จากคำสั่งของศาลฎีกาให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยจ่าย ”ค่าโง่โฮปเวลล์” จำนวนเงินสูงถึง 25,000 ล้านบาทนั้น สร้างแรงสะเทือนเลือนลั่นไปทั้งแผ่นดิน!
งานนี้จึงมีการเจาะลึกเบื้องหลังค่าโง่อัปยศออกมาตีแผ่ให้ถึงกึ๋น โดยล่าสุดทีมงานสำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์ ได้ตรวจสอบในเชิงลึกกรณีค่าโง่โฮปเวลล์ ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 62 ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551
จนทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ฯ กว่า 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องคดี หรือรวมแล้วกว่า 25,000 ล้านบาท
จากการตรวจสอบ องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการชุดนี้พบว่า ประกอบไปด้วย อนุญาโตตุลาการ 3 คน คือ นายสมศักดิ์ บุญทอง รองอัยการสูงสุด ตัวแทนอนุญาโตตุลาการของการรถไฟฯ นายวีระพงษ์ บุญโญภาส อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ อนุญาโตตุลาการของบริษัทโฮปเวลล์ฯ โดยมี นายถวิล อินทรักษา อดีตผู้พิพากษา เป็นประธานอนุญาโตตุลาการ
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า นับแต่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) บอกเลิกสัญญาสำนักงานโครงการดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 และ 20 มกราคม 2541 แม้บริษัทจะร้องขอให้มีการเจรจาข้อยุติภายใน 60 วันตามสัญญา
รวมทั้งยื่นคำร้องต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ เพื่อจะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาข้อพิพาท แต่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟก็ยังเพิกเฉยและยันว่าไม่สามารถทำได้เพราะสัญญาสัมปทานได้สิ้นสุดลงไปแล้ว
และแม้สํานักงานอนุญาโตตุลาการ จะมีหนังสือขอให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ส่งรายชื่อผู้แทนเข้าเป็นอนุญาโตตุลาการ แต่ก็ไม่รับความร่วมมือ จึงต้องแต่งตั้งนายสมศักดิ์ บุญทอง รองอัยการสูงสุด เข้าเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายรัฐแทนการรถไฟฯ
จึงทำให้กระบวนการพิจารณาข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการนั้น การรถไฟฯ อยู่ในฐานะที่เสียเปรียบอย่างมาก เพราะไม่เคยส่งผู้บริหารหรือผู้แทนเข้าร่วมต่อสู้ตามกระบวนการที่ควรจะเป็น จนนำมาซึ่งผลการวินิจฉัยชี้ขาดคดีค่าโง่โฮปเวลล์ กว่า 25,000 ล้านบาท
ดังนั้น จึงต้องมีการไล่เบี้ยหาคนที่ทำให้การรถไฟฯ ต้องจ่ายค่าโง่อัปยศถึง 25,000 ล้านมาให้ได้!
(อ่านข่าวประกอบ: ย้อนรอยมหากาพย์โฮปเวลล์ ต้นตอรถไฟจ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล้าน http://www.natethip.com/news.php?id=250)