ทันทีที่มีข่าวแพลมออกมาจากศาลปกครองสูงสุด กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 และการรถไฟฟ้าขส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต่อศาลปกครอง
กรณีร่วมกันออกประกาศเชิญชวนฯ และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือก (RFP) ในการประมูลครั้งที่ 2 โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกแตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้แล้ว อันมีลักษณะเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
โดยตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นควรยกฟ้องในทุกกรณี ด้วยเห็นว่า คณะกรรมการประกวดราคาได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ แล้ว มีการจัดรับฟังความคิดเห็นก่อนออกประกาศเชิญชวน และโดยที่หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ปิดกั้นผู้ร้องที่จะเข้าร่วมแข่งขัน จึงไม่เป็นการกีดกันเอกชนรายใดในการเข้าประมูล
สรุปว่าประมูล “โปร่งใสในสามโลก” ตามรอยที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดก่อนหน้า!!!
ทำเอาหุ้น BEM ผู้ชนะประมูลตีปีกรับข่าวดีพึ่บพั่บ และทำเอาแวดวงรับเหมาก่อสร้าง ตลอดจนผู้ที่เฝ้าติดตามความคืบหน้าโครงการนี้ดีใจหาย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม จะได้กระเตงผลประกวดราคาโครงการนี้ที่ประกาศผู้ชนะประมูลไปตั้งแต่ปีมะโว้ (ก.ย.2565) เข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบกันเสียที หลังจากต้องคาราคาซังมากว่า 4 ปีแล้ว
ที่จริง! ศาลปกครองสูงสุดก็เคยมีคำชี้ขาดคดีพิพาทสายสีส้มนี้มาแล้วไม่รู้กี่คดี เอาเป็นว่าแม้แต่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดก็เคยมีคำพิพากษาเมื่อ 30 มี.ค.66 ให้ “ยกฟ้อง” คดีที่บริษัท BTSC เคยยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. กรณียกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งแรก (ประกาศลงวันที่ 3 ก.ค. 2563) แต่ก็หาได้ทำให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไปได้
ดังนั้น คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่แพลมออกมาล่าสุดจึงไม่ได้สร้างความประหลาดใจใด ๆ ให้กับแวดวงรับเหมาก่อสร้างโครงการรัฐนี้แม้แต่น้อย เพราะมองว่าไม่ว่าศาลจะชี้ขาดคดีพิพาทสายสีส้มลงมาอีกกี่คดี หรือแม้ศาลจะเอาเครดิตองค์กร “การันตี” โครงการนี้ว่า “โปร่งใสในสามโลก” ยังไง ก็ไม่อาจสร้างความกระจ่างให้แก่ผู้คนในสังคม หรือแม้แต่องค์คณะผู้พิพากษาด้วยกันก็ยังมีความเห็นที่ “แตกเป็นเสี่ยง”
โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า เหตุใดการเสนอราคาก่อสร้างโครงการเดียวกันที่จัดประมูลในรอบแรก และรอบที่ 2 ที่ห่างกันเพียงปีเศษ ราคาที่ออกมาจึงแตกต่างกันลิบลับราว “ฟ้ากับเหว” โครงการเดียวกัน กำหนดเงื่อนไขก่อสร้างเนื้องานอันเดียวกัน จำนวนสถานีรถไฟฟ้า ระบบก่อสร้าง ระบบรางทุกอย่าง แม้แต่ขนาดเหล็กก่อสร้าง อิฐ หิน ดินทราย และใบ BOQ ก็ยังกำหนดเอาไว้แบบเดียวกันทุกกระเบียดนิ้ว แต่ทำไมราคาประมูลที่ได้ ถึงแตกต่างกันลิบลับ มากกว่า 68,375 ล้านบาท!
นอกจากนี้ การที่ผู้เข้าประมูลรายหนึ่งที่ภายหลังตรวจสอบแล้วพบว่า “ขาดคุณสมบัติ” ทั้งตัวประธานติดแบล็กลิสต์ถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งขัดประกาศคณะกรรมการพีพีพี แถมยังยื่นเอกสารผู้ร่วมลงทุนที่เป็นเพียงจดหมายแสดงความจำนงค์จะเข้าร่วมโครงการเท่านั้น โดยไม่มีเอกสารทางการเงินและเอกสารร่วมลงทุนอื่น ๆ มาแสดงต่อคณะกรรมการคัดเลือกตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขประมูล ทั้งบริษัทยังจงใจเสนอราคาสูงกว่าราคากลางและกรอบวงเงินที่ ครม. อนุมัติไว้ ราวกับไม่เคยรับรู้เลยว่าโครงการนี้ตั้งราคากลาง หรือกรอบวงเงินเอาไว้เท่าไหร่ (ทั้งที่ปรากฏอยู่ในเอกสารประมูล)
สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่า มีการฮั้วประมูล ทุกอย่างดำเนินการโปร่งใสในสามโลกกระนั้นหรือ!
แล้วประเทศไทยจะเรียกร้องเพรียกหาความโปร่งใสในการประมูลโครงการไปทำซากอะไร? ให้หน่วยงานเสนอโครงการที่จะจัดประมูลผ่านความเห็นชอบในหลักการจาก ครม. พอเป็นพิธีเท่านั้น หลังจากนั้นก็ให้สิทธิ์คณะกรรมการคัดเลือกหรือประกวดราคาชี้เอาใครเข้ามาเป็นคู่สัญญากันไปได้เลย ไม่ต้องไปเสียเวลาร่างกฎเกณฑ์ กติกาการประมูลแข่งขันอะไรให้มันเสียเวลา เสียงบประมาณหรอก
เพราะสุดท้าย มันก็แค่ขบวนการปาหี่ สร้างความชอบธรรมแบบฉาบฉวยเท่านั้นแหล่ะ!!!