ประชุมบอร์ด กสทช. ส่อวงแตกอีก หลังถก “วาระลับ” บริษัทสื่อสารคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. “พิรงรอง” อ้างคู่ขัดแย้งมีคดีความในศาล ตามรอย “บิ๊กโจ๊ก – กรรมการ ป.ป.ช.” ด้านสภาผู้บริโภคชี้พิรุธคำฟ้องบริษัทสื่อสารไม่เดินตามขั้นตอนปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถึงการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ครั้งที่ 9/2567 วันที่ 24 เมษายน 67 ซึ่งเป็นการประชุมสัญจรนอกสถานที่ ที่จังหวัดจันทบุรี และมีกรรมการ กสทช. บางส่วนเข้าร่วมประชุมผ่านระบบ VDEO Conference อยู่ที่สำนักงาน กสทช. โดยการประชุมวันนี้ นอกจาก จะพิจารณารับทราบรายงานผลการดำเนินงาน และพิจารณาวาระคั่งค้างต่างๆ นับ 100 เรื่องแล้ว 1 ในวาระการประชุมที่กำหนดให้เป็นการประชุมแบบปิด จำกัดจำนวนผู้เข้ารับฟังเป็น “วาระลับ” คือ วาระลับที่ 4.43 เรื่อง การคัดค้านการปฏิบัติหน้าของ กสทช. เนื่องจากอาจเป็นกรณีที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีในชั้นศาล
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า กรณีดังกล่าวน่าจะเกี่ยวข้องกับกรณีที่บริษัททรูดิจิทัล กรุ๊ป ได้ยื่นฟ้อง กสทช. พิรงรอง รามสูตร ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบก่อนหน้านี้ ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กลั่นแกล้งให้บริษัทได้รับความเสียหายจากการมีคำสั่งการให้สำนักงานฯ มีหนังสือแจ้งให้บริษัทในฐานะผู้รับใบอนุญาตช่องโทรทัศน์ดิจิทัลปฏิบัติตามประกาศ กสทช. โดยต้องนำพาสัญญาณรายการโทรทัศน์ไปออกอากาศโดยไม่มีการแทรกโฆษณาหรือเนื้อหาอื่นใด (Pass Through) และศาลได้ประทับรับฟ้องคดีไปแล้วเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา จึงคาดว่า บริษัทน่าจะทำเรื่องขอให้ประธาน กสทช. สั่งการ หรือมีคำสั่งให้ กสทช. รายดังกล่าวยุติการปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่สามารถเข้าร่วมพิจารณาให้ความเห็น กรณีที่เกี่ยวข้องกับบริษัททรูได้ เพราะถือเป็นคู่ขัดแย้ง
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบรายงานการประชุมในค่ำวันเดียวกัน ยังไม่มีรายงานว่า ที่ประชุม กสทช. ได้มีการพิจารณาลงความเห็นต่อวาระดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการประชุมนอกสถานที่และมีการประชุมแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไม่สามารถลงมติได้ จึงคาดว่าน่าจะมีการเลื่อนวาระนี้เข้าสู่ที่ประชุม กสทช. อีกครั้ง ในการประชุม กสทช.ในวันที่ 8 พ.ค. ศกนี้ แต่ก็เป็นที่คาดว่าประเด็นดังกล่าวคงจะมีการถกเดือดอีกเช่นเคย เนื่องจาก กสทช. พิรงรอง และ กสทช. เสียงข้างมากยืนยันว่าเป็นการดำเนินการติดตาม ตรวจสอบการให้บริการรายการโทรทัศน์ตามปกติ และมีข้อร้องเรียนว่าสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน
ก่อนหน้านี้ นางสาว สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการฟ้อง กสทช. ให้รับผิดชอบต่อการทำหน้าที่เป็นเรื่องปกติ แต่กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดเป็นเรื่อง “ผิดปกติ” ในแง่ที่ว่าผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของสำนักงานฯ โดยขั้นตอนผู้ประกอบการสามารถทำหนังสืออุทธรณ์ หรือโต้แย้งได้อยู่แล้ว และหากผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้ได้รับผลกระทบไม่พอใจก็มักจะไปฟ้องศาลปกครองและรอดูว่าศาลจะพิจารณาอย่างไร
“เราเห็นความผิดปกติที่ว่าทำไมกรณีนี้จึงมาฟ้องที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ และเจาะจงฟ้องกรรมการบางท่าน แล้วทำไมไม่ไปตามขั้นตอน จึงทำให้อดคิดไปไม่ได้ว่า มีประเด็นอะไรหรือเปล่าต่อกรรมการ กสทช. ท่านนี้หรือไม่ และถ้าเอกชนฟ้องการทำงานของกรรมการที่ตั้งใจทำงานก็จะทำให้ความศรัทธาเชื่อมั่นต่อ กสทช. ในภาพรวมกระทบด้วย ”
ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อไปยัง ศ.เกียรติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูตร กสทช. เพื่อสอบถามกรณีดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดต่อได้