วันก่อนสภาผู้บริโภคได้จัดเวทีเสวนา “เปิดกฎหมาย : ประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติหรือไม่” ระดมนักวิชาการเข้ามาถกกันเข้มข้นเพื่อไขความกระจ่างประเด็นข้อถกเถียงของสังคม ในกรณีศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขาดคุณสมบัติหรือไม่?
…
จากการที่เจ้าตัวยังคงดำเนินการรักษาผู้ป่วยใน รพ.รามาธิบดี ซึ่งเข้าลักษณะ “ต้องห้าม” ตามมาตรา 8(2) พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ที่ระบุว่า “ต้องไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ...” และผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. ต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้าง หรือพนักงานของหน่วยงานรัฐภายใน 15 วัน ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ หรือ พ.ร.บ.กสทช.ด้วย
โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มธ. ที่เห็นว่า เอกสารของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ส่งให้ กมธ.ไอซีที วุฒิสภา ยังคงสร้างความคลุมเครือให้แก่สังคมหลายประเด็น ทั้งประเด็นที่มหาวิทยาลัยมหิดลชี้แจงว่า ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม.2564 จนถึงวันที่ 1 เมษายน 65 นพ.สรณ ยังคงมีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 12 เมษายน 65 มีสถานะเป็นแพทย์ค่าตอบแทนรายชั่วโมง
ก่อให้เกิดคำถามว่าในช่วงเวลาดังกล่าว นพ.สรณ ยังคงเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือไม่ เพราะ นพ.สรณ ได้รับการสรรหาและโหวตจากที่ประชุมวุฒิสภาให้เป็นกรรมการ กสทช. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 64 หากนับระยะเวลา 15 วันที่ต้องลาออกจากทุกตำแหน่งเพื่อมาปฏิบัติหน้าที่ กสทช. เต็มเวลา จะครบกำหนดภายในวันที่ 4 มกราคม 2565 ซึ่ง นพ.สรณ ควรจะได้แสดงหลักฐานว่า ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว
แต่หลักฐานที่ได้มา และจากหนังสือชี้แจงของมหาวิทยาลัยมหิดลเองกลับระบุว่า นพ.สรณ ได้ลาออกวันที่ 8 มกราคม 2565 ซึ่งหากมีการตีความโดยนับเอาวันหยุดเข้าไปด้วยก็อาจมองได้ว่า ยังอยู่ในช่วงเวลา 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด แต่ประเด็นการเป็นแพทย์ค่าตอบแทนรายชั่วโมงหลังจากนั้น ก็ก่อให้เกิดคำถามตามมาอีกว่า นพ.สรณ ยังคงเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัยมหิดลใช่หรือไม่
ซึ่งประเด็นนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของคำว่าลูกจ้างไว้ว่า “ผู้รับจ้างทำการงานผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไร โดยมิคำนึงถึงว่าจะมีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง สินจ้าง หรือค่าตอบแทนในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น
“ยกตัวอย่างกรณี นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร และได้รับเพียงค่ารถสำหรับการมาทำงานเท่านั้น สุดท้ายต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็นค่าจ้าง ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ที่ระบุว่า ห้ามนายกฯ มีตำแหน่งใด ๆ ในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร กรณีของนพ.สรณ นั้น หากเข้าข่ายการเป็นลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ ควรที่จะถือกติกาและข้อบังคับต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เช่นเดียวกับกรณีอื่น ๆ”
ขณะที่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และโทรคมนาคม (กมธ.ไอซีที) วุฒิสภา ได้จัดทำรายงานผลตรวจสอบคุณสมบัติของ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ โดยระบุว่า เป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการ กสทช. พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะให้ประธานวุฒิสภาจัดทำความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลให้ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ พ้นจากตำแหน่ง
ในรายงานของ กมธ.ไอซีที นั้น ระบุอย่างชัดเจนว่า ข้อเท็จจริงที่ได้ตรวจสอบ ประกอบหนังสือตอบยืนยันจากสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ ยังทำหน้าที่รักษาผู้ป่วย โดยมีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และเป็นแพทย์ที่รับค่าตอบแทนรายชั่วโมง อันมีสถานะเป็น “ลูกจ้างชั่วคราว” ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล มีผลทำให้ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติขัดต่อกฎหมายตามมาตรา 8 (2) และ (3) แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553
นอกจากนี้ การที่ศาสตราจารย์ นพ.สรณ ยินยอมให้ธนาคารกรุงเทพเสนอชื่อเพื่อขอความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการเป็นกรรมการของธนาคารกรุงเทพ และยินยอมให้เสนอชื่อต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของธนาคารเพื่อให้ผู้ถือหุ้น เลือกเป็นกรรมการนั้น มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 18 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ต้องลาออกจากทุกตำแหน่ง รวมทั้งต้องเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นใดที่มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ขัดแย้ง
กรณีหลังนี้ ยังมีหลักฐานรายงานการประชุม กสทช. ครั้งที่ 9/2565 วันที่ 27 เมษายน 65 ที่ศาสตราจารย์ นพ.สรณฯ ในฐานะประธาน กสทช. ได้เสนอให้ที่ประชุมมีมติรับทราบ และมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นที่ประธาน กสทช. จะรับตำแหน่งเป็น “กรรมการอิสระ” ของธนาคารกรุงเทพด้วยได้หรือไม่?
สะท้อนให้เห็นว่า การเป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพ มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ความเห็นชอบให้เป็นกรรมการธนาคารแล้ว การที่ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณฯ มิได้ลาออกจากการเป็นกรรมการอิสระของธนาคาร และยังได้มีความพยายามที่จะขอดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระของธนาคารไปพร้อม จึงเป็นการฝ่าฝืนและขัดต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และยังฝ่าฝืนมาตรา 18 ที่กำหนดให้ต้องลาออกจากทุกตำแหน่ง รวมทั้งต้องเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ อิสระอื่น หลังจากได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการ กสทช. อีกด้วย
กมธ.ไอซีที เห็นว่า ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ เป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 7 ข. (12) มาตรา 8 มาตรา 18 มาตรา 20 และมาตรา 26 จึงเสนอความเห็นเพื่อประธานวุฒิสภา ได้จัดทำความเห็นนำเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้ประธาน กสทช. พ้นจากตำแหน่งต่อไป
ส่วนแนวทางในการดำเนินการกับประธาน กสทช. ที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่า ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 18 และมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.กสทช.นั้น ทาง กมธ. ระบุว่า ถือเป็นกรณีแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 18 และมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 20
ซึ่งกรณีปกติ หากเป็นการขาดคุณสมบัติตามมาตรา 18 ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ์ หรือไม่มีสิทธิ์มาตั้งแต่แรก เสมือนไม่เคยได้รับการโหวตให้เป็น กสทช. มาก่อน วุฒิสภาจะต้องดำเนินการสรรหาใหม่ แต่กรณีที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 20 นั้น นายกรัฐมนตรีจะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อให้มีพระบรมราชโองการให้พ้นตำแหน่ง
ทาง กมธ.จึงเห็นว่า ในชั้นนี้เลขาธิการวุฒิสภาโดยความเห็นชอบของประธานวุฒิสภาควรมีหนังสือแจ้งกรรมการ กสทช. รวมทั้ง ศ.นพ.สรณ ถึงการขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามข้างต้น โดย ศ.นพ.สรณ จำเป็นต้องยอมรับการพ้นจากตำแหน่งจากเหตุข้างต้น โดยต้องถือว่าไม่ได้เป็น กสทช. สายคุ้มครองผู้บริโภคมาตั้งแต่ต้น แต่เนื่องจากกรณีดังกล่าวได้ล่วงเลยไปถึงขั้นที่ ศ.นพ.สรณ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธาน กสทช. และได้ปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว ประธานวุฒิสภาจึงควรเร่งจัดทำความเห็นเพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลโดยไว เพื่อมิให้มีการนำพระราชอำนาจไปใช้ในทางมิชอบ
ชัดเจนเสียขนาดนี้ ก็ไม่รู้ว่าเจ้าตัวจะยังคงดั้นเมฆยืนยันว่า ตนเองยังคงมีคุณสมบัติครบถ้วน ใครหน้าไหนก็ไม่สามารถจะปลดตนพ้นตำแหน่งได้อีกหรือ?