สภาทนายความฯ เผย เอกชนยื่นคำคัดค้าน ชี้ชาวบ้านไม่มีอำนาจฟ้อง อ้างไม่ได้มีส่วนทำให้ปลาหมอคางดำแพร่ระบาด เตรียมเดินหน้าช่วยเหลือชาวประมงใน 19 จังหวัดที่พบการระบาด ยื่นฟ้องคดีเพิ่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 67 ตัวแทนชาวบ้าน จ.สมุทรสงคราม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เดินทางมาที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อเข้ารับฟังการไต่สวนว่าจะรับฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือไม่ หลังจากตัวแทนชาวบ้านนำโดย ปัญญา โตกทอง กับพวกรวม 10 คน ฟ้อง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด มหาชน หรือ (CPF) จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 9 คน ด้วยข้อกล่าวหา การละเมิดสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ศาลได้เลื่อนนัดไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 21, 24 และ 31 มกราคม 2568 เนื่องจากจำเลยยื่นคัดค้าน
จรุงศักดิ์ ชะโกฏิ ประธานคณะทำงานคดีขอความช่วยเหลือกรณีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปลาหมอคางดำ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงประเด็นที่จำเลยยื่นคัดค้าน คือ จำเลยอ้างชาวบ้านไม่มีอำนาจฟ้อง, จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีส่วนทำให้ปลาหมอคางดำแพร่ระบาด และ ระบุว่า ชาวบ้านสามารถฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ ด้วยเหตุที่ว่าบางคนไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมประมง ซึ่งในประเด็นนี้ทนายยืนยันว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ทำอาชีพประมงพื้นบ้าน และมีสิทธิที่จะฟ้องร้องในคดีนี้
ขณะที่การดำเนินคดีแบบกลุ่มกรณีปลาหมอคางดำในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม เป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการ ขาดรายได้ในอาชีพประมงเพาะเลี้ยง ประมงพื้นบ้าน และจากการถูกละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์จาก ทรัพยากรธรรมชาติ และขอให้บริษัทเอกชนแก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปให้กลับสู่สภาพเดิม ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ตามหลัก “ผู้ก่อ คือ ผู้จ่าย”
ปัญญา โตกทอง ตัวแทนผู้ร้อง บอกว่า ไม่รู้สึกกังวลใจเพราะจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏและจากที่สื่อมวลชนได้รายงาน เชื่อว่า ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว ส่วนกรณีที่ทางหน่วยงานรัฐพยายามเข้าไปแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ สถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้น ปลาหมอคางดำยังมีจำนวนมากเช่นเดิม เพราะหากปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำไม่หมด ในบ่อของชาวบ้านก็ไม่มีวันหมด เพราะจุดเริ่มต้นมาจากในคลอง จากลำน้ำสาธารณะ ส่วนกรณีประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ทาง จ.สมุทรสงคราม ยังไม่ดำเนินการอะไร การเยียวยาก็ยังไม่เคยเกิดขึ้น
เครดิต : https://theactive.net/