ทำเอา "นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน" ถึงกับอึ้งกืมกี่ สตั๊นจนแทบสะดุด และทำเอา “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รมต.พลังงาน ถึงกับควันออกหู!
กับเรื่องของค่าไฟ FT ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำลัง “ตั้งแท่น” จะขอปรับขึ้นมาจัดเก็บที่ 4.68 บาทต่อหน่วย สำหรับงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567
…
เพราะกระทรวงพลังงานเพิ่งได้รับช่อดอกไม้จากช้าวบ้านร้านรวงไปวันวาน จากผลงานชิ้นโบแดงในการดำเนินนโยบายปรับลดราคาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมัน ก๊าซ และโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า เอฟที (FT) ที่จัดหนัก จัดเต็มไปถึง 2 ระลอก โดยก๊อกแรกประเดิมคณะรัฐมนตรีนัดแรกเมื่อ 13 กันยายน ปรับลดค่า FT ทันทีจาก 4.45 บาท/หน่วย ลงมาเหลือ 4.10 บาท มากกว่าข้อเรียกร้องของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเสียอีก!
ไม่ทันข้ามอาทิตย์ ก็จัดหนักก๊อก 2 ตามมาติดๆ ปรับลดค่าค่า FT ลงให้อีกเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ทำเอาชาวบ้านร้านรวงส่งเสียงเชียร์กันเซ็งแซ่ทั่วทุกสารทิศ หากมีเก้าอี้นายกฯ แบบนั่งควบกันได้ คงประเคนให้นายพีระพันธ์ุไปกันแล้ว
ที่ไหนได้ ยังไม่่ถึงขวบเดือน ประชาชนที่ได้บิลค่าไฟไปอุ่นๆ ยังไม่ได้ดื่มด่ำกับรสชาติความปริ่มเปรมกับความสุขอันล้นเหลือที่รัฐบาลจัดให้จนแทบสำลัก ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) วันวาน (29 พฤศจิกายน 2566) กลับแถลงข่าวร้ายเตรียม “ตั้งแท่น” ปรับขึ้นค่าเอฟทีฉลองปีใหม่ในงวดเดือนมกราคม - เมษายน 2567 จำนวน 89.55 สตางค์ต่อหน่วย
ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย จะทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทขยับไปอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย แพงกว่าค่าเอฟทีเดิมที่ประชาชนคนไทยเพิ่งจะร่วมกันสวดส่งไปพร้อมกับรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ไปวันวาน
โดย กกพ. ให้เหตุผลถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นค่า FT งวดต่อไปนี้ว่า เพื่อสะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งคืนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ. แบกรับภาระก่อนหน้า จนทำให้สภาพคล่องการดำเนินงานของ กฟผ. จึงตัวเริ่มอึดอัดหายใจไม่ทั่วท้อง โดยมีต้นทุนคงค้างที่ต้องจ่ายคืน กฟผ. ณ เดือนสิงหาคม 2566 มีจำนวน 95,777 ล้านบาทแล้ว และคาดว่าจะถึง 120,000 ล้านในสิ้นปี 2566
อย่างไรก็ตาม มติ กกพ. ที่ตั้งแท่นปรับขึ้นค่า FT ข้างต้น ก็ทำเอากระทรวงพลังงานนั่งไม่ติด จนถึงกับที่โฆษกกระทรวงพลังงานออกมาสวนกลับทันทีว่า ราคาค่าไฟฟ้า FT ที่จะเรียกเก็บจากประชาชนนั้น ต้องขึ้นอยู่ที่กระทรวงพลังงานจะเคาะอย่างไร แต่คงไม่ใช่ตัวเลข 4.68 บาทต่อหน่วย อย่างแน่นอน และประชาชนผู้ใช้ไฟต้องไม่แบกรับภาระจนหน้ามืดอย่างแน่นอนเช่นกัน ซึ่งรัฐมนตรี พีระพันธุ์ กำชับคณะทำงาน ได้หาแนวทางลดภาระค่าไฟให้กับประชาชน ไม่ให้เจอแรงปะทะหลังปีใหม่ โดยจะพยายามทำตัวเลขให้ลดลงให้ได้มากที่สุด
ขณะเดียวกันก็มีเสียงโอดครวญมาจากคน กฟผ. รวมทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. ถึงท่าทีของพลังงานที่ตั้งแท่นจะทัดทานการปรับขึ้นค่า FT ข้างต้น โดยอ้างว่า จะทำให้ กฟผ. มีความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่องอย่างหนัก เพราะหากดูตัวเลขหนี้ค้างชำระจนถึงเดือนสิงหาคม 2566 เป็นเงินมากถึง 95,777 ล้านบาท และคาดจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.2 แสนบาท ในช่วงสิ้นปี 2566 และหากมีการชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในงวด ม.ค. - เม.ย. 67 จากมติ กกพ. ที่อนุมัติไป 4.68 บาทต่อหน่วย โดยหากกระทรวงพลังงานให้ตรึงไว้ในอัตราเดิมที่ 3.99 บาทต่อหน่วยไปก่อน จะทำให้ กฟผ. แบกรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะยิ่งทำให้ กฟผ. ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน
*ไส้ในค่าไฟฟ้า.. ผ่าองค์กร “เสือนอนกิน” (หรือไม่?)
ทุกครั้งที่มีการพูดถึงการปรับขึ้นค่า FT ที่ประชาชนต้องถูกโขกสับบิลค่าไฟกันหน้ามืดนั้น เป็นต้องมีการหยิบยกเอากำไรของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้งหลายแหล่มาเป็นมูลเหตุหลักหนึ่งที่ทำให้ประชาชนจ่ายค่าไฟแพง รวมทั้งครั้งนี้ก็เช่นกัน หลายฝ่ายพยายามโยงเอากำไรของผู้ประกอบกิจการพลังงานรายใหญ่ในตลาดมาเป็นสาเหตุใหญ่ ที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายแพง
โดยหารู้ไม่ว่า ค่าไฟฟ้าในทุก ๆ 1 บาท ที่เราจ่ายออกไปนั้นแฝงไว้ด้วยต้นทุนจิปาถะ ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ แล้ว ยังมีกำไรของผู้ผลิตไฟฟ้าที่ต้องมีเป็นฐานแน่ แต่เมื่อไฟฟ้าเหล่านั้นถูกส่งเข้าไปยังระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และ 2 การไฟฟ้าก่อนถูกส่งผ่านไปยังบ้านเรือนประชาชน (เพราะผู้ผลิตไฟฟ้าไม่สามารถจะจำหน่ายไฟตรงไปยังผู้บริโภคได้)
คำถาม คือ ทั้ง 3 การไฟฟ้า ได้จำหน่ายไฟตรงสู่บ้านเรือประชาชน และธุรกิจ-อุตสาหกรรมน้อยใหญ่ตามราคาต้นทุนที่รับซื้อมาเลยหรือไม่ ไม่มีการบวกต้นทุนแฝงใด ๆ เข้าไปแม้แต่น้อยเลยกระนั้นหรือ หรือหากจะมีก็แค่ต้นทุนบริหารจัดการระบบสายส่งเล็ก ๆ น้อย ๆ พอได้ค่าลงทุนคืน ก็คืนให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟไปหมดทันที
ซึ่งแน่นอนว่า หากทั้ง 3 การไฟฟ้าออกมา “ยืนยัน นั่งยัน” ต่อสาธารณชนว่า เป็นรัฐวิสาหกิจและกลไกเครื่องมือของรัฐที่ทำหน้าที่ดูแลด้านความมั่นคงด้านพลังงาน ไม่เคยเอาเปรียบประชาขนผู้บริโภคผู้ใช้ไฟใด ๆ แม้แต่น้อย ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ โม่แป้งเอง หรือที่รับซื้อจากไฟฟ้าเอกชน ทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าจะรูปแบบใด ล้วนถูกส่งผ่านไปยัง 2 การไฟฟ้า และประชาชนโดยที่ 3 การไฟฟ้า ล้วนต้อง “เข้าเนื้อ” ต้องแบกรับภาระแทนประชาขนอย่างที่ กฟผ. กำลังป่าวประกาศอยู่นี้
ก็เป็นเรื่องสมควรที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานควรให้ความเป็นธรรม ไม่ควรให้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ต้องแบกรับภาระค่าพลังงานจนบักโกรกอย่างที่เห็น หาไม่แล้วหากท้ายที่สุด 3 การไฟฟ้าอาจจะลงเอยแบบ “การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)” และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. เอาได้
แต่ในข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นหรือไม่?
หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนรอยไปพิจารณารายงานงบการเงินของ 3 การไฟฟ้า อันได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในรอบปี 65 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า 3 การไฟฟ้านั้นมีกำไรจากการประกอบการรวมกันกว่า 67,828 ล้านบาท
โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มีรายได้ 794,894 ล้านบาท มีกำไร 45,387 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีกำไรจากการดำเนินงาน 30,682 ล้านบาท ขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีรายได้ 593,217 ล้าน มีกำไร 12,465.95 ล้านบาท และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่แสดงงบการเงินมาถึงปี 65 มีรายได้ 223,994 ล้านบาท กำไร 9,976 ล้านบาท
เฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ที่เคยออกโรงเรียกร้องให้สังคมช่วยกันตรวจสอบรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ที่ดำเนินนโยบายเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนในการผลิตไฟฟ้าจนทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดเหลือเพียง 34% ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศ หรือ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตนั้น ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2561-65) กฟผ. กลับมีกำไรรวมกันกว่า 193,806 ล้านบาท แยกเป็นกำไรในปี 61 จำนวน 45,712 ล้านบาท ปี62 จำนวน 48,209 ล้านบาท ปี 63 (วิกฤติโควิด-19) กำไร 28,031 ล้านบาท , ปี 64 กำไร 26,467 ล้านบาท และปี 65 กำไร 45,387 ล้านบาท
ส่วนผลการดำเนินงานในปีงบ 2566 ที่ผ่านไป 2 ไตรมาสนั้น กฟผ. มีกำไรจากการดำเนินงานเบื้องต้นไปกว่า 43,009 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงานรวม 2 ไตรมาส 29,117 ล้านบาท มากกว่าระยะเดียวกันของปีก่อนที่มี 27,916 ล้านบาท ทั้ง กฟผ. ยังมีกำไรสะสม ณ สิ้นปี 2565 อีกกว่า 475,545 ล้านบาท
นี่ขนาดโอดครวญมาโดยตลอดว่า ถูกรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน “บอนไซ” รายวัน เปิดทางให้บริษัทเอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้ากันเป็นบ้าเป็นหลัง จนสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. เหลืออยู่เพียง 34% หรือ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตรวม ทั้งยังถูกบีบให้แบกรับภาระส่วนต่างค่า FT ล่าสุด จนทำให้สภาพคล่องทางการเงินตึงตัวจน "หืดจับ-หายใจไม่ทั่วท้อง" แต่กำรี้กำไรในรอบ 6 เดือนก่อนหักภาษีและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ยังทะลักล้นไปถึง 50,545 ล้านบาท
จนถึงขนาดที่มีคนเอาไปสัพยอกว่า กำไรจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เพียงเจ้าเดียวนั้น มากกว่าผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 12 ราย ในตลาดรวมกัน เพราะมีกำไรรวมกันยังไม่ถึง 50,000 ล้าน เพราะ กฟผ.นั้น เป็นทั้งผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด และเป็น “นายหน้า” ค้าไฟฟ้าที่รับซื้อจากเอกชนมาขายต่อให้ 2 การไฟฟ้า คือ การฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดย “กินส่วนต่าง” จากการได้สิทธิผูกขาดและบริหารระบบสายส่งแต่เพียงผู้เดียวของประเทศไทย
ขณะที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้า 2 ใน 3 ที่แม้รัฐจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะ IPP SPP VSPP หรือการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ไฟฟ้าพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือกทั้งหลายแหล่ที่มีประมาณ 30-40 รายในเวลานี้ แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็ยังคงต้องถูก "บังคับขาย" ให้กับ กฟผ.ที่เป็นผู้บริหารระบบสายส่งรายเดียวของประเทศเท่านั้น ก่อนที่ กฟผ.จะส่งขายต่อให้ 2 การไฟฟ้า เพื่อจำหน่ายให้แก่ครัวเรือนประชาชน และภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมต่อไป
ดังนั้น แม้ กฟผ. จะตั้งโต๊ะรับซื้อไฟจาก IPP - SPP หรือ VSPP รวมถึงการจัดซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก และไฟจากประเทศเพื่อนบ้านที่แม้มีต้นทุนต่ำแค่หน่วยละ 2 - 2.50 บาท เมื่อถูกกำหนดให้ต้องขายไฟให้แก่ กฟผ. ผ่านระบบสายส่งของ กฟผ. ได้เท่านั้น ไฟฟ้าที่จะขายไปยังประชาชนผู้ใช้ไฟจึงถูก “บวก” ค่าบริหารจัดการ และกำรี้กำไรเพื่อหล่อเลี้ยงองค์กร หล่อเลี้ยงโบนัส-สวัสดิการอันพึงมีของ 3 การไฟฟ้าเข้าไปด้วยอีกหรือไม่?
หากทุก “ห่วงโซ่” ของระบบการผลิต ขายส่ง และขายปลีกเหล่านี้ ล้วนต้องแฝงเอาไว้ด้วย “ต้นทุน” การบริหารจัดการ และกำไร (รวมถึงโบนัส -สวัสดิการอันพึงมี) ของแต่ละแห่งแล้ว แค่กำไรรายละ 10 สต./หน่วยที่แฝงอยู่ กำไร 3 เด้ง 3 ทอดที่แฝงอยู่ในต้นต้นค่าไฟ 1 บาทที่ประชาขนต้องจ่ายนั้น ก็ไม่ต่ำกว่า 30 สต.เข้าไปแล้ว และมันคือ “ภาระแฝง” ที่ประชาชนต้องถูกมัดมือชก โดยไม่อาจจะปลด “โซ่ตรวน”ที่ว่านี้ไปได้
*ถึงเวลาปฏิรูปพลังงานให้ “สุดซอย”
เห็นไส้เห็นพุงกันขนาดนี้แล้ว ก็คงต้องย้อนถามไปยัง ฯพณฯท่าน “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน จะปล่อยให้ประชาชนคนไทยต้องตกเป็น “ทาสในเรือนเบี้ย” ถูกโขกสับค่าไฟฟ้ากันไปเช่นนี้ไปตลอดศกกันอีกหรือไม่อย่างไร เมื่อไหร่เราจึงจะได้เห็นการปฏิรูปพลังงาน “สุดซอย” ที่ทุกฝ่ายเพรียกหากันเสียที
แนวทางในการ “ปลดโซ่ตรวน” ทลายกำแพงผูกขาดระบบสายส่ง - แยกระบบสายส่งของ กฟผ. โดยแยกระบบสายส่งออกมาจะจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานใดขึ้นมาบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม และบริหารจัดการในลักษณะ “ใครใช้-ใครจ่าย” เช่นเดียวกับการให้บริการเติมเชื้อเพลิงการบินในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ดอนเมืองในปัจจุบัน ที่ผู้ค้าน้ำมันทุกรายสามารถจำหน่ายน้ำมันอากาศยานให้แก่ลูกค้าสายการบิน ผ่านระบบ Pool ที่ “บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ BAFs” ดำเนินการให้บริการอยู่ในปัจจุบัน สอดคล้องกับที่เครือข่ายพลังงานทั้งหลายเรียกร้องกันมาโดยตลอดนั่นแหล่ะ
รวมทั้งการปลดล็อค “เปิดเสรีมิเตอร์ไฟฟ้า Mitering” เปิดทางให้ประชาชนผู้ใช้ไฟได้เลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้อิสระโดยตรง เช่นในต่างประเทศ ในสหรัฐฯ ยุโรป ออสซี่-ออสเตรเลีย ที่เราส่งคนไปดูงานผลาญภาษีกันมาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันครั้งแล้ว เปิดให้ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้แข่งขันกัน เช่นที่รัฐบาลในอดีต ได้เปิดเสรีโทรคม-อินเทอร์เน็ตไปก่อนหน้าจนทำให้ผู้ให้บริการมือถือแต่ละรายต่างงัดกลยุทธ์ทางการตลาด งัดโปรโมชั่น ลดแลก แจกแถม เพิ่มมาตรการจูงใจให้ผู้คนหันมาใช้เครือข่ายของตนมากที่สุด
ไม่ต้องปูพรมทำทั้งประเทศหรอก แค่ทดลอง “โมเดล” ในบางจังหวัด หรือบางพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อนก็ได้ เป็น Pilot Project อยากรู้นักว่า ราคาค่าไฟฟ้าในมือประชาชนมันจะถูกลงไหม? ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเอกชนจะ IPP - SPP จะมีปัญญาแข่งกันกับ กฟผ. และ 2 การไฟฟ้าได้ไหม ประชาชนผู้ใช้ไฟจะถูกโขกสับค่าไฟฟ้าแพงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจริงหรือไม่
ไม่ต้องไปกังวลหรอกว่า นโยบายดังกล่าวจะเรียกแขกให้งานเข้า หรืออาจถูก 3 การไฟฟ้ารวมหัวกันคัดค้าน คัดง้างอย่างเอาเป็นเอาตายจนทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลง่อนแง่น เพราะวิถีชีวิตของประชาชนคนไทยที่ถูกโขกค่า FT นับนับทศวรรษนั้น มันเดินมาถึง “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ไม่อาจจะรับได้แล้ว หากรัฐมนตรีพลังงานหรือรัฐบาลจะต้องไปเพราะทลายกำแพงผูกขาดขององค์กร Tiger Sleep Eat ก็ให้มันรู้ไปว่า ประชาชนคนไทยยังอยากจะถูก “มัดมือชก” โขกค่าไฟแพงลิบลิ่วกันแบบนี้ไปตลอดศก จริงไม่จริง!!!
…
หมายเหตุ: อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม..
- เนตรทิพย์: Special Report
โจทย์ใหญ่ปฏิรูปพลังงานต้อง “สุดซอย”!
http://www.natethip.com/news.php?id=7555