สุดจึ้ง! ช็อคซีนีม่าของจริง! คนไทยกินหมูเถื่อนมาแรมปี
กับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 66 ที่มีคำสั่งเด้ง พันตำรวจตรีสุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ทั้งที่ก่อนหน้าเพียงวันเดียว เจ้าตัวเพิ่งจะนำกำลังเจ้าหน้าที่ดีเอสไอพร้อมหมายศาลบุกเข้าตรวจค้นบริษัท สยามแม็คโครฯ ยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีก-ค้าส่งของประเทศ ที่เวลานี้อยู่ในเครือ “เจ้าสัวซีพี.” เพื่อค้นหาเอกสารหลักฐานความเชื่อมโยงกับขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนที่ดีเอสไอไล่เช็คบิลอยู่
หลายฝ่ายจึงพากันวิพากษ์กันอย่างกว้างขวาง ถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังการ “ปลดกลางอากาศ” อธิบดีดีเอสไอในครั้งนี้ มาจากใบสั่งกลุ่มทุนการเมืองยักษ์ที่ไม่พอใจปฏิบัติการกวาดล้างขบวนการหมูเถื่อน หรือเกิดจากความล่าช้าในการดำเนินการกวาดล้างขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนของดีเอสไอเองหรือไม่ ซึ่งหลายฝ่ายกำลังหาความชัดเจนกันอยู่!
เพราะก่อนหน้านี้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” ได้เรียกอธิบดีดีเอสไอ พร้อมผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมติดตามความคืบหน้าในการทลายขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนที่ว่านี้ ที่ทำลายอุตสาหกรรมหมูในประเทศจนพินาศย่อยยับภายในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี โดยนายกฯ ได้ออกโรงตำหนิอธิบดีดีเอสไออย่างรุนแรง จากความล่าช้าในการเปิดโปง กระชากหน้ากากขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนที่ว่านี้
เพราะดีเอสไอได้รับคดีดังกล่าวจากกรมศุลกากรมาตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. 2566 แล้ว แต่ผ่านมากว่า 3 เดือน คดีกลับยังไม่มีความคืบหน้า ยังไม่สามารถสกระชากหน้ากากตัวการนำเข้าหมูเถื่อนที่ว่านี้ออกมาได้ จึงทำให้นายกฯ ถึงกับฟิวส์ขาด
ก่อนที่วันรุ่งขึ้นทุกฝ่ายจะได้เห็นปฏิบัติการของดีเอสไอในการลุยปราบปรามขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน โดยมีการนำกำลังบุกเข้าตรวจสอบห้องเย็นโกดังแช่แข็งในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างถึงพริกถึงขิง รวมทั้งล่าสุด ที่อธิบดีดีเอสไอนำหมายศาลเข้าตรวจค้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด(มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนพัฒนาการ ด้วยตนเอง เพื่อขอข้อมูลคำสั่งซื้อหมูแช่แข็งและเครื่องในของบริษัทสั่งซื้อจาก 2 บริษัทนำเข้าหมูเถื่อนที่ถูก “ดีเอสไอ” ดำเนินคดีไปก่อนหน้า
หลังเสร็จสิ้นการตรวจค้นบริษัท สยามแม็คโครฯ ในครั้งนี้ สิ่งที่สร้างความแปลกประหลาดใจให้กับทุกฝ่าย ก็คือ การที่อธิบดีดีเอสไอ และผู้บริหารแม็คโคร ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าวในครั้งนี้ โดย “ศิริพร เดชสิงห์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการสื่อสารองค์กร ได้ออกมายอมรับว่า ที่ผ่านมาสยามแม็คโคร เคยทำสัญญาซื้อขายกับบริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด ที่ถูกดีเอสไอดำเนินคดีไปก่อนหน้าจริง เนื่องจากขณะนั้นบริษัทประสบปัญหาเครื่องในหมูไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงประสานไปยังบริษัทดังกล่าว เพื่อให้จัดหาตับหมูส่งให้ โดยมีเอกสารการนำเข้า และรับรองสุขอนามัยจากกรมปศุสัตว์มาสำแดงอย่างถูกต้องทุกล็อต
ทั้งยังยอมรับด้วยว่า สยามแม็คโคร กับบริษัทที่ตกเป็นผู้ต้องหานั้นเป็นคู่ค้ากันมาหลายปี ทั้งการสั่งซื้อเนื้อหมู ปลา และอาหารทะเลอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจสั่งซื้อเนื้อหมูและตับหมูกับบริษัทดังกล่าว เนื่องจากทางบริษัทได้เอกสารใบอนุญาตนำเข้า และเอกสารรับรองมาตรฐานความปลอดภัยที่ออกโดยกรมปศุสัตว์มาสำแดง ถูกต้องตามกฎหมายทุกล็อต จึงตัดสินใจรับซื้อ โดยมีมูลค่าการซื้อขายกันราว 390 ล้านบาท
ถ้อยแถลงของฝ่ายบริหารแม็คโครในครั้งนี้ ช่างตรงกันข้ามกับแถลงการณ์ของ “แม็คโคร” ก่อนหน้านี้ ที่ยืนยันว่า ห้างฯ ไม่ได้ซื้อเนื้อหมูจากบริษัทนำเข้าอื้อฉาวที่กำลังเป็นข่าวมาตั้งแต่กลางปี 2565 แล้ว เนื่องจากตรวจพบว่า สินค้าไม่ได้คุณภาพ เป็นเหตุให้บริษัทได้ยุติการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทดังกล่าว รวมทั้งยุติการสั่งซื้อตับหมูในเวลาต่อมาด้วย
ไม่ว่าจะอย่างไร แถลงการณ์ของแม็คโครล่าสุดที่ออกมานั้น ก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่า ห้างแม็คโครนั้นมีการทำสัญญาจัดซื้อเนื้อหมูแช่แข็งและตับหมูจากเครือข่ายขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนเหล่านี้มาเป็นเวลานานพอควร สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยเรากินหมูเถื่อนและเครื่องใน (ตับ) เถื่อน มาแรมปี
แม้ฝ่ายบริหารแม็คโครจะยืนยันนั่งยันว่า บริษัทคู่ค้า (อื้อฉาว) มีเอกสารหลักฐานการนำเข้าถูกต้อง และใบรับรองความปลอดภัยที่ออกโดยกรมปศุสัตว์มาแสดงด้วยทุกล็อต แต่ใครหละจะเป็นคน “การันตี” ว่าใบอนุญาตหรือใบรับรองเหล่านั้นถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นใบอนุญาตปลอม
ในเมื่อดีเอสไอระบุเองก็ระบุว่า จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่บริษัทนำมาแสดงในการขำนำเข้าเหล่านั้น พบว่า เป็นการแจ้งความเท็จใช้เอกสารเท็จ และสยามแม็คโครเองก็ยอมรับเองว่า จากการตรวจสอบคุณภาพเนื้อหมูและตับหมูแช่แข็งที่บริษัทดังกล่าวจัดส่งให้แม็คโครนั้นพบว่า ไม่ได้มาตรฐานก่อนจะถูกตีกลับ และยุติคำสั่งซื้อไปในที่สุด
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า ขบวนการหมูเถื่อนเหล่านี้ผงาดขึ้นมาขายยังห้างค้าปลีก-ค้าส่งมานานแรมปีแล้ว โดยที่คนไทยต้องบริโภคหมูเถื่อนเหล่านี้ที่ไม่รู้เสี่ยงติดโรคอะไรต่ออะไรไปไม่รู้เท่าไหร่
ย้อนไทม์ไลน์ขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน
เรื่องของขบวนการนำเข้า “หมูเถื่อน” ที่ทำลายตลาดสุกรของไทยจนพินาศย่อยยับในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี นับจากเกิดโรคระบาด “อหิวาต์หมู” หรือ AFS ในช่วงปี 2563-64 จนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายย่อยนับหมื่นต้องล้มหายตายจากไปในทันที อุตสาหกรรมหมูแทบตกอยู่ในเงื้อมมือของกลุ่มทุนรายใหญ่ครบวงจร ราคาเนื้อหมูในท้องตลาดช่วงปี 2564-65 พุ่งกระฉูดจาก กก. ละ 120-130 บาท เป็นกิโลละ 180-200 บาท และ 220 แล้วยังมีแนวโน้มจะทะยานขึ้นไปถึง 230- 250 บาทอีกด้วย
ในเวลานั้นมีกระแสข่าวสะพัดมีความพยายามจากกลุ่มทุนการเมือง ที่เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดนำเข้าสุกรชำแหละจากต่างประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค แต่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติก็ออกโรงคัดค้านอย่างหนักหน่วง เพราะยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรผู้เลี้ยง พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลปราบปรามขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนที่กำลังระบาดอยู่ในเวลานั้น แต่ก็ไม่เป็นผล
แม้รัฐบาลจะ “ปิดประตูลั่นดาน” การนำเข้าหมูชำแหละจากต่างประเทศ แต่กลับมีการลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” อย่างต่อเนื่อง โดยนัยว่า มีนายทุนใหญ่ที่ร่วมมือกับนักการเมืองระดับประเทศ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือกันอย่างเป็นขบวนการ ทำให้แม้เกษตรกรฟาร์มหมูทั่วประเทศแม้จะขุนหมูออกสู่ตลาดได้ ก็ไม่สามารถสู้ราคาหมูเถื่อนได้
เอาเป็นว่าขณะที่เกษตรกรฟาร์มหมูมีต้นทุน “หมูเป็น” หน้าฟาร์มอยู่ที่กิโลละ 95-100 บาท แต่สามารถขายได้ในราคาเพียง 70-79 บาท/กิโลเท่านั้น ขณะที่หมูเถื่อนที่ไม่รู้นำเช้ามากันอย่างไรถึงได้เล็ดรอดไปจำหน่ายยังเขียงหมูทั่วประเทศ แม้แต่ห้างค้าปลีก-ค้าส่งยักษ์ก็ยังมีจำหน่ายนั้น มีราคาเพียงกิโลละ 45-50 บาทเท่านั้น
ในห้วงเวลาที่ประชาชนคนไทยต้องกัดฟันซื้อเนื้อหมูในราคาแพงลิบลิ่ว ชนิดที่ชาวนาต้องขายข้าวเปลือกกิโลละ 8-12 บาทกันเป็นถัง (15 กิโล) ยังซื้อเนื้อหมูได้ไม่ถึงกิโลด้วยซ้ำนั้น
ในเวลานั้น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่สำรวจห้างยักษ์และพบว่า มีการนำหมูชำแหละที่แยกชิ้นส่วนออกมาวางขายในกระบะในราคาต่ำกว่าท้องตลาดแล้ว โดยสมาคมฯ ได้พยายามสอบถามไปยังผู้บริหารห้างยักษ์ รวมทั้งกรมปศุสัตว์ถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ ของหมูชำแหละที่นำมาวางขายบนห้างค้าปลีกยักษ์ แต่ไม่ได้รับความกระจ่างใด ๆ นอกจากอ้างว่า ตนเองมีซัพพลายเออร์จัดหาหลายสิบราย จึงสามารถจัดหาเนื้อหมูชำแหละและชิ้นส่วนต่าง ๆ มาจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาดได้เท่านั้น
หากไม่เพราะ “หมูเถื่อน” 161 ตู้ ที่ค้างเติ่งอยู่ท่าเรือแหลมฉบัง คนไทยเราคงบริโภค “หมูเถื่อน” ที่เสี่ยงติดเชื้อและอมโรคกันเกลื่อนเมืองต่อไป และอาจไม่ได้เห็นนายกฯ ลงมาเอาจริงเอาจังกับปัญหานี้ เพราะแม้สำนักงานศุลกากรแหลมฉบังจะมีการตรวจอายัดหมูเถื่อนบิ๊กล็อตครั้งนี้ แต่ก็มีความพิลึกพิลั่น ไม่ชอบมาพากลมาตั้งแต่แรก
เมื่อ “ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวปิดไม่มิด”?
ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายจะย้อนรอย “ไทม์มิ่ง” ของการตรวจสอบและอายัดหมูเถื่อนทั้ง 161 ตู้ในครั้งนี้ จะเห็นว่า สำนักงานศุลกากรได้มีการสำรวจตู้สินค้าตกค้างที่อยู่ในความดูแลเพื่อจัดทำบัญชีของตกค้าง (List A) โดยไม่มีใบขนสินค้าเพื่อแจ้งไปยังบริษัทเรือและตัวแทนเรือเพื่อให้เจ้าของตู้มาดำเนินการสำแดงตัวตั้งแต่ 13 เมษายน 2566 แล้ว
โดยมีรายงานว่า ตู้สินค้าเหล่านี้ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแห่งนี้มามากกกว่า 5 เดือนแล้ว โดยมีตู้สินค้าตกค้างอยู่ 220 ตู้ ซึ่งในจำนวนนี้ มีรายงานว่า เป็น “เนื้อหมูแช่แข็ง” จำนวน 161 ตู้ น้ำหนักรวมกว่า 4.5 ล้านกิโลกรัม ส่วนที่เหลือเป็นเนื้อสัตว์แช่แข็งอื่น ๆ อีก 59 ตู้ ปริมาณราว 1.6 ล้านกิโลกรัม
18 เมษายน 2566 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นำกรรมการสมาคมบุกไปยังสำนักงานศุลกากรแหลมฉบัง พร้อมทำหนังสือถึงกรมศุลกากรเพื่อขอทราบแนวทางในการปราบปราม และดำเนินการกับหมูเถื่อนที่ตรวจพบเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมาได้รับทราบแต่เพียงว่า เป็นอาหารทะเลและอาหารสัตว์ หรือสินค้าประเภทอื่น ๆ แต่ขณะนี้ข้อมูลปรากฏชัดแล้วว่าตู้สินค้าเหล่านี้คือ “หมูเถื่อน”
มีการตั้งข้อสังเกตกันอย่างกว้างขวางว่า สินค้าเถื่อนเหล่านี้ เล็ดรอดออกมาจากท่าเรือได้อย่างไร? ทั้งที่การตรวจปล่อยสินค้าต้องผ่านการสแกนด้วยเครื่องที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของศุลกากร และเมื่อของออกจากท่าเรือไปยังห้องเย็นต่าง ๆ ก็ยังต้องผ่านกรมปศุสัตว์ตรวจสอบด้วยอีก ยิ่งกรณีการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดก่อนกระจายลงไปยังเขียงหมูทั่วประเทศด้วยแล้ว
20 เมษายน 66 หลังสมาคมผู้เลี้ยงหมูออกมาเปิดโปงการนำเข้าหมูเถื่อนเต็มโกดังข้างต้น สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์เรื่อง การตรวจยึดและดำเนินคดีสินค้าประเภทสุกรแช่แข็งตกค้างภายในท่าเรือฯ จำนวน 161 ตู้ น้ำหนัก 4.5 ล้านกิโลกรัม มูลค่า 225 ล้านบาท จากจำนวนตู้ตกค้าง 220 ตู้ อีก 59 ตู้ เป็นเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ น้ำหนัก 1.65 ล้านกิโลกรัม พร้อมระบุว่าได้ส่งมอบให้กรมปศุสัตว์ไปทำลายแล้ว 13 ตู้ ทั้งยังแจ้งต่อสื่อมวลชน จะมีการแถลงรายละเอียดผลการจับกุมในวันที่ 25 เมษายน 2566 ก่อนจะแจ้งยกเลิกไป
12 พฤษภาคม 2566 หลังครบระยะเวลา 1 เดือน โดยไม่ปรากฏว่า มีผู้ใดมาแสดงความเป็นเจ้าของ สำนักงานศุลกากรฯ จึงเชิญทุกฝ่ายดำเนินการเปิดตู้สินค้าเหล่านี้ ซึ่งพบเป็นสินค้าประเภทสุกรแช่แข็ง อันเป็นของควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 สินค้าดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ จึงเป็นการนำเข้าโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อจำกัด และเป็นของอันพึงต้องริบตามกฎหมายศุลกากร
ก่อนที่ อธิบดีกรมศุลกากร จะมีหนังสือลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ไปถึงกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเพื่อขอให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในฐานะนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาในความผิดฐานนำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมจัดตั้งคณะทำงานประสานงานการแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสุกรหรือชิ้นส่วนสุกรที่ผิดกฎหมาย ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
ในเวลาต่อมา กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จะส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) รับเป็นคดีพิเศษในการสอบขยายผลขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนและปศุสัตว์เถื่อนเหล่านี้ ซึ่งพบว่า เกี่ยวข้องกับบริษัทนำเข้า 11 ราย 17 สายการเดินเรือด้วยกัน พร้อมทั้งขยายผลตรวจสอบไปยังห้องเย็นต่าง ๆ อีกกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ
5 กรกฎาคม 2566 พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับ นายวาริส วิสารทานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการตรวจสอบสินค้า สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบตู้สินค้าทั้ง 161 ตู้ดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อทำการตรวจสอบขยายผลถึงที่มาที่ไป ทั้งในส่วนของบริษัทผู้นำเข้า ชิ้ปปิ้ง กลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลัง รวมตลอดไปจนถึงบรรดาห้องเย็นที่รับฝากตู้สินค้าหมูเถื่อนเหล่านี้
ก่อนที่เรื่องเหล่านี้จะหายเข้ากลีบเมฆ กระทั่ง “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” ได้เรียกอธิบดีดีเอสไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการสอบขยายผลขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ก่อนเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกที่สหรัฐอเมริกา พร้อมแสดงความไม่พอใจต่อการดำเนินการไล่เบี้ยขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนที่ล่าช้าจนกลายเป็นข่าวครึกโครม
นั่นแหล่ะจึงทำให้ “ฝีแตก” เมื่อดีเอสไอเดินเครื่องแจ้งข้อหาเอาผิดกับกลุ่มบริษัทชิ้ปปิ้งตัวแทนออกของให้แก่บริษัทเอกชนผู้นำเข้า และกลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลังการนำเข้าหมูเถื่อนเหล่านี้ ก่อนขยายผลไปยังห้องเย็นต่าง ๆ ซึ่งระหว่างการสอบขยายผลขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนดังกล่าวได้พบข้อมูลอันชวนตะลึง นอกจากจะมีขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนวัวเถื่อนเข้ามาในห้วงในช่วงปี 2563-66 จำนวนกว่า 2,836 ตู้แล้ว
ทั้งยังพบด้วยว่า ส่วนหนึ่งของเนื้อหมูแช่แข็งและตับแช่แข็งในยังเล็ดรอดไปจำหน่ายยังห้างค้าปลีก-ค้าส่งยักษ์สุดบิ๊กบึ้มระดับประเทศ นั่นคือ “แม็คโคร” อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการแถลงข่าวของแม็คโครล่าสุดที่แม้จะยอมรับว่ามีการซื้อเนื้อหมูและตับแช่แข็งจากบริษัทนำเข้าที่ร่วมอยู่ในขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน ที่ทางการดีเอสไอกำลังดำเนินการไล่เบี้ยอยู่ แต่สิ่งที่ฝ่ายบริหารแม็คโครตอกย้ำกับสื่อนั้น ล้วนมีข้อ “แก้ต่างและแก้ตัว” โยนความผิดทั้งมวลไปที่คู่ค้า และหน่วยงานรัฐอย่างกรมปศุสัตว์แทบทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอกสารการนำเข้า และใบรับรองความปลอดภัยทั้งหลายที่ออกโดยกรมปศุสัตว์ ทั้งที่ชิ้นส่วนสุกรนำเข้าเพื่อการบริโภคเหล่านี้ การที่สั่งซื้อหรือนำเข้าได้จะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด ยิ่งในห้วงที่เกิดโรคระบาดอหิวาต์ในหมูในหลายประเทศ รวมทั้งไทยด้วยแล้ว แม้การสั่งซื้อหรือนำเข้าสินค้าเหล่านี้จะต้องมีการตรวจตราเอกสารหลักฐานการนำเข้าอย่างเข้มงวด
แต่สิ่งหนึ่งที่แม็คโครไม่ได้ให้ความกระจ่างต่อสังคมเลย ก็คือ ในห้วงเวลาดังกล่าวนั้นรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี ได้เคยมีการอนุมัติให้มีการนำเข้าซากสุกรชำแหละ หรือเนื้อสุกรจากต่างประเทศเมื่อใดกัน ถึงกล้าออกมายืนยันว่า ที่ตัดสินใจจัดซื้อชิ้นส่วนต่างๆ เข้าได้ตราวจสอบเอกสารหลักฐานที่คู่ค้านำมาสำแดงประกอบ แล้วพบว่า มีเอกสารการนำเข้าถูกต้อง ในเมื่อสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และเครือข่ายที่ออกคัดค้านกระบวนการนำเข้าหมูและชิ้นส่วนต่าง ๆ อย่างถึงพริกถึงขิง จนคณะรัฐมนตรีเองไม่กล้าพิจารณาอนุมัติให้มีการนำเข้า
นอกจากนี้ ทางแม็คโครเองยังไม่เคยให้ความกระจ่างด้วยว่า ราคาเนื้อหมูและชิ้นส่วนชำแหละที่ทำห้างฯ ทำสัญญาซื้อขายกับคู่ค้านั้นถูกแพงอย่างไร เหตุใดจึงสามารถตั้งราคาขายต่ำกว่าราคาในท้องตลาดได้ และการที่แม็คโครตัดสินใจสั่งซื้อเนื้อหมูและชิ้นส่วน ตลอดจนตับแช่แข็งจากขบวนการนำเข้าที่ตนเองเชื่อว่า เป็นการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายทุกกระเบียดนิ้วนั้น
มีการตั้งคำถามตามมาว่า ทุกคำสั่งซื้อและทุกออเดอร์เหล่านี้ มันคือหยาดเหงื่อและผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูภายในประเทศไม่ใช่หรือ ทุกคำสั่งซื้อเหล่านี้มันคือผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังเกษตรกรผู้ผลิตอาหารสัตว์ เขียงหมู เกษตรกรผู้เลี้ยงในทุกระดับที่ห้างเองก็ป่าวประกาศยืนยันว่า ให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรกไม่ใช่หรือ?
เหนือสิ่งอื่นใด ตลอดห่วงโซ่คำสั่งซื้ออื้อฉาว และนำเข้าหมูแช่แข็งและชิ้นส่วนของห้างยักษ์แม็คโคร ที่อ้างว่าดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกกระเบียดนิ้ว เรายังไม่เคยเห็นเครือข่ายเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค และโดยเฉพาะ “กรมปศุสัตว์” ที่ถูกอ้างถึงมาโดยตลอดว่า เป็นผู้ออกใบอนุญาตนำเข้า และใบรับรองความปลอดภัยทั้งหลายทั้งมวลที่แม็คโครนำมากล่าวอ้างนั้น จะได้ออกโรงปกป้องผลประโยชน์อะไรของประชาชนผู้บริโภคใดๆ การออกใบอนุญาตนำเข้าและใบรับรองสารพัดที่แม็คโครนำมากล่าวอ้างนั้น เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ใครเป็นผู้ออกหรืออนุญาต ทุกอย่างดำเนินไปตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร
ทุกอย่างล้วนเงียบกริบหายเข้ากลีบเมฆไปหมด! จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หน่วยงานรัฐหรือองค์กรเหล่านี้ยังมีตัวตนอยู่หรือไม่ วาน ฯพณฯ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และ ฯพณฯ นายกฯ ตรวจสอบให้ประชาชนคนไทยหายกังขากันที!!!
…
หมายเหตุ: อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง..
- เนตรทิพย์: Special Report
ล้างไพ่ปศุสัตว์!
http://www.natethip.com/news.php?id=7581