ตอนกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ BTSC ดำเนินการเจรจาแก้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียวส่วนต่อขยาย เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ท่วมของ กทม. ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.62
พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคมอยู่ในเวลานั้น ไม่รู้เมากัญชาจนมึนหนักหรือไงไม่ทราบ ถึงพากันดิ้นทุรนทุรายออกโรงขวางจะเป็นจะตายกันซะให้ได้ ด้วยข้ออ้างอัตราค่าโดยสารที่กำหนดไว้สูงสุด 65 บาท (สำหรับการเดินทางตลอดสาย 68 กม.) สูงเกินไป เมื่อเทียบกับอัตราค่าโดยสารที่กระทรวงคมนาคมศึกษาไว้ (ค่าแรกเข้า 15 บาท+ค่าโดยสาร กม.ละ 2 บาท)”
…
งานนี้ทำเอาประชาชนคนกรุงนับสิบล้านเสียโอกาสและเสียประโยชน์ไปโดยสิ้นเชิง เพราะในเงื่อนไขการเจรจาต่อขยายสัมปทาน 30 ปี เพื่อแลกกับหนี้กว่า 1.2 แสนล้านนั้น ไม่เพียงประชาชนผู้โดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียวจะจ่ายค่าโดยสารถูกลงเหลือสูงสุดแค่ 65 บาทตลอดสาย
การโดยสารข้ามโครงข่ายไปยังรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ยังไม่มีการเรียกเก็บหรือคิดค่าธรรมเนียมแรกเข้าซ้ำซ้อนอีกด้วย ยังไม่รวมวงเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทน ตลอดสัญญาสัมปทาน 30 ปีอีกกว่า 200,000 ล้านบาท
แต่เมื่อกระทรวงคมนาคมและพรรค ภท. ตีโพยตีพายดิ้นทุรนทุราย ไม่ยอมให้ กทม. และกระทรวงมหาดไทย ชงเรื่องเข้า ครม.จนทำให้เรื่องต้องคาราคาซังมากระทั่งปัจจุบัน ท้ายที่สุดวันนี้ กทม. ต้องไปเจียดเอางบจากแหล่งอื่นๆ หรือขูดก้นหม้อมาจ่ายหนี้คงค้างที่มีอยู่กับเอกชน โดยที่ กทม. เองก็ชักหน้าไม่ถึงหลัง จนถึงขั้นที่ประกาศจะไม่ลงทุนขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าเพิ่มเติม แต่จะยกให้กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลรับไปดำเนินการแทน
ที่สำคัญวันนี้ไม่เพียงประชาชนคนกรุงต้องเสียโอกาส ต้องจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามสัญญาเดิม โดยหากโดยสารข้ามโครงข่ายระหว่างโครงข่ายเดิมและโครงข่ายส่วนต่อขยายจะต้องจ่ายค่าโดยสารในปัจจุบัน 17-47 บาท + 15 บาท หรือสูงสุด 62 บาทตลอดสาย (และยังต้องปรับเพิ่มขึ้นตามสัญญาในอนาคต)
การโดยสารข้ามโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปยังโครงข่ายรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ยังต้องจ่ายค่าแรกเข้าเหมือนเดิม กลายเป็นทุกข์ซ้ำของประชาชนคนกรุง จนถึงขั้นที่มีผู้นำมาระบายว่อนโลกโซเชียล โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวข้ามโครงข่ายไปยังสายสีชมพูเจอค่าโดยสารข้ามโครงข่ายปาเข้าไปรวมกว่า 90-95 บาท และไม่รู้ในอนาคตจะต้องปรับค่าโดยสารขึ้นอีกสักกี่มากน้อย
ล่าสุดตอนนี้กลุ่มทุน ซีพี. ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) กำลังดิ้นเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงฯ วงเงินลงทุนกว่า 2.24 แสนล้าน ที่ 5 ปี ยังไม่เปิดหวูดก่อสร้างไปสักกิโลเมตรนั้น
โดยการเจรจาแก้ไขสัญญาที่จะมีขึ้นนั้น กล่าวได้ว่าแทบจะฉีกทิ้งเงื่อนไขการประมูล (TOR) เดิม และสัญญาที่ได้ลงนามกันเอาไว้ ทำให้หลายฝ่ายพากันตั้งข้อกังขาแบบนี้ก็ได้หรือ? คือประมูลสัมปทานมาอย่างหนึ่งแล้วค่อยมาเกี้ยเซี๊ยะเจรจาแก้ไขชนิดไม่เหลือเค้าสัญญาเดิมแม้แต่น้อย
ก็ไม่รู้ว่า “มท.1” นายอนุทิน ชาญวีรกุล และพรรคภูมิใจไทย ทำอะไรกันบ้างขอรับ ฯพณฯ ได้แอ่นอกปกป้องผลประโยชน์ประชาชนอะไรกันบ้างไหม ช่วยสาธยายให้ประชาชนคนไทยได้ชื่นสะดือแดสักทีเถอะ
เพราะไอ้ที่ท่านดีดดิ้นจะเป็นจะตายซะให้ได้เพื่อขัดขวางเส้นทางการแก้ไขสัญญาสายสีเขียวในอดีตนั้น ท้ายที่สุดแล้ว กทม. ก็ต้องจ่ายหนี้ให้เขาอยู่ดี โดยหนี้ก้อนแรก 23,000 ล้านบาทนั้น ได้จ่ายไปแล้ว ผ่านความเห็นชอบจากท่าน มท.1 ไปนั่นแหล่ะ ส่วนหนี้ก้อนที่ 2 ก็กำลังจะมีตามมารอคำชี้ขาดของศาลปกครองสูงสุดในชั้นสุดท้ายเท่านั้น
จะไปคาดหวังให้รอ พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ที่นัยว่าจะเป็นไม้เด็ดของกระทรวงคมนาคมในการแก้ไขปัญหาค่าแรกเข้าและการโดยสารข้ามโครงข่ายรถไฟฟ้า และจะทำให้นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเป็นจริงได้นั้น พวกท่านเพ้อพกหรือเมากัญชากันหรืออย่างไร จึงมั่นใจว่าพอมีกฎหมายนี้มาแล้วทุกอย่างจะแก้ไขได้หมด
จะไปแตะสัมปทานอะไรเขาได้หรือ?