สร่างซาลงไปจนแทบจะหลุดจากหน้าสื่อ
กับเรื่องที่ “บิ๊กโจ๊ก” ออกมาดับเครื่องชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งอดีต ผบ.ตร. และรักษาการ ผบ.ตร. ก่อนหน้านี้ หลังจากถูกรักษาการ ผบ.ตร.มีคำสั่งปลดรอง ผบ.ตร.พร้อมลูกน้องทั้ง 6 คนชนิดฟ้าผ่า จากการที่มีชื่อเข้าไปพัวพันกับเครือข่ายพนันออนไลน์
จนทำให้เจ้าตัวออกมาดับเครื่องชน สาวไส้เบื้องหน้าเบื้องหลังคำสั่งปลดฟ้าผ่าตนในครั้งนี้ ก่อนจะลุยไฟร้องทุกข์กล่าวโทษหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนคดีพนันออนไลน์ร่วม 200 คน ทั้งยังออกมาดับเครื่องชน กรรมการ ป.ป.ช.รายหนึ่ง โดยทำหนังสือแฉโพยที่มาที่ไปรวมทั้งสายสนกลในของการไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่ง กรรมการ ป.ป.ช. รายที่ว่านี้
ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้มากบารมีแห่งมูลนิธิ “ป่ารอยต่อ” เจ้าของคดีเด็ด “นาฬิกายืมเพื่อน” อันเลื่องชื่อ!
นี่หากเป็นต่างประเทศ โดยกระชากหน้ากาก ถลกหนังหัวซะขนาดนี้เป็นได้แทรกแผ่นดินหนีไปแล้ว หรือไม่ก็ยื่นใบลาออกแสดงสปิริตกันไปแล้ว เพราะผู้ร้องเรียนไม่ใช่ “ไก่กา” ไร้ตัวตนซะที่ไหน แต่เป็นถึงอดีตรอง ผบ.ตร. ที่เปิดหน้าชนตัวเป็นๆ เลยทีเดียว
ผลพวงจากการออกมาสาวไส้กรรมการ ป.ป.ช. ของ “บิ๊กโจ๊ก” ข้างต้น ทำให้หลายฝ่ายโฟกัสไปถึง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ กสทช. ที่เพิ่งจะเปิดแชมเปญฉลองครบ 2 ปีของการทำงานไปเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา
เพราะที่มาที่ไปของกรรมการ กสทช. อย่างน้อย 3 คน จาก 7 คน มีความเกี่ยงโยงกับ “ป่ารอยต่อ” ที่ว่านี้ด้วยเช่นกัน แทบจะเรียกได้ว่าเป็นผลผลิตมาจาก “ป่ารอยต่อ” ที่ว่านี้ก็ว่าได้ เพราะทั้งสายสัมพันธ์ส่วนตัวและที่มาที่ไปของการก้าวสู่ตำแหน่ง กสทช.เหล่านี้ ที่แม้จะได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาและได้รับความเห็นชอบ (โหวต) จากที่ประชุมวุฒิสภา
แต่หากไล่เลียงภูมิหลังแต่ละคนแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วนเกี่ยวโยงกับผู้มากบารมีแห่งป่ารอยต่อที่ว่านี้ทั้งสิ้น
อย่าง “หมอไห่ - ศ.คลินิก นพ.สรณ” คุณหมอโรคหัวใจแห่ง รพ.รามาธิบดี ที่ไม่เคยมีชื่อว่าเคยทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคใดๆ มาก่อนเลย แต่กลับได้รับการสรรหาเข้ามาในสายคุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่บรรดาผู้สมัครเข้ารับการสรรหาด้านนี้อีกเป็นกุรุดที่มีชื่อปรากฏในสื่อและผู้คนรู้จักมักจี่กันดี กลับถูกเขี่ยตกรอบ
เช่นเดียวกับ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ และ พล.ต.อ ณัฐธร เพราะสุนทร ที่ได้รับการสรรหาเข้ามา ก็พบว่า ภูมิหลังและสายสัมพันธ์ล้วนโยงใยไปถึงกลุ่มทุนสื่อสาร กลุ่มทุนทางการเมือง มีสายสัมพันธ์ที่โยงใยไปถึง “ป่ารอยต่อ” ที่ว่านี้ทั้งสิ้น จึงทำให้ กสทช.ทั้ง 3 รายนี้ ทำอะไรก็แทบจะไปในทางเดียวกันหรือพิมเดียวกันทุกกระเบียดนิ้ว!
ขณะที่ กสทช. เสียงส่วนใหญ่อีก 4 ราย ที่ประกอบด้วย ศ.ดร.พิรงรอง อดีตอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ , รศ.ดร. ศุภัช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร. สมภพ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร รวมทั้ง พล.อ.ท ธนพันธุ์ อดีตรองเลขาธิการ กสทช. ทั้ง 4 กสทช.นี้ เป็นเลือดใหม่ไม่ได้มาจากสายการเมือง หรือกลุ่มทุนทางการเมืองโดยตรง จึงมีจุดยืนของตัวเองที่ต้องการให้ กสทช. เป็นองค์กรอิสระไม่ถูกครอบงำจากอิทธิพลภายนอก
เมื่อที่มาที่ไปของ กสทช. ส่วนหนึ่งมาจากร่างทรงกลุ่มทุนทางการเมือง ขณะที่อีกฝ่ายเป็นพวกแตกแถวไม่รับอิทธิพลจากกลุ่มใด จึงทำให้การประชุม กสทช.แต่ละนัดแต่ละครั้ง ต่างฝ่ายต่างงัดข้อกันชนิดไม่เผาผี บอร์ด กสทช. เสียงส่วนใหญ่ 4 คนมีมติไปในทางเดียวกัน โดยที่หลายต่อหลายเรื่องแทบจะเป็นการโหวตสวนหรือหักดิบ กสทช. สาย “ป่ารอยต่อ” อย่างเห็นได้ชัด
อย่าง กรณีดีลควบรวมกิจการสื่อสารโทรคมนาคม ระหว่าง บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บมจ.โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ในอดีตที่ กสทช. มีเพียง 5 คน จนต้องใช้มติพิเศษจากประธาน กสทช. ต้องลุกขึ้นมาออกเสียงเบิ้ลให้ตนเอง เพื่อจะได้อ้างว่าเสียงส่วนมากเห็นว่า กสทช. ไม่มีอำนาจพิจารณาดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าว ทำได้เพียง “รับทราบ” รายงานการควบรวมกิจการทรู-ดีแทคเท่านั้น
ทั้งที่ กสทช. ตั้งอนุกรรมการศึกษากรณีการควบรวมกิจการมาไม่รู้กี่สิบชุด มีการว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระทั้งในและต่างประเทศจัดทำรายงานผลกระทบ จัดเวทีประชาพิจารณ์อะไรต่อมิอะไรผลาญงบกันเป็น 100 ล้าน แต่ก็กลับโยนรายงานผลการศึกษาเหล่านั้นลงถังขยะ ไม่ได้นำมาพิจารณาแม้แต่น้อย
หรือกรณีที่ กสทช. มีมติให้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. หยุดทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. และตั้งกรรมการสอบสวนกรณีนำเงิน 600 ล้านบาทของ กสทช. ไปสนับสนุนการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 ขัดหลักเกณฑ์และระเบียบ กสทช., กรณีการคัดค้านกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ รวมทั้งการคว่ำผลการสรรหาว่าที่เลขาธิการ กสทช.จนนำมาซึ่งการฟ้องร้องอุรุงตุงนังอีกหลายสิบคดี นั้น
ล่าสุดที่ระเบิดขึ้นมา ก็คือ โครงการเทเลเฮลท์ ที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับ กสทช. ที่ขอใช้งบกองทุน กทปส. หรือกองทุน USO ร่วม 3,800 ล้านบาท ซึ่งก็ปรากฏว่า กสทช. เสียงส่วนใหญ่ ทั้ง 4 รายคัดค้านอย่างหนักเพราะเห็นว่า เงินส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านไอที ที่ขัดกับวัตถุประสงค์ของ USO ที่เป็นเรื่องบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ทั้งยังตั้งข้อกังขาถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ที่มาจากประธาน กสทช.ด้วย
กลายเป็น 2 ปีที่เต็มไปด้วย “เรื่องอื้อฉาว” เต็มไปด้วยปมขัดแย้ง ทั้งความขัดแย้งระหว่างประธาน กสทช. กับ กสทช. ด้วยกัน ความขัดแย้งระหว่างรักษาการเลขาธิการ กสทช. กับ กสทช. เสียงส่วนใหญ่ ความขัดแย้งในการลงมติในเรื่องต่างๆ ที่มีจุดยืนกันคนละขั้ว จนทำให้การทำงานขององค์กร กสทช. ถูกผู้คนในสังคมสัพยอก “มีก็เหมือนไม่มี” มาโดยตลอด
ทั้งที่ในอดีต กสทช. ได้ชื่อว่า เป็นองค์กรที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นมาได้ สามารถผลักดันการพัฒนากิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโดยเฉพาะกิจการโทรคมนาคม ให้เป็นปัจจัยหลักของการขับเคลื่อนและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในชั้นแถวหน้าได้จนวันนี้
ความตกต่ำขององค์กร กสทช. ดังกล่าวนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากประธาน กสทช. จะลดทิฐิของตนเองลงและได้ทบทวนบทบาทตนเอง บทบาทของ กสทช. ในภาพรวม ไม่ใช่ยังคงยึดมั่นแต่ว่า ตนเองมีอำนาจอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้
หาไม่แล้ว จะวันนี้ หรืออีก 3 ปีข้างหน้า กสทช. ก็คงไม่สามารถจะดับไฟใต้น้ำ ปลดโซ่ตรวนผลประโยชน์คละคลุ้งองค์กรลงไปได้