นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ถึงปัจจุบัน จีนมีการแจ้งเตือนพบทุเรียนที่ส่งออกจากไทยปนเปื้อนแคดเมียมมา 6 ครั้ง จำนวน 16 ชิปเมนต์ จากโรงคัดบรรจุ 12 ราย แหล่งผลิต จำนวน 15 สวน
กรมวิชาการเกษตรได้สั่งระงับการส่งออกทันที ทั้งในส่วนของโรงคัดบรรจุและสวน พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างทุเรียน ดิน น้ำ ปัจจัยการผลิต เพื่อหาการปนเปื้อน จากผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบมีตัวอย่างปนเปื้อน แต่ไม่เกินมาตรฐานที่จีนกำหนด
ทั้งนี้ เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ส่งออกทุเรียนระหว่างวันที่ 2-16 ก.ย. 2567 นำตัวอย่างทุเรียน 5 ลูกต่อชิปเมนต์ มาตรวจการปนเปื้อนแคดเมียม ซึ่งจีนกำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยผู้ส่งออกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองในอัตรา 800-1,200 บาท รวมค่าขนส่ง
สำหรับ จ.ชุมพร ได้ประสานตลาดมรกต ซึ่งเป็นตลาดกลางผลไม้ เป็นจุดรับตัวอย่าง ส่วนจังหวัดอื่นๆ เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สามารถนำตัวอย่างไปตรวจสอบได้ตามห้องปฏิบัติการ 6 แห่งที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO พร้อมยืนยันว่า แม้จีนจะแจ้งเตือนพบแคดเมียม แต่ยังไม่ได้ระงับการนำเข้าทุเรียนจากไทย
มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า เชื่อว่า ทุเรียนที่เจ้าหน้าที่จีนตรวจพบการปนเปื้อนนั้น ไม่น่าจะเป็นทุเรียนที่ปลูกในไทย เพราะเกษตรกร-ล้งส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและตระหนักถึงการทำทุเรียนคุณภาพ เพราะหากตรวจพบสารตกค้างจะกระทบการส่งออก และความเชื่อมั่นผู้บริโภค
จึงมีคำถามชวนสงสัยว่า ทุเรียนที่ตรวจพบสารแคดเมี่ยม เป็นทุเรียนมาจากไหน มีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทย แล้วส่งออกไปขายจีนหรือไม่ ถ้าจริงต้องไล่เบี้ยหาคนทำผิดมาลงโทษ โดยเฉพาะคนขายทุเรียนล็อตเจ้าปัญหานี้ รวมถึงล้งที่รับซื้อ อย่าปล่อยให้ลอยนวลไปสร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงของทุเรียนไทย
อนึ่ง กรมวิชาการเกษตรแจ้งว่า สถิติส่งออกทุเรียนไปจีน ตั้งแต่ 1 มกราคม - 28 สิงหาคม 2567 มีปริมาณสะสม 45,489 ตู้/ชิปเมนท์ รวมน้ำหนักทุเรียนกว่า 716,342 ตัน มูลค่า 95,115.90 ล้านบาท