กนง. ไม่สนโลก คงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง เมินคำขอร้องนายกฯ - รัฐบาล แม้กรรมการ 2 ใน 5 จะเห็นด้วยให้ปรับลดดอกเบี้ยลง แต่สู้แรงเสียดทานกรรมการเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้ แม้เห็นแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนี้ครัวเรือนท่วม
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า คณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปีต่อไป แม้กรรมการ กนง. 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี
ทั้งนี้ ในที่ประชุม กนง. ได้พิจารณาปัจจัยเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว รวมทั้งมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่ภาคการส่งออกยังมีแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทานและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567
นอกจากนี้ คณะกรรมการมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (debt deleveraging) ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเปราะบางของเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมถึงพิจารณาว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ จึงสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ในการดำเนินมาตรการเฉพาะจุดผ่านสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)
“กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงเห็นว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ แต่ยังต้องติดตามความไม่แน่นอนของปัจจัยที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น”
ฟางเส้นสุดท้าย คลัง VS ผู้ว่าฯ ธปท.
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นถึงผลประชุม กนง. ล่าสุด ว่า สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกับนโยบายรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด แม้ กนง. จะประจักษ์ว่า รัฐบาลจะออกมาร้องขอให้มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาตั้งแต่ต้นปี แต่การที่ กนง. ยังคงสงวนท่าที ไม่ตอบรับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการคลังข้างต้น เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า กนง. คำถึงถึงแต่เสถียรภาพทางการเงิน และกรอบเงินเฟ้อในมุมของตนเป็นหลักเท่านั้น โดยไม่สนความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ หากจะมองว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย อาจเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อจากการปรับขึ้นค่าแรง หรือมาตรการต่างๆ ของรัฐที่เริ่มทยอยออกมา ก็ยังเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากเพราะตัวเลขหนี้ครัวเรือน และเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นกระจุกอยู่แค่บางภาคเท่านั้น หากจะมองว่าการคงดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลที่จะเดินหน้าแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลวอลเล็ต แต่กว่าที่มาตรการดังกล่าวจะมีผล ก็คาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 4 ปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้าไปแล้ว “จุดยืนของแบงก์ชาติ และ ธปท. ที่ออกมาดังกล่าวหากเป็นรัฐบาลในอดีตหรือขุนคลังในอดีต เชื่อแน่ว่า คงจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ รมว.คลัง คงใช้อำนาจปลดผู้ว่ากหารแบงก์ชาติไปแล้ว แต่สำหรับนายกฯ เศรษฐา นั้น คงไม่กล้าทำ”
ย้อนรอย 4 ผู้ว่าฯ ธปท. ถูกปลดกลางอากาศ
หากจะย้อนรอยอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่เคยถูก รมว.คลัง หรือรัฐบาล มีคำสั่งปลดพ้นตำแหน่งจากความไม่ลงรอยและความขัดแย้งในการดำเนินนโยบายที่ไม่ลงรอยกันนั้น มีอยู่ด้วยกันจำนวน 4 คนด้วยกัน ประกอบด้วย
1. นายโชติ คุณะเกษม ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ถูกปลดโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี แม้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางนโยบาย แต่เป็นข้อหาพัวพันกับกรณีจ้างฝรั่งพิมพ์ธนบัตร
2. นายนุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ คนที่ 10 ถูกปลดในสมัย นายสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีคลัง สาเหตุมาจากความขัดแย้งเรื่องนโยบาย เช่น นโยบายคุ้มเข้มสินเชื่อและการเสนอตั้งสถาบันประกันเงินฝาก
3. นายกำจร สถิรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนที่ 11 ถูกปลดในสมัย นายประมวล สภาวสุ เป็นรัฐมนตรีคลัง สาเหตุของการปลดครั้งนั้นมาจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ยและการประกาศปรับลดค่าเงินบาท
และ 4. ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนที่ 16 ถูกปลดในสมัย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีคลัง สาเหตุมาจากความขัดแย้งเชิงนโยบาย ตั้งแต่เรื่องค่าเงินบาท เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และเรื่องดอกเบี้ย