้าทำต่อไปอีก 2 ปี” แต่จู่ๆ ก็มีเรื่องขัดแย้งกันเกิดขึ้นอีก... เรื่องนี้ควรจะพอและหยุดความขัดแย้งได้แล้ว...
ดังนั้น สมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ จะต้องลุกขึ้นมา save FTI ไม่ให้ตกอยู่ในกระบวนการสร้างความแตกแยกให้กับองค์กรแบบที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้!