เห็น นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกมาแจงไทม์ไลน์คดี ‘อิทธิพล คุณปลื้ม’ ออกใบอนุญาตและต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดหรู Water Front เชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา หลังศาลชี้ฟ้องคดีขาดอายุความไปวันวาน
….
เจ้าตัวไล่เลียงไทม์ไลน์โดยอ้างว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับคำร้องกล่าวหาร้องเรียน นายอิทธิพล คุณปลื้ม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยากับพวก เข้ามีส่วนได้เสียในการก่อสร้างโครงการวอเตอร์ฟรอนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนซ์ และการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 กันยายน 51 และการพิจารณาต่อใบอนุญาตก่อสร้างอาคารครั้งที่ 2 พ.ศ.55 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานฟังได้ว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหากับพวก “มีมูล” ตามคำกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 65 (8 ปีให้หลัง) แต่งตั้ง “คณะกรรมการไต่สวน” เพื่อไต่สวนข้อเท็จจริงและแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหากับพวกทราบ ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติชี้มูลความผิดนายอิทธิพล คุณปลื้ม กับพวก ว่ามีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 66
แค่ประเด็นการชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาก็พบ “พิรุธ” สุดน่ากังขาแล้ว สำนักงานฯ ใช้เวลาแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีร้องเรียนนี้ไปถึง 8 ปีเลยหรือท่านเลขาฯ การจะลงไปตรวจสอบเอกสารหลักฐานการออกใบอนุญาต ต่อใบอนุญาตของนายกฯเมืองพัทยา ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปจากสำนักงานฯ แค่ 140-150 กม.นั่นมันต้องใช้เวลาเดินทาง ใช้เวลารวบรวมเอกสารหลักฐานกันข้ามปี หรือ “ข้ามภพข้ามชาติ” หรือเลย?
ก่อนที่สำนักงานฯ จะส่งรายงานและสำนวนการไต่สวนและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องในเรื่องไต่สวนดังกล่าว ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดในวันที่ 3 สิงหาคม 66 และเนื่องจากคดีใกล้ขาดอายุความ 15 ปี ในวันที่ 10 กันยายน 66 สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้มีการประสานงานและติดตามสอบถามความคืบหน้าไปยังสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นระยะ
มาขยับ และขยันเอาวินาทีสุดท้ายของไทม์ไลน์แห่งคดีนั้น ท่านเลขาฯ ช่วยตอบสังคมให้หายข้อกังขาทีเถอะว่า นี่ไม่เกี่ยวกับการเมืองแน่นะวิ!
เพราะ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ 1 ตุลาคม 57 กว่าจะมาตั้งแท่นตั้งอนุกรรมการไต่สวนคดีได้ ก็ปาเข้าไป 1 กรกฎาคม 65 หรือ 8 ปีให้หลัง พอตั้งเสร็จก็รีบรวบรัดชี้มูลคดีทันที เพราะห้วงเวลานั้นคดีใกล้หมดอายุความแล้ว (10 กันยายน 66)
แถมเมื่อไล่เรียงกลับไปในห้วงที่ ป.ป.ช. ลุกขึ้นมาขยับคดีนี้ ก็เป็นห้วงเวลาหลังจากที่นายอิทธิพล คุณปลื้ม ประกาศไขก๊อกลาออกจากตำแหน่ง รมต.กระทรวงวัฒนธรรม และประกาศพา “บ้านใหญ่” หวนกลับไปซบรังเก่าด้วยอีก
อ้าว! ตอบอีกทีทั่นเลขาฯ… “ไม่เกี่ยวกับการเมืองแน่นะวิ” !
ต่อมาในวันที่ 30 สิงหาคม 66 สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 ได้มีหนังสือแจ้งว่า อัยการสูงสุดมีคำสั่งรับดำเนินคดีอาญาฟ้อง นายอิทธิพล คุณปลื้ม ผู้ถูกกล่าวหากับพวกรวม 10 ราย และแจ้งให้นำตัวผู้ถูกกล่าวหาไปยืนยันตัวต่อพนักงานอัยการในวันที่ 4 กันยายน 66 เพื่อดำเนินการยื่นฟ้องศาลอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 2 ให้ทัน “เดดไลน์” วันที่ 10 กันยายน 66
ปรากฏว่า ในวันที่ 4 กันยายน 66 ผู้ถูกกล่าวหาในกลุ่มพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตครั้งที่ 2 จำนวน 5 รายไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการ ณ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้อง และแจ้งว่า ผู้ถูกกล่าวหาในกลุ่มพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ที่ประกอบด้วยนายอิทธิพล คุณปลื้ม กับพวกอีก 4 ราย ไม่ได้เดินทางมาพบพนักงานอัยการ ตามวันและเวลาที่กำหนด จึงขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ออกหมายจับ ซึ่งศาลได้ออกหมายจับตามคำร้องเมื่อวันที่ 5 กันยายน 66
ในวันที่ 6 กันยายน 2566 สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 ได้มีหนังสือขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ออกหมายจับ นายอิทธิพล คุณปลื้ม กับพวก ใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยขอให้ศาลได้ระบุหมายเหตุไว้ในหมายจับด้วยว่าผู้ถูกกล่าวหาได้หลบหนีไป ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.61 ประกอบมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.59 ซึ่งศาลได้ออกหมายจับตามคำร้องใหม่ในวันที่ 7 กันยายน 66 โดยระบุในหมายเหตุว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้หลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี จึงมิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.61 และตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.59
ก่อนที่ในภายหลัง จะมีการติดตามตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดกลับมาดำเนินคดีได้ เมื่อวันที่ 12 และ 14 กันยายน 66 และสำหรับนายอิทธิพล คุณปลื้ม ได้ติดตามมาดำเนินคดีได้เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 66 ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องทุกราย
ก่อนที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 2 จะมีคำพิพากษาว่า โจทก์ยื่นฟ้องเกินกำหนดระยะเวลา คดีโจทก์จึงขาดอายุความในท้ายที่สุด
เพราะตั้งแท่นฟ้องคดีเอาในวินาทีสุดท้ายก่อนคดีขาดอายุความไม่ถึง 5 วัน มันจึงกลายเป็นการ “เปิดช่อง” ให้ 5 ใน 10 ผู้ถูกกล่าวหาฉวยโอกาสหลบหนีไม่มาพบพนักงานอัยการเพื่อให้คดีขาดอายุความ ดังนั้น แม้สำนักงานอัยการ จะนำตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องได้ในภายหลัง และมีบันทึกว่ามีการหลบหนีระหว่างอายุความ
แต่เมื่อศาลได้พิจารณาดูเหตุแห่งคดีและไล่เลียงไทม์ไลน์การฟ้องคดีแล้ว จึงไม่แปลกใจที่ศาลยัง “ตีแสกหน้า” ว่าเมื่อพิจารณาไทม์ไลน์ในการนำตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดมาฟ้องคดีของสำนักงาน ป.ป.ช. แล้ว เห็นได้ชัดว่า สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีพฤติการณ์ไม่ได้มุ่งหมายให้การดำเนินคดีอยู่ภายในกรอบเวลาการฟ้องคดี (วันที่ 10 กันยายน 2566)