อ้างประสบปัญหาระดมทุน-ขอรัฐลงทุน บริษัทขอชุบมือเปิบ!
…
ยิ่งกว่าครูกายแก้ว ก็ต้องกลุ่มทุน ซีพี. ที่กล้าขอรื้อสัญญาสัมปทานรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน อ้างบริษัทจนปัญญาระดมทุนก่อสร้างขอเงินรัฐลงทุนให้ดื้อๆ แถมคนของรัฐทั้ง สกพอ.-รถไฟ ก็ตั้งแท่นไฟเขียวให้แบบไม่กลัวเบาหวาน ด้าน BSR นิ่ง เหนื่อยแล้วกับการฟ้องร้อง
เป็นอันว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุน 271,823 ล้านบาท ที่รัฐบาลโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ลงนามในสัญญากับบริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง (ซีพี) และพันธมิตร ตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2562 หรือเมื่อ 5 ปีก่อน แต่จนแล้วจนรอดกระทั่งวันนี้ โครงการยังคงไม่สามารถเปิดหวูดเริ่มต้นก่อสร้างได้
ล่าสุด แม้จะผ่านเส้นตายวันที่ 22 พฤษภาคม 67 ที่บริษัทจะต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก่อนที่การรถไฟฯ จะออกหนังสือให้เริ่มต้นงาน (Notice to proceed : NTP) แต่ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า บริษัทยังคงไม่ได้รับบัตรส่งเสริมบีโอไอใด ๆ ขณะที่ รฟท. และ สกพอ. กำลังขวนขวายหาหนทางอื่นๆ ในอันที่จะให้บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุน
ล่าสุด ยังมีกระแสข่าวว่าบริษัทเอเชียเอราวัน จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการได้ยื่นข้อเสนอไปยัง รฟท. และ สกพอ. เมื่อวันที่ 13 ก.พ.67 เพื่อขอเจรจาแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมอีก 3 ข้อด้วยกัน โดยอ้างว่า เนื่องจากประสบปัญหาการระดมทุนจากสถาบันการเงิน ประกอบด้วย..
1. ขอให้รัฐปรับร่นเวลาชำระเงินที่จะสนับสนุนการก่อสร้างระบบงานโยธาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วงเงินประมาณ 109,843.91 ล้านบาท โดยขอให้ชำระตั้งแต่เดือนที่ 12 ของสัญญา จากเดิมที่รัฐจะทยอยจ่ายชดเชยค่าก่อสร้างให้เมื่อโครงการแล้วเสร็จ (ปีที่ 6 ของสัญญารวมระยะเวลา 10 ปี)
2. ขอเลื่อนชำระค่าใช้สิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ วงเงิน 10,671.09 ล้านบาท และค่าพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ (TOD) มักกะสันและศรีราชา วงเงิน 45,155.27 ล้านบาท จากที่กำหนดในช่วง 20 ปีแรกออกไป โดยขอเริ่มจ่ายในปีที่ 21 เป็นต้นไป
และ 3. ขอเงินกู้สำรองฉุกเฉินสำหรับโครงการ (Contingency Credit Facility)
ทั้งนี้ การขอแก้ไขสัญญาข้างต้นบริษัทอ้างว่า เพราะประสบปัญหาในการระดมทุนจากสถาบันการเงิน อีกทั้งสถานการณ์ความไม่แน่ชัดในนโยบายของรัฐที่มีต่อการพัฒนาโครงการ ทำให้การระดมทุนจากสถาบันการเงินเป็นไปด้วยความยากลำบาก
หลังประเด็นการยื่นข้อเสนอแก้ไขสัญญาสัมปทานเพิ่มเติมสะพัดออกไป กระแสวิพากษ์ในวงกว้างที่มีต่อโครงการนี้ก็สะพัดขึ้นมา โดยหลายฝ่ายมองว่า ระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 5 ปีนั้น เป็นบทพิสูจน์เพียงพอว่า “บริษัทไม่มีความสามารถที่จะดำเนินโครงการได้ จึงน่าที่การรถไฟฯ และรัฐบาลจะบอกเลิกสัญญาสัมปทานและเปิดประมูลโครงการใหม่”
ขณะที่บางกระแสมองว่า “หากรัฐยอมให้กลุ่ม ซีพี. แก้ไชสัญญา คงเป็นบรรทัดฐานอัปยศในการประมูลงานของรัฐ ที่เอกชนทำไม่ได้จริงตาม TOR แค่ประมูลให้ชนะได้งานมาก่อน แล้วค่อยมาขอแก้ไขสัญญาในภายหลัง โดยไม่ต้องยึดกฎ กติกาใดๆ เวลาที่เสียไป ประชาชน ประเทศชาติเสียหายอย่างไร ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องโดน blacklist ไม่มีความผิดใดๆ”
พอเถอะ แค่นี้ก็เสียเวลามานานหลายปีแล้ว ถ้าไม่พร้อมก็ให้คนอื่นเขาทำและรัฐบาลก็สมควรเลือกคนที่พร้อม ไม่ใช่รอแต่เจ้าสัวแบบนี้ ทำให้ประเทศเสียโอกาสไปเปล่าๆ แนะนำให้ใช้สมองเยอะๆ ในการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่มารอแค่เจ้าสัว รัฐควรเปิดโอกาสให้คนที่พร้อมหรือสนใจจริงๆ
ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงในบริษัท บีทีเอส โฮลดิ้ง 1 ในกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ที่เข้าร่วมประมูลโครงการนี้ ระบุว่า ยังคงจับตาดูผลสรุปสุดท้ายของการเจรจาแก้ไขสัญญาระหว่างรัฐและเอกชนผู้รับสัมปทานว่าจะจบลงอย่างไร แต่สำหรับบีทีเอสแล้วคงไม่มีท่าทีใด ๆ ต่อเรื่องนี้ เพราะเบื่อหน่ายกับการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐแล้ว และฟ้องไปกรณีนี้ก็เป็นที่รับรู้กันดีว่าคงไม่มีความหมายอะไร?