ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ สทช 1001/23493 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อขอให้ระงับยับยั้ง และตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของประธานคณะกรรมาธิการ และคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม วุฒิสภา (กมธ.ไอซีที) กรณีจัดทำรายงานการตรวจสอบคุณสมบัติของประธาน กสทช. ว่า ขัดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม ทั้งยังขอให้ประธานวุฒิสภาเร่งจัดทำข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าให้ตนพ้นจากตำแหน่งด้วย โดยระบุว่ารายงานของ กมธ.ไอซีที ทำให้ตนได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง
*ตอบโต้รายงาน กมธ.ไอซีที ดุเดือด
พร้อมกันนี้ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ ยังได้ตอบโต้รายงานของ กมธ.ข้างต้น โดยระบุว่า การที่ กมธ.ไอซีที แต่งตั้งคณะอนุ กมธ.ไอซีที เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อร้องเรียนในเรื่องคุณสมบัติของประธาน กสทช. เป็นการดำเนินการที่ขัดข้อบังคับของการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ข้อ 78(17) ที่กำหนดให้ กมธ.ไอซีที มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร การสื่อสารสาธารณะ และการโทรคมนาคม ไม่ได้รวมไปถึงบุคคลหรือคุณสมบัติของบุคคลแต่อย่างใด
“การตีความของ กมธ.ไอซีที ต่อการรับเรื่องร้องเรียนเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติประธาน กสทช. เป็นการจงใจขยายอำนาจหน้าที่ของตนเองก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการ ข้อ 81 โดยมิชอบ”
*ยันเป็นแค่แพทย์อาสา ไม่ใช่ลูกจ้างรัฐ
ส่วนการที่ กมธ. สรุปผลตรวจสอบการที่ตนยังคงทำหน้าที่แพทย์ตรวจรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยทาลัยมหิดล ทำให้มีสถานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย ขัดมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 นั้น ทาง กมธ.อ้างข้อเท็จจริงเพียงข้อมูลว่า ตนยังคงประกอบวิชาชีพแพทย์อยู่ รพ.รามาธิบดี แม้ไม่ได้ใช้เวลาราชการ ทั้งที่ปรากฎข้อเท็จจริงชัดเจนอยู่แล้วว่า ตนเองปฏิบัติหน้าที่อาจารย์แพทย์อาสาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน จึงไม่มีสถานะเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของโรงพยาบาลตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธาน กสทช.
“ข้อสรุปของ กมธ. จึงเป็นการสรุปที่บิดเบือน ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งในข้อเท็จจริงนั้นตนได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2565 และได้แสดงหลักฐานต่อประธานวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 นอกจากนั้นยังได้ลาออกจากทุกตำแหน่งและเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอื่นใดที่มีส่วนได้เสีย หรือมีผลประโยชน์ขัดแย้ง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อม กับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการ กสทช. ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่ได้ตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธาน กสทช.แล้ว"
*โต้เป็นกรรมการอิสระแบงก์กรุงทพฯ ไม่ผิด กม.
ส่วนกรณีที่ กมธ.ระบุว่า การที่ตนยินยอมให้ธนาคารกรุงเทพนำเสนอรายชื่อต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการธนาคาร อันมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ นั้น ข้อสรุปของ กมธ.ข้างต้นแสดงให้เห็นถึงเจตนาไม่สุจริต มีอคติ บิดเบือน เพื่อยัดเยียดความผิดให้กับตนเอง
ทั้งที่ในมาตรา 18 กำหนดให้ลาออกจาก (1) ความเป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ (2) ความเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราขการส่วนท้องถิ่น และไม่เป็นกรรมการ หรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ และ (3) ไม่ประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพอิสระอื่นใดที่มีส่วนได้เสีย หรือมีผลประโยชน์ขัดแย้ง ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเลิกประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพอิสระอื่นหลังจากได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว
และการเป็นกรรมการของธนาคารกรุงเทพไม่ใช่เป็นการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นตาม (3) อีกทั้งธนาคารไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐตาม (2) แต่ไม่ว่าอย่างไรตนเองได้ปฏิเสธการดำรงตำแหน่ง และไม่เคยปฏิบัติงานเป็นกรรมการของธนาคารแต่อย่างใด แต่ กมธ.กลับจงใจที่จะบิดเบือนสรุปข้อกล่าวหาว่าตนกระทำผิดฝ่าฝืนมาตรา 18 จึงเป็นการขยายการตีความโดยไม่สุจริต
*วงในชี้ "กก.ธนาคาร" คือใบเสร็จตอบรับ
ขณะที่วงการสื่อสารโทรคมนาคมระบุว่า การที่ประธาน กสทช. ออกมาตอบโต้รายงาน กมธ. โดยอ้างว่า ไม่มีอำนาจจะล้วงลูกเข้ามาตรวจอสบตัวบุคคล หรือคุณสมบัติของตัวบุคคลนั้น น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะในรายงาน กมธ.ไอซีทีนั้น ระบุชัดเจนว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้มีหนังสือยืนยันว่าประธานวุฒิสภาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า หนังสือร้องเรียนดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่และอำนาจในการรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะ จึงให้ส่งหนังสือไปยัง กมธ.ไอซีที เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
และการที่ประธาน กสทช. ออกมายอมรับว่า การที่ตนเองยินยอมให้ธนาคารกรุงเทพเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ หรือกรรมการอิสระของแบงก์กรุงเทพ ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย เพราะไม่ถือเป็นการประกอบอาชีพ หรือใช้วิชาชีพ และธนาคารกรุงเทพไม่ถือเป็นหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ จึงไม่เป็นการดำเนินการฝ่าฝืนมาตรา 18 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ
แต่สิ่งที่ประธาน กสทช. คงลืมไป ก็คือ แบงก์กรุงเทพนั้นเป็นสถาบันการเงินที่ดำเนินกิจการครอบจักรวาล ทั้งยังมีการออกเอกสารแบงก์การันตีในโครงการที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. มากมาย ย่อมต้องถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับ กสทช. ด้วย และในอดีตนั้นถึงกับเคยมีมติ ครม. ห้ามหน่วยงานรัฐวิสาหกิจตั้งนายแบงก์เข้ามาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจด้วยซ้ำ
*อัด กมธ.ไอซีที จ้องสอยประธาน กสทช.
ประธาน กสทช. ยังระบุด้วยว่า ข้อสรุปของ กมธ.ไอซีที ที่เห็นว่าตนเองเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 7 ข.(12) มาตรา 8 มาตรา 18 มาตรา 20 และมาตรา 28 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือหลักฐานใด ๆ ว่า ตนเองปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลา นับแต่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง จึงเป็นการกล่าวหาอย่างเลื่อนลอย
"ประเด็นสำคัญ คณะกรรมาธิการฯ ได้ดำเนินการข้างต้น โดยไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมาธิการฯ ในการตรวจสอบคุณสมบัติของข้าพเจ้าในลักษณะที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่เสมือนศาล หรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา หรือผู้ใช้ฎหมายที่มีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน พิจารณาวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ แล้วเสนอให้ประธานวุฒิสภาจัดทำข้อเสนอเพื่อกราบเรียนนายกรัฐมนตรีให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อให้มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง โดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการนำความเท็จขึ้นกราบบังคมทูล อันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงจนมิอาจแก้ไขได้”