ตามคาดหมาย “นายกฯ เศรษฐา” นำทีมแถลงไทม์ไลน์เงื่อนไขแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน “ดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท” โยกงบประมาณปี 67 เกลี่ยงบฯ ปี 68 พร้อมดึงเงิน ธกส.เติมจนครบ 500,000 ล้าน ดีเดย์ลงทะเบียนร้านค้าไตรมาส 3 เดินหน้าแจกไตรมาส 4 ปีนี้ ด้านผู้ว่าการแบงก์ชาติฉากหลบไม่เข้าร่วมประชุมเช่นเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง พร้อมด้วย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ร่วมแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน "ดิจิทัลวอลเล็ต" โดยนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชน ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุดฝ่าฟันข้อจำกัด ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน เพื่อส่งมอบนโยบายพลิกชีวิตประชาชนได้
ที่สำคัญเป็นไปตามตัวบทกฎหมายทุกประการ อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนร้านค้าจะได้ลงทะเบียนได้ในไตรมาส 3/2567 และเงินส่งตรงถึงประชาชนในไตรมาส 4/2567
ย้ำกระตุ้นเศรษฐกิจ-ไม่ใช่ละลายแม่น้ำ
นายเศรษฐา กล่าวย้ำว่า นโยบายนี้ เป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงกระจายทุกพื้นที่ ให้หมุนเวียนในระบบถึงฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐบาลได้ผลตอบแทนทางภาษี เป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เตรียมพร้อมประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ เพิ่มความโปร่งใสการชำระเงิน
“นโยบายนี้มีวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจ มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ ลดภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ พึ่งพาตนเองได้ สร้างโอกาสประกอบอาชีพของประชาชน ก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล อันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ทั้งนี้ความคุ้มค่าจะให้สิทธิ์แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคนผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 5 แสนล้านบาท กำหนดใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด เป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย 1.2-1.6% จากกรณีฐานครั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของโครงการ”
เงินถึงมือประชาชนปลายปีนี้
นายเศรษฐา ยังกล่าวว่า รัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยกระบวนการต่าง ๆ เป็นไปตามกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชนโดยรวม รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
“การแถลงครั้งนี้ก็ชัดเจน ในแง่ของหลักการและจุดประสงค์ว่าเราต้องการทำเพื่ออะไร แหล่งที่มาที่ไปของเงินคอนดิชั่นที่จะได้รับเงิน และคณะกรรมการที่จะมาดูแลเรื่องความโปร่งใสเป็นวันที่รัฐบาลมีความดีใจที่ประชาชนจะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเงินดิจิทัลที่จะถึงมือในปลายปีนี้“
ส่วนที่ว่า นโยบายที่ออกมาวันนี้ ผิดไปจากที่คาดไว้แต่แรกหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นเรื่องของเงื่อนเวลาที่ผิดไปจากที่คาดการณ์ไว้แต่ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า เราต้องฟังเสียงประชาชนทุกคนที่ให้คำแนะนำ และให้ข้อเสนอแนะ และพยายามที่จะตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ มา ต้องมีการดูอย่างดี อย่างละเอียด เพื่อให้เป็นโครงการที่โปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต ผลประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์ตกอยู่กับประชาชน
ผู้ว่าฯ ธปท. ติดงานไม่ร่วมประชุมตามเคย
ส่วนกรณีที่ผู้ว่าฯ ธปท. ไม่มาร่วมประชุมคณะกรรมการในวันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่ได้ติดใจตรงนี้ ท่านบอกว่าติดภารกิจ เราก็รับทราบ และมีการส่งมอบตัวแทนมา ถือว่าทุกอย่างถูกต้องชอบธรรม ทั้งนี้ยืนยันว่าโครงการนี้ไม่ได้ไปลดทอนหรือบั่นทอนขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
แจงที่มาของเงิน 5 แสนล้าน
ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โปร่งใสตรวจสอบได้ โดยวงเงิน 5 แสนล้านบาท จะมาจาก 3 ส่วนผ่านการบริหารจัดการผ่านงบประมาณทั้งหมด โดยใช้งบฯปี 67 และ 68 และเงินตามมาตรา 28 ของกรอบวินัยการเงินจาก ธกส. โดยแหล่งเงินมาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ได้กล่าวถึงเงื่อนไขในการดำเนินโครงการนี้ว่า สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการฯ คณะกรรมการฯ ได้กำหนด ดังนี้
1. กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ ได้แก่ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษีและมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
2. เงื่อนไขการใช้จ่าย
2.1 ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
2.2 ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า
การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
3. ประเภทสินค้า สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม
4. คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
5. การจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาล จะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย
6. แหล่งเงิน จะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง ได้แก่ เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท และการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับกฎหมายต่าง ๆ เช่น มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ) ซึ่งกำหนดว่ารัฐต้องดำเนินนโยบายการคลังตามหลักการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และหลักความเป็นธรรมในสังคม และต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งกำหนดว่าการดำเนินการใด ๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย
7. ช่วงเวลาการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
8. การป้องกันการทุจริตของโครงการฯ เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต คณะกรรมการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง