กสทช. องค์กรอิสระที่มีจำนวนบอร์ด 7 คน คือ หน่วยงานกุมงบประมาณรายจ่ายประจำปี สำหรับใช้แจกจ่าย-อุดหนุนโครงการต่างๆ วงเงินรวมกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี โดยงบประมาณส่วนนี้ เรียกว่า “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “กองทุนยูโซ่ (USO)”
…
งบฯ แต่ละปีของกองทุน USO ยังมากกว่าของหน่วยงานขนาดใหญ่ระดับกระทรวง อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 กระทรวง โดยจากข้อมูลสำนักงบประมาณ พบว่า 5 อันดับกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุด ได้แก่.. 1. กระทรวงวัฒนธรรม 7,016 ล้านบาท 2. กระทรวงพาณิชย์ 6,822 ล้านบาท 3. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 5,591 ล้านบาท 4. กระทรวงอุตสาหกรรม 4,559 ล้านบาท และ 5. กระทรวงพลังงาน 2,834 ล้านบาท
จากเอกสารรายงานผลการปฏิบัติงาน กสทช. ประจำปี 2566 กองทุนฯ มีจำนวนเงินคงเหลือกว่า 56,000 ล้านบาท และมีรายได้ในส่วนเงินสมทบจากผู้ได้รับใบอนุญาตฯ รวมกว่า 7,600 ล้านบาท
รายงานวิจัยเรื่อง “จับตางบ USO กสทช. : 8 พันล้านบาท กับการใช้เงินนอกเหนือภารกิจหลัก” ซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ระบุว่า จากข้อมูลอย่างเป็นทางการของสำนักงาน กสทช. นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา กสทช. ได้จัดทำแผนงาน USO มาแล้วทั้งหมด 3 ฉบับ และในปัจจุบันกำลังดำเนินการร่างแผนฉบับที่ 4
โดยแผน USO ฉบับที่ 1 ปี 2555-2559 มีกรอบงบประมาณ 20,468 ล้านบาท , แผน USO ฉบับที่ 2 ปี 2560-2564 มีกรอบงบประมาณ 45,456 ล้านบาท , แผน USO ฉบับที่ 3 ปี 2565 มีกรอบงบประมาณ 8,000 ล้านบาท และแผน USO ฉบับที่ 4 ปี 2566 มีกรอบงบประมาณ 8,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากรายงานวิจัยเรื่อง “การจัดสรรเงินทุนและธรรมาภิบาลของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)” จัดทำภายใต้ความร่วมมือระหว่างสภาองค์กรของผู้บริโภค และ The101.world ซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อต้นปี 2566 พบว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลการจัดสรรเงินทุนของ กทปส. โดยจำแนกตามพันธกิจสาธารณะ ในมาตรา 52 ระหว่างปี 2561-2564 พบว่า ได้มีการจัดสรรงบประมาณมากกว่า 17,580 ล้านบาท ให้กับ 366 โครงการ
โดยพันธกิจที่ได้รับงบประมาณสูงสุด คือ การสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึงและส่งเสริมผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน (วงเงิน 9,907 ล้านบาท) รองลงมาคือ การสนับสนุนการใช้ความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพ (วงเงิน 3,683 ล้านบาท) ตามมาด้วย การพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส (วงเงิน 1,933 ล้านบาท) ส่วนลำดับท้ายสุด คือ การจัดสรรงบสำหรับ 52(4) เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (42 ล้านบาท)
ขณะเดียวกันตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา มีหลายเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจัดสรรเงินทุนที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในกฎหมาย และถูกตั้งคําถามถึงความโปร่งใสของกระบวนการให้ทุน ตัวอย่างที่โด่งดังมาก ก็คือ การอนุมัติกรอบงบประมาณสนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก (FIFA World Cup 2022) ที่กาตาร์ (รอบสุดท้าย) เป็นเงิน 600 ล้าน บาท ให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)
โดยประธาน กสทช. นำทีมเสียงข้างมาก “อ้างว่า” เป็นการดําเนินการตามมาตรา 52 (1) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการเนื้อหาได้อย่างทั่วถึง รวมถึงอ้างมาตรา 36 และมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ พ.ศ. 2551 เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงรายการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาค
ทว่า ข้ออ้างดังกล่าวถูกองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงคณะกรรมการ กสทช. เสียงข้างน้อย วิจารณ์ว่า การให้เงินสนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกไม่เข้าข่ายตามข้อกล่าวอ้างดังกล่าว
ผลการศึกษาในรายงานวิจัยฉบับนี้ ระบุด้วยว่า ยังมีอีกหลายโครงการที่ได้รับทุนจาก กทปส. ไม่ตรงวัตถุประสงค์กองทุนฯ อีกทั้งอาจมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาล เช่น อนุมัติทุนสนับสนุนโครงการก่อสร้างอาคาร โครงการที่เน้นนำเงินไปจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์มากกว่ามุ่งงานวิจัยและพัฒนา การประกวดร้องเพลง รวมถึงบางโครงการที่เอื้อวัตถุประสงค์เฉพาะของหน่วยงานผู้ขอรับทุนเป็นหลักมากกว่า “เพื่อประโยชน์สาธารณะ” เป็นต้น
กองทุน USO ส่อแวว “ทิ้ง” พื้นที่ชนบท-ผู้มีรายได้น้อยไว้ข้างหลัง!
จากข้อมูลในรายงานวิจัยเรื่อง “จับตางบ USO กสทช. : 8 พันล้านบาทฯ” ยังตีแผ่ข้อมูลที่ “น่าเป็นห่วง” ว่า กสทช. กำลังเริ่มหลงลืม Keywords สำคัญของกองทุน กทปส. นี้ คือคำว่า “เพื่อประโยชน์สาธารณะ” และหนึ่งในภารกิจหลักของ กสทช. ที่มีหน้าที่จัดให้มีบริการโทรคมนาคพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation : USO) โดยพิจารณาจากการจัดสรรเงินในกองทุนฯ ที่เริ่ม “ไกลห่าง” จากพื้นที่ชนบท และกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบ “สัดส่วน” การจัดสรรงบประมาณในแผนงาน USO ฉบับที่ 1-3 พบว่า แผนฉบับที่ 1 มีสัดส่วนการจัดสรรงบฯ ร้อยละ 93 ไปยังพื้นที่ชนบท-ผู้มีรายได้น้อย และร้อยละ 7 ไปที่คนพิการ
ขณะที่แผนฉบับที่ 2 ซึ่งเริ่มใช้ในปี 2560 สัดส่วนการจัดสรรงบฯ ไปให้โครงการที่มุ่งส่งเสริมประโยชน์ให้พื้นที่ชนบท-ผู้มีรายได้น้อย ลดลงเหลือ ร้อยละ 48 และคนพิการ เหลือร้อยละ 2 โดยมีผู้ได้รับทุนกลุ่มใหม่เข้ามา คือ หน่วยงานรัฐ (เช่น โรงเรียน/โรงพยาบาล) ชิงงบไปในสัดส่วนร้อยละ 24 ตามมาด้วยภาคสังคมและประโยชน์สาธารณะ ร้อยละ 23 และการพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ร้อยละ 3
จากนั้นกลุ่มเป้าหมายในส่วนของพื้นที่ชนบท และผู้มีรายได้น้อย “ถูกทอดทิ้ง” อย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่แผนงาน USO ฉบับที่ 3 (ปี 2565) โดยครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 4,000 ล้านบาทของงบประมาณทั้งหมด เป็นการสนับสนุนระบบโทรคมนาคมด้านสาธารณสุข ซึ่ง กสทช. เสนอให้ใช้อุดหนุนบริการบรอดแบนด์ ระบบคลาวด์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลรัฐ ที่เหลือแบ่งเป็น ร้อยละ 37.5 เป็นงบสำหรับระบบโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะและความมั่นคง แต่ตัดทิ้งงบในหมวดโครงการขยายบริการโทรคมนาคมแก่สังคมโดยตรง เหลืออีกร้อยละ 12.5 เป็นงบบริการโทรคมนาคมเพื่อคนพิการ
สำหรับร่างแผน USO ฉบับที่ 4 (ปี 2566) ก็ยังมีการจัดสรรงบสนับสนุนแก่หน่วยงานรัฐ มากกว่าการขยายบริการโทรคมนาคมเพื่อสังคม โดยงบเกินครี่ง เป็นการสนับสนุนบริการโทรคมนาคมเพื่อบริการศึกษา สาธารณสุข และความมั่นคง ส่วนที่เหลือร้อยละ 25 เพื่อประโยชน์สาธารณะ ร้อยละ 12.5 เป็นบริการโทรคมนาคมเพื่อคนพิการ และจัดสรรงบ ร้อยละ 5 สำหรับใช้จ่ายการติดตามและประเมินผลโครงการ
การเปิดเผยข้อมูล : ปกปิด หรือลืมอัปเดทบนเว็บไซต์ กสทช.?
ทั้งนี้ มาตรา 55 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ระบุว่า “ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดสรรเงินกองทุนและการดําเนินการตามวรรคหนึ่งให้ประชาชน ทราบผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของสํานักงาน กสทช. โดยต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่ขอและผู้ที่ได้รับ การจัดสรรจากกองทุนและจํานวนเงินที่ได้รับการจัดสรรทั้งหมดด้วย”
จากการตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ btfc.nbtc.go.th (เว็บไซต์หลักของ กทปส.) ภายใต้หัวข้อ ผลการจัดสรรทุน (https://btfp.nbtc.go.th/MoneyAllocation.aspx) และผลงานกองทุน (https://btfp.nbtc.go.th/portfolio.aspx) พบว่าเว็บไซต์ของ กทปส. ยังเปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วน ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากทุนประเภท 3 หรือทุนที่ กสทช. ประกาศ กําหนด พบว่ามีการเปิดเผยเพียง 3 โครงการ ทั้งที่มีการให้ทุน 93 โครงการ ระหว่างปี 2561-2564 หรือผลงานกองทุน หัวข้อประเภทของทุน “USO” พบการเผยแพร่ข้อมูลแค่ 15 โครงการ (ระหว่างปี 2558-2564) เป็นต้น