วงการรับเหมาสุดมึน หน่วยงานรัฐตั้งแท่นเจรจารื้อสัญญาสัมปทานรถไฟเชื่อมสามสนามบิน ฉีกทีโออาร์-สัญญาเดิมเรียบวุธ สะกิด ACT-ปชป.-พรรคก้าวไกล ไม่สนใจจะล้วงลูกตรวจสอบบ้างหรือ?
…
ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (กก.) ออกโรงเกาะติดนโยบายแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน “ดิจิทัล วอลเล็ต” ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย (พท.) แบบไม่ยอมให้คลาดสายตา ทั้งยังวิพากษ์นโยบายดังกล่าวไม่สามารถจะสตาร์ทเศรษฐกิจให้กระเพื่อมได้อย่างที่คิด
ทั้งยังจุดพลุจุดอ่อนนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องของแหล่งที่มาของเม็ดเงินกว่า 540,000 ล้าน ที่ทำให้รัฐต้องวิ่งพล่าน และน่าจะเป็นจุดตายที่ทำให้เส้นทางการดำเนินนโยบายนี้ “ยืนอยู่บนเส้นด้าย” กลายเป็นปมที่ทำให้หลายฝ่ายหยิบยกไปฟ้องร้องหน่วยงานตรวจสอบทั้งหลาย กระตุกเบรกโครงการนี้ที่แทบจะกล่าวได้ว่า กว่าจะได้ทำคลอดออกมาก็ไม่รู้จะรุ่งริ่งเหลือแค่ไหน?
เห็นพรรคก้าวไกลเกาะติดเงิน “ดิจิทัล วอลเล็ต” ข้างต้นแล้ว เลยอดคิดไม่ได้ว่า แล้วพรรคก้าวไกลไม่สนใจจะตรวจสอบ “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน” มูลค่า 2.24 แสนล้าน ที่รัฐบาลชุดก่อนให้สัมปทานแก่กลุ่มทุนเจ้าสัว ซีพี. และพันธมิตรในนาม บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด กันบ้างหรือ?
เพราะลงนามในสัญญาสัมปทานกันไปตั้งแต่ปีมะโว้ 2562 จนวันนี้จะครบ 5 ปีรอมร่อ โครงการก็ยังไม่เปิดหวูดก่อสร้างแม้แต่กิโลเดียว ที่เห็นและเป็นไปมีแต่ข่าวคู่สัญญาฝ่ายรัฐยังส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างไม่เรียบร้อยบ้าง บริษัทประสบปัญหาทางการเงินไม่สามารถจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ และไม่สามารถระดมทุนก่อสร้างได้
ล่าสุด กลุ่มทุนซีพียังตั้งแท่นยื่นข้อเรียกร้องมายังการรถไฟฯ เพื่อขอเจรจาทำสัญญากันใหม่ ด้วยข้ออ้างประสบปัญหาในการระดมทุน โดยจะขอให้รัฐร่นเวลาจ่ายเงินสนับสนุนการก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือเงินร่วมลงทุนฝ่ายรัฐจำนวน 108,000 ล้านบาทเศษ จากเดิมที่รัฐจะจ่ายคืนเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ (ปีที่ 6 ของสัญญาเป็นระยะเวลา 10 ปี) มาเป็นตั้งแต่เดือนที่ 12 ของสัญญาภายในระยะ 5 ปี
ทั้งยังขอเลื่อนเวลาจ่ายค่าสิทธิ์รับโอน Airport Link วงเงิน 10,671 ล้านบาทจากที่ต้องจ่าย เมื่อรับมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ไปบริหารแล้ว (ปี 2564) โดยขอเลื่อนจ่ายออกไป 10 ปี แต่คณะทำงานของการรถไฟฯ และบริษัท รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการนโนยายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้เจรจาให้เป็น 7 ปี รวมทั้งยังขอเลื่อนจ่ายค่าเช่าสิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินเพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ (TOD) สถานีมักกะสันและศรีราชา วงเงิน 45,155.27 ล้านบาท ออกไปเป็นปีที่ 21 ของสัญญาเป็นต้นไป
สรุปแล้ว เงื่อนไขการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินลงทุน 2.24 แสนล้าน เป็นอย่างไรไม่รู้หล่ะ แต่กลุ่ม ซีพี. ผู้ชนะประมูลโครงการนี้ขอแก้ไขสัญญาใหม่ยกกระบิ จะขอให้รัฐจ่ายเงินก่อสร้างโครงการให้แทน เพราะบริษัทไม่สามารถจะระดมทุนจากสถาบันการเงิน หรือหา Supplier Credit มาลงทุนได้ ส่วนเอกชนผู้รับสัมปทานจะลงทุนระบบรถไฟฟ้ารถไฟความเร็วสูงและรับสัมปทานเดินรถแทน
หน่วยงานรัฐคู่สัญญาทั้งการรถไฟฯ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ก็ตั้งแท่นขานรับก็อย่างพร้อมเพรียง โดยบางประเด็นนั้นมีการเจรจาจนได้ข้อยุติไปแล้วด้วยรอแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้เผลอเมื่อไหร่ คงได้กระเตงเข้าไปให้ความเห็นชอบเมื่อนั้นเท่านั้นแหล่ะ!
เมื่อเทียบกับโครงการแจกเงิน “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่พรรคฝ่ายค้านก้าวไกล แบงก์ชาติ และหน่วยงานตรวจสอบทั้งสามโลกตั้งแท่นคัดค้านและตีโพยตีพายว่า รัฐบาลชุดนี้กำลังจะผลาญเม็ดเงินภาษีสร้างหนี้ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน หรือตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอะไรนั่นแล้ว
อย่างน้อย เงินดิจิทัลวอลเล็ตก็ถูกส่งตรงไปถึงมือประชาชนคนไทยตั้ง 50 ล้านคน จะเอาไปจับจ่ายใช้สอยหรือไม่อย่างไรก็คงอยู่ที่ตัวเอง
แต่ไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินที่กลุ่มทุนยักษ์ ซีพี. กำลังตั้งแท่นรื้อสัญญาสัมปทานกันอยู่นี้ (ที่จริงจ้องรื้อสัญญากันมาตั้งแต่ปีมะโว้ 2-3 ปีมาแล้ว) เป็นการเอาเงินรัฐนับแสนล้านไปประเคนลงทุนให้เอกชนดื้อ ๆ ก่อนยกสัมปทานไปให้เอกชนเดินรถ 50 ปีไปเลย ทั้งเอกชนยังจะได้สิทธิ์เดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์กับสิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ และศรีราชา 100ไร่ มูลค่านับแสนล้านไปก่อน โดยไม่ต้องจ่ายค่าเข่าค่าสิทธิ์ตามสัญญาที่มีด้วยอีก
ไม่เรียกว่า “จับเสือมือเปล่า” ก็ไม่รู้จะให้เรียกว่าอะไรแล้ว ทั้งที่ตอนประมูลโครงการนี้ เงื่อนไขการประมูล TOR และสัญญาที่ลงนามระหว่างกันไม่ได้เป็นแบบนี้
แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าแปลก พลพรรคฝ่ายค้านทั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และก้าวไกล (กก.) หรือบรรดานักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ และ “แสนรู้” ทั้งหลาย และโดยเฉพาะองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT ที่เคยมีบทบาทในการคัดค้านเรื่องนี้กลับ “เงียบเป็นเป่าสาก” ไม่รู้จะให้เข้าใจว่า ยอมศิโรราบให้กับอำนาจนอกระบบกันแบบนี้แล้วหรือไง
อีกหน่อยประมูลโครงการรัฐไม่ต้องคิดอะไรมาก เสนอผลประโยชน์ตอบแทนกันให้สำราก แล้วค่อยมาซูเอี๋ยเจรจาฉีกหรือแก้ไขสัญญากันอย่างไรก็ได้ จริงไม่จริง!!!