จับตาพรุ่งนี้ศาลฯ นัดฟังคำสั่ง ‘พิรงรอง’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังทรูไอดียื่นฟ้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วันนี้ (13 พ.ค.) ได้มีการพิจารณาประเด็นการคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช. ในเรื่องที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หลังจากที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีที่ อท. 147/2566 ที่ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยกล่าวหาว่ามีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมส่งผลให้บริษัทเอกชนเสียหาย
ทั้งนี้ มีรายงานว่าศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้นัดฟังคำสั่งในคดีว่าจะให้ ศ.ดร.พิรงรอง ระงับการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. และคณะอนุกรรมการด้านกิจการโทรทัศน์ และห้ามกระทำการที่จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และกลุ่มบริษัทในเครือตามที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ร้องขอหรือไม่ในวันที่ 14 พ.ค.นี้
โดยคดีนี้ สืบเนื่องจากการที่ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ได้กล่าวหาว่า ศ.ดร. พิรงรอง ในฐานะกรรมการ กสทช. และคณะอนุกรรมการด้านกิจการโทรทัศน์ที่มีคำสั่งให้สำนักงาน กสทช. ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์และวิทยุ 127 แห่ง ขอให้ตรวจสอบการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านการให้บริการกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Internet TV Box) และแอปพลิเคชัน True ID เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการกรณีมีการโฆษณา ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดว่า โจทก์กระทำผิดกฎหมายจนอาจถูกระงับเนื้อหารายการต่างๆ ที่ได้ส่งไปออกอากาศ และโจทก์เห็นว่าการกระทำดังกล่าว มีพฤติการณ์ที่แสดงถึงความมีอคติและความไม่เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ จึงได้ยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวถึงกรณีที่ กสทช. ถูกบริษัทเอกชนฟ้องร้องทั้งที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ ในงานเสวนา ฬ.นิติมิติ “เจ้าหน้าที่ของรัฐกับการถูกฟ้องคดีอาญา” ว่า การฟ้องคดีดังกล่าว ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดผลแพ้ชนะแต่อย่างใด แต่หวังผลให้เกิดขึ้นใน 4 ประเด็น ได้แก่
1. กสทช. มีจำนวน 7 คน แบ่งเป็น 2 ฝ่าย 3 : 4 เคยเกิดเหตุการณ์ผลประชุมเท่ากัน และเกิดการออกเสียงซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ศาลรัฐมธรรมนูญมีกฎหมายระบุไว้ว่าไม่สามารถทำได้ ประธานไม่สามารถออกเสียงซ้ำได้ จะต้องมีการเกลี่ยกล่อมกันจนเกิดฉันทามติ
2. เคยมีประเด็นควบรวม ทรู ดีแทค (ล่มมา 6 ครั้ง) ยังเป็นคดีอยู่ที่ศาลแต่ดำเนินการควบรวมไปแล้ว
3. หากกรณีพิจารณาเรื่อง ทรู กสทช. 7 คน ทรู (ซึ่งมีส่วนได้เสีย) จะคัดค้านว่า อาจารย์พิรงรองเป็นคู่กรณีต้องถอนตัวเพื่อให้กรรมการเหลือ 6 คน เมื่อคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานออกเสียงเพิ่ม 1 เสียง
4. กรณีนี้จึงมิใช่ต้องการให้คดีแพ้หรือชนะ แต่ต้องการฉวยโอกาสเอาเวลาจากความล่าช้าของการพิจารณาคดีมาเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนโดยใช้ศาลเป็นเครื่องมือ
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาผลการพิจารณาคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในวันพรุ่งนี้ว่า จะมีผลอย่างไร ศาลจะมีคำสั่งให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หรือจำเป็นต้องรอให้ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดก่อนโดยในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ ศ.ดร.พิรงรอง ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้