ฉับพลันที่ “น้าแอ๊ด คาราบาว” หรือ “ยืนยง โอภากุล” ประกาศกลางเวทีคอนเสิร์ต “ล้อมวงลา คาราบาว” ค่ำคืนวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ที่ BCC Hall เซ็นทรัล ลาดพร้าว ท่ามกลางแฟนคลับกว่า 5,000 คน ที่เข้าร่วมเป็นสักขีพยานเวทีคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของตำนานสตริงคอมโบ้ของไทยที่โลดแล่นอยู่ในวงการมากกว่า 40 ปี
โดยเจ้าตัวประกาศกลางเวทีคอนเสิร์ต จะไม่ยุบวงคาราบาวตามที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ว่า ครั้งนี้จะเป็นคอนเสิร์ตครั้งสุดท้าย แต่จะขอพักวงสักเดือน แล้วจะกลับมาใหม่ พร้อมกับระบายเบื้องหลังความอัดอั้นตันใจที่ทำให้คาราบาวต้องตัดสินใจยอม “เสียสัตย์” กับแฟนคลับที่จะไม่ยุบวงดังที่เคยประกาศไว้
“จริงๆ แล้วผมตั้งใจหยุดวงจริงๆ หลังจากวันที่ 4 เมษายนไปแล้ว ก็จะไม่มีคาราบาวแล้ว แต่มันมีเรื่องที่ทำให้ผมแค้น และทนไม่ได้กับธุรกิจของประเทศไทย ที่แม่งผูกขาดกันมานานแล้ว ผมไปเล่นที่ไหนก็บอกว่า ขอเอาเบียร์คาราบาวไปขายได้ไหม ปรากฏว่า มีเบียร์ยี่ห้อหนึ่งไม่ยอม บอกว่า ถ้าเอาเบียร์คาราบาวไปขายจะถอนออกไป มีอำนาจ มีการผูกขาดมานานแล้ว ผมขายเบียร์ไม่ได้
“เพราะเขารู้ว่า เบียร์ของเราอร่อย ดี และเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย คนได้กินเบียร์ดีๆ จากเยอรมันที่เป็นต้นตำรับเบียร์โลก ผมฮึดสู้ ผมจะหยุดแค่เมษายนเดือนเดียว เดี๋ยวกูจะกลับมาใหม่ มาสู้กับมึง ...จะรบกับมึง คอยดูก็แล้วกัน ไม่ได้ดราม่า จริงๆ ตั้งใจเลิกจริงๆ รบกับแม่งเลย”
ความอดกลั้นของ “น้าแอ๊ด คาราบาว” จากการที่ถูกปิดกั้นตลาดเบียร์ “คาราบาว-ตะวันแดง” 2 แบรนด์น้องใหม่ของกลุ่มคาราบาว ที่เปิดตัวไปล่าสุดเมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา โดยลงทุนก่อสร้างโรงงานไปกว่า 8,000 ล้านบาท นำเข้าเครื่องจักรในการผลิต วัตถุดิบ พร้อมดึง “บริว มาสเตอร์” นักปรุงเบียร์จากเยอรมันมาปรุงเบียร์สูตรและรสชาติสไตล์เยอรมันขนานแท้ ผลิตภายใต้ German Purity Law
ก่อนจะเปิดตัวเบียร์ 5 รสชาติใหม่จากกลุ่มคาราบาว ที่เตรียมลุยไฟตลาดเหล้าเบียร์ 2.6 แสนล้าน แต่กลับเจอ “ปราการเหล็ก” จากเจ้าตลาดที่ผูกขาดตลาดเหล้าเบียร์เมืองไทยมานับศตวรรษ สกัดกั้นเส้นทางการเข้าสู่ตลาดของ “คาราบาว-ตะวันแดง” จนทำให้เจ้าตัวถึงกับ “เหลืออด” ต้องออกมา “ดับเครื่องชน” ในครั้งนี้
ไม่ต้องบอกทุกฝ่ายต่างรู้สาแก่ใจว่าคือ “กลุ่มใด” เพราะเมืองไทยก็มีอยู่แค่ 2 เจ้าใหญ่ “ไม่ช้าง-ก็สิงห์” เท่านั้น!!!
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่ “น้าแอ๊ด คาราบาว” สะท้อนออกมาข้างต้นก็ก่อให้เกิดคำถามไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขัน ปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ที่มีต่อกรณีนี้ในทันที
ก็ไหนว่า ประเทศไทยมีกฎหมายแข่งขันทางการค้า พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 องค์กรกำกับดูแลที่คุยนักคุยหนาว่าเป็น “โมเดลต้นแบบ”ที่หลายประเทศพยายามเดินตาม
แล้ว “เจ้าสัวเหล้า-เบียร์” ยังคงสามารถ “บล็อกตลาด” ปิดทางคู่แข่งใหม่ไม่ให้มีช่องทางเข้าสู่ตลาดได้อย่างไร?
เราได้ยิน ได้ฟังท่านเลขาธิการ กขค. ผศ.ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล ที่ออกเดินสายไปให้ความรู้ถึงบทบาท กขค. ที่มีต่อคุณูปการของระบบเศรษฐกิจ ปกป้องผลประโยชน์ผู้บริโภค ผลประโยชน์สาธารณะไม่ให้ผู้ประกอบการรายใดใช้อำนาจเหนือตลาดผูกขาดและเอาเปรียบผู้บริโภคได้
หลายปีก่อนกับกรณีการควบรวมกิจการของธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งยักษ์ในเครือซีพี. ที่สังคมคลางแคลงใจกันมานักต่อนัก เพราะทำให้กลุ่มซีพีที่มีอำนาจเหนือตลาดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากที่มีกิจการค้าปลีก ค้าส่ง ทั้งแม็คโคร และ 7-11 ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดเกิน 50-70% เมื่อมาผนวกเอาโลตัสเข้ามาอีกจึงทำให้กลุ่มทุนรายนี้แทบจะผูกขาดตลาดค้าปลีก ค้าส่งครบวงจรไปเลยนั้น
แต่ท่านเลขาธิการ กขค. ก็ให้เหตุผล ไม่มีเหตุที่ กขค. จะไม่อนุมัติดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์ที่ว่านั้น เพราะ “การมีอำนาจเหนือตลาด” กับ “การผูกขาดทางการค้า” แตกต่างกัน และเป็นคนละกรณีกัน และไม่อาจจะนำไปเปรียบเทียบกับในต่างประเทศได้ เพราะกฎหมายแข่งขันทางการค้าของไทยนั้น “ไม่เหมือนกัน”
ตราบใดที่ผู้ประกอบการไม่มีพฤติกรรมกีดกันทางการค้า หรือกระทำผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้า กขค. ไม่สามารถจะห้ามได้
แล้วเสียงสะท้อนของ “น้าแอ๊ด คาราบาว” ที่มีต่อตลาดเหล้าเบียร์ในเวลานี้จากการถูกเจ้าตลาดเจ้าใหญ่ ใช้อำนาจเหนือตลาดผูกขาดตลาดเบียร์ สกัดกั้นไม่เปิดให้หน้าใหม่เข้าสู่ตลาดได้ กำหนดเงื่อนไขให้คู่ค้าหรือเอเย่นต์ของตนห้ามนำเอาสินค้าของคู่แข่งเข้ามาวางในร้าน หรือร้านค้าใดคิดจะเอาสินค้าของคู่แข่งหน้าใหม่ไปวางจำหน่ายจะถูกตัดสิทธิ์ขายสินค้าของตนนั้น
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพฤติกรรมการกีดกันทางการค้า ใช้อำนาจเหนือตลาดปิดกั้นหรือสกัดกั้นคู่แข่งเพียงพอหรือยัง? จะต้องให้ชัดเจนขนาดไหนจึงจะถือว่า เข้าข่ายอำนาจเหนือตลาด ปิดกั้น ดำเนินการขัดกฎหมายแข่งขันทางการค้า?
เพราะหากทุกฝ่ายย้อนไปดู บทบัญญัติมาตรา 50 ของ พรบ.แข่งขันทางการค้าปี 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมปี 2560 นั้น กำหนด “ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาดกระทําการในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้....”
(1) กําหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือขายสินค้าหรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม
(2) กําหนดเงื่อนไขในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นคู่ค้าของตนต้องจํากัด การบริการ การผลิต การซื้อ หรือการจําหน่ายสินค้า หรือต้องจํากัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้า การได้รับหรือให้บริการ หรือในการจัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น
(3) ระงับ ลด หรือจํากัดการบริการ การผลิต การซื้อ การจําหน่าย การส่งมอบ การนําเข้ามา ในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ทําลายหรือทําให้เสียหายซึ่งสินค้า ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณให้ต่ำกว่า ความต้องการของตลาด
(4) แทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
ท่าน “นายกฯ เศรษฐา” ลองสอบถาม “พี่อ้วน - ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงพาณิชย์ และโดยเฉพาะท่านเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ดูหน่อยไหม?
เรื่องอัปยศแบบนี้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร มันสะท้อนให้เห็นอะไร เจ้าตลาดเหล้าเบียร์ของเมืองไทยที่กำลังเดินเกมปิดกั้นรายใหม่ไม่ให้เข้าสู่ตลาด สวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่เพิ่งป่าวประกาศ เปิดเสรีเหล้าชุมชน เปิดเสรีเหล้าเบียร์ไปก่อนหน้านั้น
มันสะท้อนให้เห็นอะไร ไม่เห็นหัว กบข หรือว่า มีก็เหมือน (หมูในอวย) ไม่มี”