กมธ.ไอซีที วุฒิสภา ตรวจการบ้าน กสทช. ปมตั้งเลขาธิการไม่ตรงปก 4 ปี ไม่คืบ ชงสำนักนายกฯ - ป.ป.ช. เช็คบิล ชี้เข้าข่ายทำให้รัฐและองค์กรเสียหายไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามรธน. ด้านประธาน กสทช. ยังโต้กลับทำเกินหน้าที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณารายงานผลการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่งคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคมที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธาน กมธ. ได้พิจารณาเสร็จแล้ว
โดยหลังจากประธานคณะกรรมาธิการฯ กรรมาธิการฯ และคณะอนุกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการปฏิบัติงานของ กสทช. เกี่ยวกับการตีความบทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่ตรงกันกรณีการคัดเลือกและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ที่มี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เป็นประธาน ได้ชี้แจงรายละเอียดรายงานผลการพิจารณาศึกษาฯ พร้อมเปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายกันอย่างกว้างขวางร่วม 2 ชั่วโมงแล้ว ที่ประชุมวุฒิสภามีมติให้ส่งรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.ฯ พร้อมข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ และ สว. ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
ตั้งเลขาธิการ กสทช. 3 ปี ไม่จบ-ไม่ตรงปก
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการปฏิบัติงานของ กสทช. กล่าวว่า ผลการศึกษา พบว่าต้นเหตุที่ทำให้กระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ล่าช้ามากว่า 3 ปีนั้น มาจากการตีความข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน โดยความเห็นของประธาน กสทช. มองว่า การสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. เป็นอำนาจของประธานกสทช. ขณะ กสทช. เสียงส่วนใหญ่ มีความเห็นต่าง และมองว่า กสทช. เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กร ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการในอดีต
ทั้งนี้ ตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.นั้น ถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.ภายใน 90 วัน เห็นได้ชัดว่า กฎหมายให้ความสำคัญกับตำแหน่งดังกล่าวมาก ความล่าช้าของกระบวนการตั้งเลขา กสทช. ที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปี ถือเป็นการทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. เสียหาย เพราะเป็นองค์กรดูแลคลื่นความถี่ได้ผลประโยชน์จากคลื่นความถี่จึงกระทบต่อการทำงาน ส่วนจะถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าคิด
แนะปรับปรุงหลักเกณฑ์ กระบวนการสรรหา
นอกจากความขัดแย้ง ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันในเรื่องของกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. แล้ว ยังมีเหตุการณ์แทรกซ้อน กรณีถ่ายทอดฟุตบอลโลก ที่มีการกล่าวหา นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ที่บอร์ด กสทช. เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า มีการดำเนินการมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามระเบียบหลักเกณฑ์ และประกาศ กสทช. จึงมีมติให้เปลี่ยนแปลงรักษาการเลขาธิการฯ และให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวน แต่ประธาน กสทช. กลับไม่ยอมลงนาม จึงทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบอร์ด กสทช. ขึ้นมาอีก เหตุการณ์บานปลายจนสร้างความเสียหายให้ กสทช. จึงจะเสนอรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ดังกล่าว ได้มีข้อเสนอให้ทบทวนหลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหาดังกล่าว ตั้งแต่ก่อนเริ่มกระบวนการคัดเลือก และภายหลังกระบวนการคัดเลือก รวมถึงจัดส่งรายงานฯไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อพิจารณาว่าการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ตามประกาศประธาน กสทช. ลงวันที่ 17 มี.ค.2566 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่
ประธาน กสทช. โต้แหลก วุฒิฯ ก้าวล่วงองค์กรอิสระ
ด้าน ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ได้แถลงยืนยันว่า กระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ไม่ได้ล่าช้า ขั้นตอนทุกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และมีกระบวนการตรวจสอบอยู่แล้ว การที่คณะกรรมาธิการฯ ออกมาระบุว่า การสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ล่าช้า ส่งผลเสียต่อองค์กรนั้น เป็นการกระทําเกินอํานาจหรือไม่ เป็นการก้าวล่วงหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ หรือไม่
ที่สำคัญ กรณีดังกล่าวยังอยู่ในชั้นศาลจากการที่มีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาฟ้องร้อง กสทช. ต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่ง หรือประกาศหรือคำวินิจฉัยผลการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ โดยอ้างเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ และใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ และขอให้ กสทช. ออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการในคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และให้ดำเนินการคัดเลือกหรือสรรหา เลขาธิการ กสทช. ใหม่ให้ชอบด้วยกฎหมาย ยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนของศาล
“ดังนั้น การพิจารณาเรื่องการสรรหาเลขาธิการ กสทช. น่าจะต้องหยุดลงตรงนี้และน่าจะมีความเกรงใจศาล ผู้ที่ดํารงตำแหน่งขนาดนี้แล้ว ควรจะรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด และควรต้องรอให้ศาลมีคําวินิจฉัยออกมาก่อน เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนกระบวนการของศาล หากเข้าไปชี้แจงอะไรในที่ประชุมอาจทำให้รูปคดีผิดเพี้ยนไป จึงมีการกล่าวโทษอะไรผมเยอะแยะ กลายเป็นประธาน กสทช. ตีความกฎหมายไม่ถูกใจคณะกรรมาธิการฯ แล้วจะให้ไปถูกใจท่านได้อย่างไร ในเมื่อเราเป็นองค์กรอิสระ แบบนี้เป็นการก้าวก่ายการทํางานขององค์กรอิสระ”