ยังคงถกกันไม่แล้วเสร็จ ทำยังไงก็ไม่สะเด็ดน้ำเสียที!
กับอนาคตลาดรถยนต์ EV ในบ้านเรา และตลาดโลกจะไปทางไหน? จะเข้ามาทดแทนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันได้แน่หรือ?
ยิ่งหลายค่ายรถยนต์ในประเทศประกาศวิสัยทัศน์ จะเลิกผลิตรถยนต์สันดาปในระยะ 5-10 ปีจากนี้ ก็ยิ่งทำให้ผู้ใช้รถยนต์ระบบสันดาปทั้งหลายกระสับกระส่าย ตาหล่ะหว่า อนาคตรถยนต์เก่าในบ้านเราจะหาอู่ซ่อมได้อยู่ไหม?
แต่สำหรับ “เนตรทิพย์ ออนไลน์” ที่เคยนำเสนอความเคลื่อนไหวตลาดรถยนต์ไฟฟ้า EV ตั้งแต่วันที่เปิดตัวกระหึ่มโลก จนกระทั่งรัฐบาลไทย “หลวมตัว” เดินตามรอยประเทศจีนในการผลักดันมาตรการรองรับการย้ายโรงงานรถยนต์ EV เข้ามาตั้งโรงงานในไทย
จนวันนี้ 8 โรงงานรถยนต์ EV ตบเท้าจะเข้ามาตั้งโรงงานในไทยเป็นที่แน่นอนแล้วนั้น ยังคงยืนยัน นั่งยันว่า ตลาดรถยนต์ EV ยัง “ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย” ที่เราจะฝากผีฝากไข้เอาไว้ได้ ตรงกันข้ามตลาดรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปโบร่ำโบราณนี่แหล่ะ คือสิ่งที่จะ “ยืนหยัดและยืนยง” ไปชั่วกัปชั่วกัลป์
ทำไมหน่ะหรือ?
ก่อนจะไปฟันธง เหตุใดเราจึงเชื่อว่ารถยนต์ระบบสันดาปจะยังคงยืนหยัดยืนยงคู่มวลมนุษยชาติต่อไป เราต้องย้อนรอยกลับไปดูตลาดรถยนต์ทั่วโลกในปัจจุบันที่มีอยู่ถึง 1,000 ล้านคันเสียก่อน แม้รถยนต์ EV จะเข้ามาตีตลาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีนที่ถือเป็นแหล่งกำเนิดของตลาด EV ด้วยแล้วนั้น
ถึงวันนี้ EV ก็ยังเบียดแทรกตลาดรถยนต์ทั่วโลกไปได้ไม่ถึง 100 ล้านคัน หรือ 10% ของตลาดรถยนต์โดยรวมด้วยซ้ำ ทั้งที่ก่อกำเนิดมาจะร่วม 10 ปีแล้ว ผิดกับเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ ที่สามารถจะทำลายล้าง (Disrupt) ตลาดนั้นๆ ภายในระยะเพียง 1-2 ปีเท่านั้น
แม้จีนจะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีต่างๆ เกือบจะทุกด้านของโลกโดยเฉพาะด้านสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีอวกาศ แต่หากจะพิจารณาถึงการก่อกำเนิดของอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนแล้ว กล่าวได้ว่า แทบจะมา “บ๊วยสุด” ของตลาดนี้เลยก็ว่าได้ เพราะมีเทคโนที่ล้าสมัยที่สุดในอุตสาหกรรมนี้
ทำให้จีนต้องฉีกแนว หันไปลุยตลาด EV เป็นหลักแทนที่จะเดินตามรอยอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกทั้งหลาย และเมื่อรัฐบาลจีนหันมาให้การสนับสนุนตลาด EV เต็มพิกัดเมื่อ 5-6 ปีก่อน จึงทำให้ค่ายรถยนต์น้อยใหญ่ของจีนกว่า 500 รายผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด
ก่อนจะค่อย ๆ ปรับตัว รายที่สายป่านสั้นทำตลาดต่อไม่ไหวเริ่มล้มหายตายจากจนปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึง 100 รายแล้ว และมีการคาดการณ์กันด้วยว่า ที่สุดแล้วค่ายรถ EV ของจีนจะเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่ไม่ถึง 5-10 รายเท่านั้น (ที่ส่วนใหญ่กำลังตบเท้าจะเข้ามาตั้งโรงงานในไทยนั่นแหล่ะ)
และหากจะย้อนไปถึงอุตสาหกรรม EV ของจีนเอง จะพบว่า นับจากการเปิดตัวสู่ตลาดโลกเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนนั้น ค่ายรถต่าง ๆ ที่เปิดตัว EV ออกมานั้นต่างมีการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย โดยมีค่าย Tesla ที่เข้ามาตั้งโรงงานในจีนกระโดดเข้าร่วมวงไพบูลย์ด้วย ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนมีการแข่งขันด้านราคาและเทคโนฯ กันอย่างสุดลิ่ม
เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ค่าย บีวายดี BYD Dynasty ซึ่งเป็นผู้ผลิต EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลกประกาศลดราคารถยนต์ BYD ของตนลงมาหลายรุ่น จนทำให้ค่ายรถยนต์อื่น ๆ อีกกว่า 20 รายนั่งไม่ติด ต้องหั่นราคารถยนต์ EV ของตนลงมาแข่งขันกว่า 50 รุ่น รวมทั้ง TESLA เองที่ต้องลงไปลุยสงครามราคามาไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบแล้ว
สงครามราคายังลามเลียมายังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย
หลายคนมองว่ายิ่งค่ายรถยนต์ไฟฟ้า EV ห่ำหั่นราคาลงมา ก็ยิ่งเป็นโอกาสของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้าถึง และเร่งให้ตลาด EV เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่อีกหลายฝ่ายก็มองว่า ยิ่งทำให้ผู้ที่จัดสินใจเข้าสู่ตลาดนี้เกิดความลังเล เพราะซื้อรถยนต์ EV ไปวันนี้ พรุ่งนี้ไม่รู้ค่ายรถจะปรับลดราคาลงอีกเท่าไหร่ กลายเป็นดาบ 2 คมที่ทำให้ผู้ใช้รถยนต์ EV ชีช้ำใจทันทีที่จัดสินใจซื้อรถยนต์ไปแล้ว
แม้ 7-8 ค่ายรถยนต์จากจีนจะตบเท้าเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่ในไทย ตามนโยบายของรัฐบาลที่หวังจะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ EV ในอาเซียน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ตลาด EV ในไทยเติบใหญ่ถึงขั้นจะเข้ามาทดแทนตลาดรถยนต์เดิม
ยิ่งค่ายรถเปิดสงครามราคาห้ำหั่นราคาลงมามากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นดาบ 2 คม ที่ทำให้ค่ายรถยนต์ EV ฆ่าตัวตายในตัวเองอยู่แล้ว ขณะที่ค่ายรถยนต์ระบบสันดาปเดิมนั้นมีการปรับตัวหันไปผลิตรถยนต์ไฮบริดที่มีสมรรถนะแรงขึ้น ประหยัดขึ้น แม้ใส่เครื่องยนต์สันดาปขนาดเล็กประหยัดน้ำมัน แต่เมื่อยัดเจนเนอเรเตอร์ หรือแบตกักเก็บพลังงานไปใช้ควบคู่ทำให้เป็นที่สามารถไปได้ไกลขึ้นประหยัดขึ้น
กลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้ยังคงต่อกรกับค่ายรถยนต์ EV จากจีนได้อย่างพอฟัดพอเหวี่ยง ที่สำคัญไม่ว่าจะอย่างไร ตลาดรถยนต์มือ 2 ยังคงเป็นตลอดรองของรถยนต์ระบบสันดาปและไฮบริดที่ทำให้ตลาดรถยนต์ในบ้านเรายังคงมีหนทางไปต่อได้
ผิดกับรถยนต์ EV ที่หากเป็นมือสองแล้วแทบจะปิดประตูลั่นดานลงไปเลย