นอกจากราคายางในมือเกษตรกรชาวสวนยางทั้งในพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออก จะมีราคาพุ่งพรวด กิโลละ 80-90 บาท สูงสุดในรอบ 7 ปี ทำให้รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ยิ้มแก้มปริไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากม็อบสวนยางที่เคยเป็นปัญหากัดหนองของรัฐบาลมาเกือบทุกยุคทุกสมัยแล้ว
ราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าก็ดูจะเป็นอีกปัจจัยที่รัฐบาสชุดปัจจุบันแทบจะตัวเบา สามารถบริหารจัดการจนทำให้ปัญหาราคาพลังงาน และค่าไฟ ที่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลคลี่คลายลงไปในทางที่ดี
เพราะในท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนระอุเป็นปรอทแตกในห้วงขวบเดือนที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ ซึ่งในหลายพื้นที่อุณหภูมิสูงกว่า 42-43 องศาเซลเซียส ขณะที่ค่าดัชนีความร้อนในบางพื้นที่นั้นทะลุ 50 องศาไปแล้ว จนกรมอุตุนิยมวิทยาต้องออกโรงเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือทำงานตากแดดเป็นเวลานาน
หากเป็นปีก่อนๆ เชื่อแน่ว่า ประชาชนผู้ใช้ไฟต่างร้องแรกแหกกระเชอถึงค่าไฟฟ้าที่พุ่งกระฉูด หรือไม่ก็ต้อง “ช็อคตาตั้ง” กับบิลค่าไฟในช่วงหน้าร้อน เพราะเป็นช่วงที่ประชาชนต้องเปิดเครื่องปรับอากาศดับร้อนตามสภาวะอากาศ ยิ่งสภาวะอากาศร้อนระอุแดดอุณหภูมิทะลุปรอทแตกเช่นนี้ด้วยแล้ว
แต่มาปีนี้กลับแปลกออกไป กระแสที่ออกมาสะท้อนถึงความเดือดร้อนของผู้ใช้ไฟจากที่ต้องเปิดแอร์ สู้อากาศร้อน หรือเครื่องทำความเย็นที่ต้องสู้กับอากาศที่ร้อนระอุแดดเช่นนี้ ซึ่งมาเร็ว และทอดยาวมากกว่าปีก่อนๆ กลับเงียบสนิท จนอดคิดไม่ได้ว่านี่เราเข้าสู่หน้าร้อนกันหรือยัง ซึ่งเมื่อดูไปแล้ว ก็พบว่าหน้าร้อนปีนี้ทั้งมาเร็วกว่าเดิม ทั้งยอดยาวมากกว่าเดิมแถม ยังมีเรื่องของฝุ่น PM2.5 ผสมโรงด้วยอีก ทำให้อากาศร้อนระอุที่ร้อนอยู่แล้วทะลุปรอทแตกก็ว่าได้
แต่กระนั้นเสียงสะท้อนของผู้ใช้ไฟโดยรวมในปีนี้กลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด หรือแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ จะว่าประชาชนชาชินกับบิลค่าไฟแพงก็ไม่น่าจะใช่ แต่น่าจะต้องยกความดี ความชอบให้กับกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการในเรื่องของราคาพลังงาน รวมทั้งการสร้างสมดุลให้กับการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้า กำหนดโครงสร้างของอัตราค่าไฟฟ้าที่ไม่สร้างภาระให้กับประชาชน จนทำให้ประเด็นในเรื่องของค่าไฟฟ้าที่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่คลี่คลายลงไป
สรุปให้ง่ายก็คือ ไม่ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า หน้าร้อนปีนี้เหมือนถูกปล้น ทั้งที่จะว่าไปแล้วปริมาณการใช้ไฟในช่วงหน้าร้อนปีนี้น่าจะมีช่วงพีคกว่าปีที่แล้ว หรือปีก่อนๆ เสียอีก แต่การที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานตัดสินใจตรึงอัตราค่าเอฟที ตรึงอัตราค่าไฟไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ทอดยาวมาตั้งแต่ต้นปีไปยันกลางปี และหันไปบริหารต้นทุน กระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา เริ่มทำให้เห็นแล้วว่าแรงกดดันในเรื่องของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าฐาน และค่าเอฟที(FT) นั้นลดลงไปมาก
ยิ่งเมื่อรัฐบาลและกระทรวงพลังงานลุกขึ้นมาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP2022 และหันมาให้ความสำคัญกับแผนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตั้งแต่ปีก่อน โดยมีการกำหนดเป้าหมายให้มีการกระจายการผลิตไฟฟ้าจาก ที่เคยพึ่งพาแต่น้ำมันและก๊าซไปสู่พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น กำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไว้ถึง 26,555 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (น้ำมันเตา-ก๊าซธรรมชาติ) 1,600 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 5,207 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงาน 10,627 เมกะวัตต์ ทั้งยังจะมีการปรับปรุงแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในทุก ๆ 2-3 ปี
ขณะที่แผน PDP ปี 2024-2037 ที่เพิ่งผ่านเวทีประชาพิจารณ์ไป ก็มีแนวโน้มที่พลังงานจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด จากพลังงานลมไปถึง 70% ลดสัดส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซลงไป โดยมีการคาดการณ์กันว่า พลังงานจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานลมในปริมาณที่มากกว่า 10,000 เมกะวัตต์ (13,000 เมกะวัตต์) อันจะยิ่งสร้างสมดุลให้กับพลังงานอย่างยั่งยืนขึ้นไปอีก
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นแนวโน้มของราคาพลังงานและค่าไฟฟ้า ที่คงจะไม่หวนกลับไปหลอกหลอนผู้คนและประชาชนผู้ใช้ไฟได้อีก และหากกระทรวงพลังงานสามารถ “ปลดล็อค” หนี้ กฟผ. ที่มีอยู่ร่วมแสนล้านลงไปได้ โดยไม่ไปกระทบต้นทุนค่าไฟในมือประชาชนได้ ก็จะยิ่งทำให้ประชาชนผู้ใช้ไฟมั่นใจได้ว่า
นโยบายพลังงานทดแทนที่กระทรวงพลังงานกำลังเดินหน้าอยู่ในเวลานี้ คือ แนวทางสร้างสมดุลด้านพลังงานอย่างยั่งยืนอย่างแน่นอน