เจรจารัฐสางสัญญาสัมปทาน “รัฐลงทุน-ซีพีรับบริหาร”
…..
ผ่าทางตันสัมปทานไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินใกล้ลงตัว หลังชะงักงันมากว่า 4 ปี วงในเผย “เจ้าสัว ซีพี.” ฮึดสู้ต่อเจรจาขอให้รัฐลงทุนโครงสร้างงานโยธา-เอกชนพร้อมรับสัมปทานเดินรถ แก้ไขปัญหาความล่าช้า-ค่าโง่ที่จะเกิดขึ้น ดีกว่าเลิกสัมปทานฟ้องร้อง เชื่อทุกฝ่ายได้ประโยชน์ แถมปลดล็อค 2 โครงการใหญ่อีอีซีเดินหน้าได้เสียที
เกาะติดความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน” เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุน 224,544 ล้านบาทที่คาราคาซังมากกว่า 4 ปีนับตั้งแต่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามในสัญญาสัมปทานกับบริษัท เอเซียเอราวัน จำกัด ผู้รับสัมปทานเมื่อ 24 ต.ค. 2562 แต่กลับยังคงไม่เริ่มต้นก่อสร้าง เพราะยังคงมีปัญหาการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานและเงื่อนไขการส่งมอบพื้นที่ รวมทั้งยังมีกระแสข่าวว่า กลุ่มซีพีและพันธมิตรเองเริ่มถอดใจที่จะไม่ดำเนินโครงการต่อแล้ว หลังจากมีปัญหาในการระดมทุน และความไม่มั่นใจของพันธมิตรผู้ร่วมลงทุนที่มีต่อโครงการนั้น..
ล่าสุดมีรายงานว่า เจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี.) และคณะ ได้มีการเจรจากับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ รวมทั้งสอบถามความชัดเจนในนโยบายของภาครัฐ ที่มีต่อโครงการนี้ ก่อนที่จะมีการยื่นข้อเสนอหนทางออกในอันที่จะไม่ต้องบอกเลิกสัญญาสัมปทาน แล้วก่อให้เกิดปัญหาการฟ้องร้องตามมา โดยแนวทางที่มีความเป็นไปได้นั้น ภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างระบบงานโยธา (Civil Work) ภายใต้กรอบวงเงินสนับสนุนโครงการนี้ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติไว้แล้ว จำนวน 1.17 แสนล้านบาท
ขณะที่บริษัทเอกชนจะเป็นผู้รับสัมปทานเดินรถและซ่อมบำรุง เช่นเดียวกับโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ และเป็นโมเดลเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสายสีต่างๆ ที่การรถไฟฯ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
“แนวทางดังกล่าวจะเป็นทางออกในอันที่จะไม่ต้องฟ้องร้องกันตามมา เพราะหากรัฐตัดสินใจยกเลิกสัญญาสัมปทาน ก็คงไม่เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย จะก่อให้เกิดการฟ้องร้องจตามมาว่า ใครเป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยแนวทางการเจรจาล่าสุดนี้ จะมีการนำเสนอระดับนโยบายทั้งคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และคณะรัฐมนตรีต่อไป”
สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เงินลงทุนรวม 290,000 ล้านบาทนั้น ยังคงอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนระยะเวลาการลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งรอความชัดเจนของโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เพราะทั้ง 2 โครงการมีโครงสร้างร่วมที่ต้องดำเนินการตกลงร่วมกัน โดยคาดว่าเริ่มต้นงานก่อสร้างได้ภายในปี 2567 นี้ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570-2571 ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาปริมาณเที่ยวบินและความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง