ทำเอา “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ถึงกับเดือดดาล!
กับสถานการณ์ราคาน้ำมันล่าสุด ที่ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง 2 วันติด โดยปรับขึ้นราคาเบนซินและแก๊สโซฮอล์ 91-95 ในอัตรา 40 สต./ลิตร ทำเอาราคาเบนซิน แก๊สโซฮอล์ 91-95 ล่าสุด (16 พ.ย.) อยู่ที่ 35.28 บาท และ 37.05 บาท/ลิตร เบนซิน 44.84 บาท/ลิตร ทั้งๆ ที่ผู้ค้าน้ำมันเพิ่งจะปรับขึ้นราคาเบนซินและแก๊สโซฮอล์ 0.40 บาท/ลิตร ไปหยกๆ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา
แม้การปรับขึ้นราคาน้ำมันจะเป็นไปตามสภาวการณ์ของตลาดโลก ที่ยังคงมีแนวโน้มจะปรับขึ้นไปอีกในระยะ 1-2 วันนี้ หลังราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคาน้ำมันขายปลีกหน้าโรงกลั่นอ้างอิงที่สิงคโปร์ ยังคงมีแนวโน้มปรับขึ้นไปอีก
แต่การปรับขึ้นของราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่องในลักษณะเช่นนี้ ได้ก่อให้เกิดคำถามตามมาโดยตลอดว่า ประเทศไทยไร้กลไกพยุงเสถียรภาพด้านราคาน้ำมันและพลังงานอย่างนั้นหรือ ผู้ค้าน้ำมันถึงมีการปรับขึ้น-ลงเป็นรายวันอยู่ได้ บางเดือนนั้นมีการปรับขึ้นลง 12-15 ครั้ง ซึ่งหมายถึงว่า ราคาน้ำมันมีการปรับขึ้น-ลงแทบจะวันต่อวัน หรือสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ทำเอาผู้บริโภคลุ้นระทึก หายใจไม่ทั่วท้องตลอดเวลา
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน แสดงความไม่พอใจต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ราวกับไร้กลไกลดูแลเสถียรภาพราคาว่า ราคาน้ำมันไม่ใช่หุ้นที่จะขึ้น-ลงทุกนาที และทุกวันแบบนี้ ราคาพลังงานโลกก็แบบเดียวกัน ขึ้นลงตามสถานการณ์
“การจะให้ประชาชนมารับภาระวิ่งขึ้นวิ่งลงนั้นไม่ถูกต้อง ควรจะต้องวางระบบ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันที่ขายให้กับประชาชน การขึ้นลงของราคาน้ำมันควรเป็นเรื่องระหว่างผู้ประกอบการ และภาครัฐ ที่ต้องมาว่ากันว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร หากราคาน้ำมันวิ่งขึ้นวิ่งลงแบบนี้ รัฐคำนวณไม่ได้ และควบคุมไม่ได้ เป็นระบบที่ไม่ถูกต้อง” รมว.พลังงานกล่าวและว่า กำลังศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อยู่ว่า จะทำอย่างไรให้ราคาซื้อขายน้ำมันที่ประชาชนซื้อจากปั๊มมีเสถียรภาพ คือมีราคาที่แน่นอน ไม่ให้ผันผวนขึ้นลงเป็นรายวันราวไร้กลไกดูแลแบบนี้
โดยจะต้องศึกษาเรื่องโครงสร้างการดูแลเสถียรภาพราคากันใหม่หมด เพราะโครงสร้างเดิมที่ใช้กันมานาน 20 -30 ปีนั้น ถึงเวลาที่จะต้องปรับปรุงแล้ว “มันถึงเวลาที่จะต้องปรับปรุงแล้ว อย่างอื่นยังปรับปรุงกันได้ แล้วทำไมเรื่องนี้ถึงไม่ปรับปรุง เอะอะก็อ้างเรื่องเสรี การค้าเสรี แต่ประชาชนมีปัญหา ผมว่าไม่ถูกต้อง” นายพีระพันธุ์กล่าว
เห็นด้วยกับรองนายกฯ และ รมว.พลังงาน กับการปฏิรูปโครงสร้างการดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศ ที่ถึงเวลาแล้วจะต้องสังคายนากันใหม่ยกกระบิ เพราะเสียงสะท้อนของผู้คนที่ถามไถ่ไปยังรัฐบาลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จากการปรับขึ้นราคาน้ำมันแทบจะเป็นรายวัน บางสัปดาห์หรือบางเดือนนั้นปรับกันแทบจะเป็นวันเว้นวัน พอราคาน้ำมันในตลาดโลกสาละวันเตี้ยงลงจาก 90-100 ดอลลาร์/บาร์เรล ลงมา 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่กว่าที่ราคาน้ำมันหน้าปั๊มจะปรับลดจะต้องหาวเรอรอกันเป็นสัปดาห์
แต่พอราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้น ราคาหน้าปั๊มกลับวิ่งไล่ดวกแทบจะหายใจรดต้นคอ จนทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า เรายังคงมีกองทุนน้ำมัน มีกองทุนพลังงาน อะไรอยู่ไหนและทำหน้าที่อะไร?
จึงไม่น่าแปลกใจเอาเลย ที่ผลประกอบการล่าสุดของกลุ่ม ปตท. จำกัด (มหาชน) (รวมบริษัทย่อย) ในไตรมาสที่ 3/66 มีรายได้รวมกว่า 802,683 ล้านบาท ลดลง 9.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่มีกำไรสุทธิ 31,297 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8,875 ล้านบาท เนื่องจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี และค่าการกลั่นที่ดีขึ้น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลประกอบการในรอบ 9 เดือน บริษัทมีรายได้รวมกว่า 2.33 ล้านล้านบาท มีกำไรสุทธิ 79,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3% จากช่วงเดียวกันของปี 65
คาดการณ์ผลประกอบการของ ปตท. ทั้งปีคงจะไม่หนี 3 ล้านล้านบาท และน่าจะมีกำไรทะลักไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทขึ้นไป เทียบกับงบประมาณแผ่นดิน งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ของรัฐบาล 3.185 ล้านล้านบาท ที่ไม่รู้คลังจะต้องกู้เงินมาปิดหีบสักกี่มากน้อย (ปกติจะอยู่ในราว 3-5 แสนล้านบาท) แล้ว
ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า “ซีอีโอ” ของกลุ่ม ปตท. นั้น แทบมีสถานะเทียบชั้นหรือเทียบเท่ากับ “นายกรัฐมนตรี” ของประเทศเลยทีเดียว เพราะต้องบริหารงบประมาณเทียบเท่ากันเลยก็ว่าได้
ที่แตกต่างกัน ในขณะที่นายกฯ และรัฐบาลต้องดิ้นหารายได้ปิดหีบงบประมาณในแต่ละปี จะต้องจัดสรรเงินกู้ จัดสรรเงินลงทุน และลงไปขับเคี่ยวหน่วยงานจัดเก็บภาษีสารพัดเพื่อนำมาปิดหีบงบประมาณในแต่ละปีให้จงได้ ไหนยังะต้องหาเม็ดเงินมาทำโครงการพิเศษอย่าง “ดิจิทัล วอลเลต” ที่รัฐบาลนายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” กำลังดิ้นพล่านอยู่เวลานี้
แต่ซีอีโอ ปตท. นั้น “หนังคนละม้วน” เพราะธุรกิจน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และโรงกลั่นของ ปตท.นั้นถูกวางรูปแบบทุกอย่างไว้เบ็ดเสร็จหมดแล้ว กงล้อของการขับเคลื่อนธุรกิจในเครือเหล่านี้ถูกวางเอาไว้หมดแล้ว ผ่านโครงสร้างองค์กรที่มีการจัดตั้ง “โฮลดิ้ง คอมปานี” แตกกลุ่มบริษัท จัดกลุ่มธุรกิจออกไปครอบจักรวาล
ธุรกิจก๊าซ น้ำมัน และปิโตรเคมี ล้วนมีการผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปยันปลายน้ำ ไม่ว่าราคาพลังงานน้ำมัน ก๊าซ ปิโตรเคมีในตลาดโลก จะผันผวนให้ตายยังไง กลุ่ม ปตท. แทบไม่สะเทอนซางใด ๆ เพราะกลไกทุกอย่างถูกวางเอาไว้เบ็ดเสร็จปรับขึ้น-ลงไปตามสถานการณ์ราคาในตลาดโลกหมดแล้ว
เอาเป็นว่า ขนาดยักษ์ใหญ่น้ำมันข้ามชาติ ที่คิดจะมาหากินและต่อกรกับ ปตท. ยังต้อง “แพ็คกระเป๋ากลับบ้าน” กันมานักต่อนักแล้ว เพราะไม่อาจจะต่อกรกับ ปตท. ได้เลย พร้อมตั้งคำถามให้ทุกฝ่ายได้คิด ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของไทยที่ผูกขาดธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปยันปลายน้ำเช่นนี้ รัฐบาลปล่อยให้ผูกขาดเป็นขาใหญ่อยู่ได้อย่างไร โดยที่กฎหมายป้องกันการผูกขาด หรือกฎหมายแข่งขันทางการค้าไม่สามารถจะยื่นมือเข้าไปดำเนินการใด ๆ ได้
ผลพวงของการผูกขาดกินรวบธุรกิจพลังงานตั้งแต่ต้นน้ำไปยันปลายน้ำ ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยมากน้อยแค่ไหน ราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และรวมไปถึงราคาไฟฟ้า ที่ขึ้นลงเขย่าหัวจิตหัวใจประชาชนคนไทยเป็นรายวันนั้นคือคำตอบที่ดี
ไหนๆ ท่านรองนายกฯ และ รมว.พลังงาน จะต้องดำเนินการปฏิรูป-สังคายนาโครงสร้างราคาน้ำมัน เพื่อให้ประโยชน์ตกถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ถูก “กินหัวคิว” กันไม่รู้กี่ขยักโดยธุรกิจน้ำมันและพลังงานครบวงจรของประเทศ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้ว ก็เลยอยากถือโอกาสนี้ฝากการบ้านปฏิรูปกิจการไฟฟ้าให้มันสุดซอยที่ประชาชนคนไทยเรียกร้องมาตลอดศกนี้ด้วย
โดยเฉพาะการปฏิรูประบบสายส่ง-เปิดเสรีมิเตอร์ไฟฟ้า ที่ไม่รู้ว่าชาตินี้ประชาชนคนไทยจะมีโอกาสได้เห็นหรือไม่
(รายละเอียด... http://www.natethip.com/news.php?id=7331)