โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ที่คนไทยทั้งประเทศจะได้ใช้สิทธิของตน เลือกบุคคลที่จะเข้าไปบริหารประเทศ พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ระดมเทความคิด สร้างเคมเปญ ด้านเศรษฐกิจ เพื่อแย่งคะแนนเสียงจากประชาชน
เริ่มที่ พรรคประชาธิปัตย์ “กรณ์ จาติกวณิช” รองหัวหน้าพรรคและประธานกรรมการนโยบายพรรค รวมทั้งเป็นคีย์แมนเศรษฐกิจคนสำคัญ ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ชูนโยบายที่มาของเงินและการปฎิรูปภาษี ทำการบ้านด้วยการคำนวณประมาณการงบประมาณปี 2563 อย่างละเอียด สรุปว่ามีเงินพอที่จะทำตามวินัยทางการคลัง และกฎหมายหนี้สาธารณะ แถมท้ายด้วยว่า “เอาเงินมาจากไหน”
ย้ำแนวทางไม่ลดภาษีมหาเศรษฐีทุกประเภทและจะเก็บรายได้ภาษีเพิ่มจากเศรษฐีที่ดิน-เศรษฐีทรัพย์สิน-เศรษฐีหุ้น รวมทั้งมีมาตรการเก็บภาษีจากทุนผูกขาดที่ได้เปรียบด้วยใบอนุญาติพิเศษและสัมปทานจากรัฐ ประกาศนโยบายดูแลภาษีของคนรายได้ปานกลาง ที่ปัจจุบันแบกรับภาษีมากเกินไป เสนอวิธีการปรับลด ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากอัตราเดิมลง 20% (เช่นจากอัตราเดิม 20% เป็น 16%) แต่จะไม่ลดในส่วนของคนรวยขั้นบนสุด และจะคงสิทธิการหักลดหย่อนภาษี สนับสนุนออมรองรับวัยเกษียณในตลาดทุนผ่าน RMF และปรับปรุงเกณฑ์ LT รวมไปถึง ผู้ประกอบการ SME ที่ได้ผลกระทบหนักจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน จะได้รับการดูแลด้วยการปรับลดภาษีนิติบุคคลลงเหลือ 10%
พรรคพลังประชารัฐ ที่ปัจจุบันยังมีแต้มต่อทางการเมือง โฆษกพรรคพลังประชารัฐ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ก็ใจป้ำระบุว่า พรรคเสนอให้ลดภาษี บุคคลธรรมดาลงทุกระดับขั้น ร้อยละ 10 เช่น จากที่เคยจ่ายสูงสุด ร้อยละ 30 ก็จะเหลือร้อยละ 20 ใครจ่ายสูงสุดร้อยละ 20 ก็จ่ายร้อยละ 10 โดยมีอัตราขั้นต่ำที่ร้อยละ 5 และผู้ที่มีราย ได้สุทธิต่ำกว่า 1.5 แสนบาทลงมา ไม่ต้องจ่ายภาษี ส่งผลให้ประชาชนที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือนไม่ต้องเสียภาษี
เสนอแผนขยายฐานภาษี โดยการสร้างผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี (SMEs) ทั้งประเทศจาก 3ล้านรายให้เป็น 5 ล้านราย ซึ่งจะช่วยขยายฐานภาษีและปฎิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบให้เกิดประสิทธิภาพ ลดช่องโหว่ สะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจปัจจุบัน เพื่อมาชดเชย รายได้ที่หายไป เสนอยกเว้นภาษีพ่อค้าแม่ค้าออน์ไลน์ในช่วง 2 ปีแรก ผู้จบการศึกษาเริ่มทำงาน ก็จะยกเว้นภาษี 5 ปีแรกนับจากวันเริ่มทำงาน
“พรรคเพื่อไทย” ชูแคมเปญปรับหนี้ เติมเงิน ลดภาษี สร้างเศรษฐีใหม่ 1.ปรับโครงสร้างหนี้ครั้งใหญ่ให้ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง SME รวมทั้งหนี้ของประชาชนตัวเล็ก ครูและนักศึกษา และพักหนี้เกษตรกร 3 ปี 2.เติมเงินเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ อาทิ ปรับเงินเดือนปริญญาตรี ขึ้นเพราะเงินเดือนพนักงานไม่ได้ขึ้นมากว่า 7 ปีแล้ว ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยขึ้นเป็นขั้นเป็นตอนและมีมาตรการที่ช่วยนายจ้างไม่ให้ได้รับผลกระทบ เพราะค่าแรงขณะนี้ต่ำกว่ารายจ่าย ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มทุกตัว ข้าว 12,000 บาทต่อเกวียน ยาง 60 บาทต่อ กิโลกรัม อ้อย 1000 บาทต่อตัน 3.ลดภาษี อาทิ ลดภาษีน้ำมัน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพ ลดภาษีเงินได้ของธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ให้สิทธิพิเศษนอก EEC กับ SMEออนไลน์และ Start Up เพิ่มรายได้ให้ประชาชนตัวเล็ก เพื่อเพิ่มกำลังซื้อของประเทศ ยกเศรษฐกิจทั้งฐาน เมื่อคนตัวเล็กมีกำลังซื้อ ร้านขายสินค้าก็คึกคักขายดี เจ้าของโรงงานก็ไม่เจ๊ง
“พรรคอนาคตใหม่” เน้นในเรื่องของการปรับรัฐสวัสดิการ ที่จะต้องใช้เงินถึง 650,000 ล้านบาท โดยเงินจะนำมาจาก 1.จากของเดิมที่มีอยู่ 2.ลดงบกลาโหม 30% 3.กองทุนสวัสดิการแห่งรัฐ 4.ลดสิทธิประโยชน์ BOI 5.ลดสิทธิการลดหย่อนภาษีบางส่วน 6.ลดงบประจำและงบกลาง 7.ขึ้นภาษีที่ดิน 8.เอาหวยขึ้นมาไว้บนดิน
นโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคการเมืองที่เจาะเข้าไปในหัวใจของผู้คนด้านภาษี ที่เห็นชัดเจนมีเพียงสองพรรค คือพลังประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ ที่ประกาศจะรื้อโครงสร้างภาษีและเห็นใจคนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น
นอกนั้นก็เป็นเพียงการ”หยอดคำหวาน”เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิ ได้หลงเชื่อและจับต้องได้ยาก โดยเฉพาะการเสนอเก็บภาษีคนรวยของพรรคประชาธิปัตย์ที่ประวัติก่อนหน้านี้ พูดจริงแต่ไม่เคยทำจริง ทุกพรรคเสนอแนวทางที่จะใช้เงิน แต่ไม่เคยเสนอแนวทางที่จะหาเงิน ปล่อยให้ภาระหนี้สินของประเทศ กลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะต้องแบกรับกัน
เหมือนรัฐบาลเฉพาะกิจที่ใช้เวลาแก้ปัญหาของตัวเองเฉพาะหน้าแต่ไม่เคยประเมินแนวทางระยะยาวหรือที่มีอยู่ ก็เป็นกรอบบังคับให้สังคมรุ่นใหม่ต้องเดินตามแนวคนรุ่นเก่า ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ไม่ว่าพรรคไหนจะมาเป็นรัฐบาล สิ่งที่แตะต้องได้ยาก นั่นคือ เศรษฐีหรือนายทุนพรรค กับการกอบโกยเพื่อตัวเอง..สงสารคนไทย!
โดย..คนข้างนอก