คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) ออกมาตีปี๊บเตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เฟส 2 จำนวน 3,600 เมกะวัตต์ในข่วงไตรมาส 3/2567 นี้ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ตั้งโต๊ะรับซื้อไฟจากกลุ่มผู้ผลิตที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงเฟสแรก ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 ไปแล้ว 5,200 เมกะวัตต์ เมื่อปลายปี 2565
…..
บรรดานักวิเคราะห์ต่างวิเคราะห์หุ้นเด่น Gulf Gunkul BGRIM GPSC และ ACE ที่ขึ้นแท่นจะเป็นผู้กวาดสัญญาขายไฟในเฟสใหม่นี้ หลังจากที่เฟสแรกกลุ่มทุนพลังงานเหล่านี้ยืนหนึ่งกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าที่กวาดสัญญาจากภาครัฐไปมากที่สุด
เรื่องการรับซื้อไฟจากพลังงานทางเลือกของ กกพ. ก็คงเป็นไปตามนโยบายกระทรวงพลังงาน และรัฐบาลที่ต้องการสมดุล สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ตามแผนพัฒนาพลังงาน PDP2024 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลง เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกตามเทรนด์โลก
โดยนัยว่า ตามแผน PDP2024 ที่กระทรวงพลังงานเตรียมทำคลอดในอีกไม่กี่อึดใจ จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ทั้งโซล่าเซลล์ พลังงานลม และไฟฟ้าชีวมวลขึ้นไปถึง 50% ท่ามกลางข้อกังขาของสังคม ตกลงกระทรวงพลังงาน และ กกพ. ตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายย่อย SPP และ VSPP หรือรับซื้อไฟจากกลุ่มทุนพลังงานกันแน่
เพราะรายชื่อที่ประกาศออกมาล้วน “บิ๊กบึ้ม” คับประเทศทั้งสิ้น! โดยเฉพาะ 2 ผู้ผลิตรายใหญ่ Gulf และ Gunkul นั้น แทบจะกวาดสัญญาในเฟสแรกไปกว่าครึ่ง โดย Gulf รายเดียวนั้น กวาดสัญญาผลิตไฟฟ้าพลังงานลมไปกว่า 1,000 เมกะวัตต์ จากที่ตั้งโต๊ะรับซื้อ 1,490 เมกะวัตต์ และยังกวาดสัญญาไฟฟ้าไซลาร์ฟาร์ม 2 ประเภทไปอีกถึง 24 โครงการ 1,294 เมกกะวัตต์ ไม่รวมไฟฟ้าชีวมวลที่กำลังมีตามมา
ส่วน Gunkul ก็คว้าไป 8 โครงการ 429 เมกะวัตต์ เมื่อ กกพ. เปิดรับซื้อระลอก 2 อีกกว่า 3,600 เมกะวัตต์ กลุ่มทุนพลังงานเหล่านี้จึงผงาดขึ้นมาเป็นตัวเต็งมาแต่ไก่โห่
เห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนพลังงานข้างต้นแล้ว ก็ให้นึกย้อนไปถึงเรื่องที่มูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI ที่เพิ่งจะออกโรงสะท้อนปัญหาความ “ไร้ประสิทธิภาพ” ในการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
โดยเฉพาะการเปิดทางให้กลุ่มทุนธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งรายใหญ่ของประเทศดำเนินการควบรวมกิจการ ด้วยข้ออ้าง “แม้มีอำนาจเหนือตลาด แต่ไม่เป็นการผูกขาด” ส่งผลให้ไม่เพียงแต่กลุ่มทุนธุรกิจค้าปลีกค้าส่งรายนี้ จะมีส่วนแบ่งการตลาดในร้านสะดวกซื้อมากกว่า 83% และธุรกิจค้าส่งมากกว่า 86% (เทียบกับกลุ่มเซ็นทรัลรีเทล และ TCC ที่มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 3-5 %) เท่านั้น
ผลพวงการควบรวมกิจการข้างต้น ยังส่งผลให้ตลาดข้าวสารบรรจุถุงที่กลุ่มซีพี. เคยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 15% ในปี 2556 วันนี้ทะยานขึ้นมาถึง 58% ทำให้ผู้ผลิตข้าวสารถุงรายอื่นๆ แทบไม่มีที่ยืน
สภาพการณ์ตลาดพลังงานไฟฟ้าในบ้านเราวันนี้ ที่ปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้า 49,571 เมกะวัตต์นั้น เป็นโรงไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ดำเนินการเดินเครื่องเอง 16,261 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 32.75 ของกำลังผลิตไฟฟ้าโดยรวมทั้งประเทศเท่านั้น
และนับวันจะถูกกลุ่มทุนพลังงานรุกคืบเบียดผู้ผลิตไฟฟ้าภาครัฐ อย่าง กฟผ. จนอยู่ในสภาพหืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง อนาคตจ่อจะมีสภาพไม่ต่างไปจาก บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ในปัจจุบันที่แทบจะไม่มีที่ยืน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงกิจการพลังงานของประเทศ ที่ผ่านมาเราได้เห็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่แม้จะถูกเครือข่ายพลังงานค่อนแคะว่าถูกแปรรูปกิจการไปเป็นบริษัทมหาชน หรือเป็นธุรกิจเอกชนที่แสวงหากำไรไปแล้ว ไม่ได้เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือพลังงานของชาติแล้ว
แต่กระนั้น ปตท. ก็มีการสยายปีกขยายกิจการ ทั้งตั้งบริษัทลูก บริษัทร่วมทุน หรือเข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัทเอกชนลุยธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำไปยันปลายน้ำ สยายปีก ขยายกิจการไปนับร้อยบริษัท อย่าง OR ที่มี “คาเฟ่อะเมซอน” มีสาขากว่า 4,000 สาขา
ล่าสุด ยังประกาศจับมือพันธมิตรเตรียมรุกคืบทำธุรกิจ Virtual Bank รวมทั้งยังร่วมทุนกับเอกชนลุยธุรกิจโรงแรมในเมืองท่องเที่ยว และกำลังปัดฝุ่นเตรียมผุดโรงแรมในปั๊มน้ำมัน หรือเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจอาหาร “โอ้กะจู๋” เตรียมดึงมาเปิดในปั๊ม ปตท. ไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยสาขา
จนเรียกได้ว่า แค่มีข่าวว่า ปตท. จะเข้าไปลงทุนในกิจการหรือธุรกิจใด ก็ทำเอาตลาดนั้นๆ กระเพื่อมกันไปก่อนแล้ว
แต่ในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ หรือ กฟผ. กลับตรงกันข้าม ที่ผ่านมาเห็นแต่ผู้บริหาร กฟผ. ออกมาร้องแรกแหกกระเชอว่า กำลังถูกการเมือง "บอนไซ" ปิดกั้น หรือสกัดกั้นการลงทุนของ กฟผ. ไม่เปิดโอกาสให้เข้าไปแข่งขันสร้างโรงไฟฟ้าที่ตนเองถนัด จนทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดลงจากที่เคยมีมากกว่า 50% เหลืออยู่ไม่ถึง 32% ในปัจจุบัน
แม้ที่ผ่านมา กกพ. จะตั้งโต๊ะรับซื้อไฟจากพลังงานหมุนเวียนทั้งโซล่าเซลล์ โซลาร์ฟาร์ม พลังงานลม หรือไฟฟ้าชีวมวลก็ตาม เรากลับไม่เห็น กฟผ. หรือบริษัทลูก จะ มีแนวคิดที่จะเข้ามาแข่งขันหรือยื่นข้อเสนอด้วยแต่อย่างใด
ที่เห็นและเป็นไป กฟผ. กลับไปมุ่งเน้นการบริหารระบบสายส่ง จัดสมดุลการจำหน่ายไฟออกไปยัง 2 การไฟฟ้าเป็นหลัก อย่างการนำเอาระบบ Grid Modernization ที่ทำให้การผลิต, การส่ง มีความรวดเร็วสูง แต่ก็มีความยืดหยุ่น ช่วยให้การควบคุมระบบต่าง ๆ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งที่จะว่าไปเทคโนโลยีในการผลิตไฟพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่เหนือบ่ากว่าแรงที่ กฟผ. จะดำเนินการได้เอง หรือกระโจนเข้ามาร่วมแข่งขัน ทั้งยังอาจจะทำให้ต้นทุนพลังงานทดแทน หรือพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ถูกลงกว่าที่เป็นอยู่ด้วยซ้ำ เพราะ กฟผ. นั้น มีพื้นที่เขื่อน พื้นที่กักเก็บน้ำที่สามารถจะนำมาสร้างระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนพลังงานทางเลือกเหล่านี้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ารายอื่น ๆ ได้อยู่แล้ว
หรือรักที่จะทำตัวเป็นแค่ “เสือนอนกิน” Tiger Sleep Eat เป็นแค่ผู้รับซื้อและขายส่งไฟฟ้าแบบนี้เป็นหลักให้ผู้คนเขาค่อนแคะกันอยู่แบบนี้ ลองเสนอตัวเข้ามาแข่งขันให้กลุ่มทุนพลังงานได้สะท้านทรวงเสียหน่อยจะเป็นไรไป ท่านประธานที่เคารพ!!!