วงการพลังงานกวักมือเรียก "พิธา-ก้าวไกล" ร่วมจับตากระบวนการสรรหา 4 กรรมการกำกับกิจการพลังงานใหม่ หลังพบพิรุธ แค่เริ่มกระบวนการ กรรมการสรรหาก็ไขก๊อกประเดิมไปแล้ว หวั่นทุนพลังงานส่งร่างทรงคุมเบ็ดเสร็จอีก
….
จ่อระอุแดดเป็นปรอทแตกไม่แพ้สภาวะอากาศร้อนเปรี้ยงในยามนี้ กับเส้นทางการสรรหาและแต่งตั้ง "กรรมการกำกับกิจการพลังงาน" หรือ กกพ.คนใหม่ จำนวน 4 คน แทน 4 กกพ. ที่จะครบวาระในสิ้นเดือนกันยายนนี้
โดย กกพ. 4 คน (จากที่มีอยู่ 7 คน) ที่จะครบวาระ 6 ปีนั้น ประกอบด้วย 1. นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. 2. นายสุธรรม อยู่ในธรรม 3. นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และ 4. นายสหัส ประทักษ์นุกูล
ความสำคัญของการสรรหากรรมการ กกภ. ในครั้งนี้ เพราะ ไม่เพียงจะเป็นการสรรหา กกพ. เสียงส่วนใหญ่จำนวน 4 คน ที่ครบวาระแล้ว ในจำนวนดังกล่าวยังรวมไปถึงผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นประธาน กกพ. แทนนายเสมอใจ พุ่มพวง ประธาน กกพ. ที่จะครบวาระ และมีอายุครบ 70 ปีด้วย ทำให้กระบวนการสรรหาและแต่งตั้ง กกพ. ใหม่ จำเป็นต้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นเดือนกันยายน 67 นี้
ซึ่งก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ลงนามในประกาศลงวันที่ 11 มีนาคม 2567 ประกาศรับสมัครคัดเลือกผู้แทนจากอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และรับสมัครคัดเลือกผู้แทนองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ เพื่อดำเนินการคัดสรรเป็น "คณะกรรมการสรรหากรรมการ กกพ." แล้ว
มีการประกาศรายชื่อผู้แทนอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐออกมาแล้ว คือ ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนผู้แทนองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร ได้แก่ นายวิจารย์ สิมาฉายา ตัวแทนมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
อย่างไรก็ตาม คล้อยหลังการประกาศรายชื่อผู้แทนองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรไปไม่ถึง 3 วัน นายวิจารย์ สิมาฉายา ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นกรรมการสรรหา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ทำให้เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ได้ลงนามแต่งตั้ง นายสมศักดิ์ สันธินาค จากสมาคมเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านอยุธยา เป็นกรรมการสรรหาแทนเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 67 ที่ผ่านมา
ขณะที่กรรมการสรรหาคนอื่นๆ นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกเพิ่มเติมเพื่อประกอบเป็นคณะกรรมการสรรหาที่มีอยู่จำนวน 7-8 คน ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยว่าจะมีใครบ้าง แต่ในแวดวงพลังงานมีการวิพากษ์กันในวงกว้างว่า คงไม่พ้นจะถูก “กลุ่มทุนการเมือง” ส่ง "ร่างทรง" เข้ามาแทรกเป็น "ยาดำ" ในกระบวนการสรรหา เพื่อหวังจะให้การสรรหา กรรมการที่จะมีขึ้นนั้น สามารถจะล็อคตัวบุคคลที่เป็นคนของตนเข้าไป
จุดนี้เองจึงทำให้มีการเรียกร้องให้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานที่ปรึกษาคณะก้าวหน้า รวมทั้งกุนซือใหญ่ของพรรคก้าวไกล รวมทั้ง “พิธา ลื้มเจริญรัตน์” และพรรคฝ่ายค้านก้าวไกล ที่เคยมีบทบาทเรียกร้องค่าไฟฟ้าที่ "เป็นธรรม" ก่อนหน้านี้ ให้เข้ามาติดตามกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการสรรหา กกพ. รวมไปถึง กรรมการ กกพ. ชุดใหม่ที่กำลังจะมีขึ้น
เพราะ "7 อรหันต์ กกพ." ถือได้ว่า เป็นผู้วางกฎเกณฑ์กติกาในการกำกับกิจการพลังงานของประเทศ ที่มีมูลค่ามากกว่าล้านล้านบาท ทั้งยังเป็นผู้องค์กรที่มีส่วนกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่จัดเก็บกับประชาชนโดยตรงด้วย ดังนั้น ขั้นตอนการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการ กกพ. จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
จะปล่อยให้การเมืองหรือกลุ่มทุนการเมือง ส่ง "ร่างทรง" เข้ามาเบียดแทรกเป็นยาดำ กำหนดชะตากรรมพลังงานของประเทศไม่ได้อย่างเด็ดขาด
หากปล่อยให้กระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นกรรมการสรรหาโน้มเอียงไปทิศทางใด หรือมีฝ่ายการเมือง ทุนพลังงานใด สอดแทรกเข้ามาแทรกแซง ก็แทบจะบอกได้เลยว่า บุคคลที่จะได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาเป็นกรรมการ กกพ. ที่จะกำหนดชะตากรรมพลังงานของประเทศ และโดยเฉพาะทิศทางโครงสร้างค่าไฟฟ้าในมือประชาชนในอนาคตนั้น จะมีความโน้มเอียงไปเป็นคนของฝ่ายใด ?
"แวดวงพลังงานเคยตั้งความหวังเอาไว้ก่อนหน้า หากพรรคก้าวไกลเข้ามาจะสามารถรื้อโครงสร้างพลังงาน สลายขุมทรัพย์พลังงานที่ถูกกลุ่มทุนการเมืองบางรายเกาะกุมเอาไว้เบ็ดเสร็จได้ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครจากพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน หรือตัวแทนจากภาคประชาสังคม ที่จะออกมาพูดถึงเรื่องนี้"
อย่าลืมว่า ธุรกิจพลังงานนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดมากกว่าเงิน “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่รัฐบาลชุดนี้กำลังตั้งแท่นจะดำเนินการอยู่นี้เสียอีก เพราะเงินเศษเงิน 50 สตางค์ หรือ 1 บาท ในค่าไฟฟ้าหรือน้ำมันนั้น มันหมายถึงเม็ดเงินระดับหมื่นล้าน แสนล้านที่ประเทศจะต้องสูญเสียไป
แก่งหิน เพิง