โซเชียลคุ้ยเรื้องฉาว รฟม. อีก หลังจัดทริปตีกอล์ฟ-ประชุมบอร์ดบนกรีนสนามกอล์ฟสุดหรูที่เขาใหญ่ พบข้อมูลชวนอึ้ง จัดทริปนำคณะผู้บริหาร รฟม. กว่า 70 คน บินดูงานรถไฟฟ้าที่ออสเตรีย โดยบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานสายสีน้ำเงินที่ออกค่าใช้จ่ายให้หมด ก่อนนำมาสู่ประมูลสัมปทานสายสีส้มสุดมาราธอน 3 ปี ยังปิดบัญชีไม่ลง!หลังจากฝ่ายบริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สร้างมิติใหม่ให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้วยการจัดทริปตีกอล์ฟ และจัดประชุมบอร์ด รฟม. นอกสถานที่ ณ สนามกอล์ฟสุดหรูที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง (อ่านรายละเอียดท้ายข่าว) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นวันทำงานปกติ จนทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป็นการเบียดบังเวลาราชการหรือไม่นั้น ล่าสุด สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์ ได้รับการเปิดเผยจากผู้บริหารภายในองค์กร รฟม. ด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายปี 2562 ฝ่ายบริหาร รฟม. ยังเคยอนุมัติให้บริหารและพนักงาน รฟม. กว่า 70 คน เดินทางไปท่องเที่ยวและดูแลที่สาธารณรัฐออสเตรีย โดยอ้างเป็นการดูงานผลิตรถไฟฟ้า (Rolling Stock) สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย โดยมีบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายแต่อย่างใด โดยได้จัดผู้บริหารเดินทางไปดูงานและท่องเที่ยวรวม 3 ชุดต่อเนื่องก่อน ชุดแรกระหว่าง 15 - 20 ต.ค. 2562 ชุดที่ 2 ระหว่าง 22 - 27 ต.ค. 2562 และชุดที่ 3 ระหว่าง 29 ต.ค. - 3 พ.ย. 2562 อย่างไรก็ตาม แม้ในทริปการเดินทางไปดูงานผลิตรถไฟฟ้าดังกล่าว ทาง BEM จะเสนอออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ แต่ในส่วนของ รฟม. ยังคงตั้งงบขอเบิกค่าจัดทำหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) คนละ 1,000 บาท และค่าแต่งตัวคนละ 9,000 บาท แหล่งข่าวได้ตั้งข้อสังเกตว่า การจัดทริปดูงานผลิตรถไฟฟ้าข้างต้น นั้นก่อให้เกิดคำถามว่า เหตุใด BEM ถึงใจป้ำลงทุนออกค่าใช้จ่ายในการดูงานทั้งหมดให้กับผู้บริหาร รฟม. เกือบทั้งองค์กร หรือเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริหารเพื่อหวังโครงการรถไฟฟ้าในอนาคต และการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ การที่ฝ่ายบริหาร รฟม. ตอบรับข้อเสนอโดยอนุมัติให้ผู้บริหาร รฟม. ร่วม 70 คน เดินทางไปดูงานตามคำเชิญของบริษัทเอกชน ซึ่งในภายหลังยังได้เข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มด้วยนั้น เป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ เป็นการรับผลประโยชน์ที่ผิดมาตรฐานจริยธรรมภาครัฐ และหลักเกณฑ์ของ ป.ป.ช. หรือไม่? “เมื่อตรวจสอบรายชื่อผู้ร่วมคณะเกือบทั้งหมด พบว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับงานผลิตรถไฟฟ้า (Rolling Stock) เช่น กองสวัสดิการและบริหารผลตอบแทน กองบริหารทรัพยากรบุคคล กองคดีและวินัย กองจัดหาพัสดุทั่วไป เป็นต้น จึงก่อให้เกิดคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ และผลพวงจากการดูงานในครั้งนี้ ทำให้การประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม ที่มีตามมาหลังจากนั้น โดยบริษัท BEM เข้าร่วมประมูลด้วยนั้น แม้จะเผชิญข้อกล่าวหาความไม่โปร่งใสอย่างไร รฟม. ก็ยังคงยืนกรานในผลการตัดเลือกจนกระทั่งวันนี้ ทำให้โครงการคาราคาซังมากว่า 3 ปี ยังไม่สามารถดำเนินการได้” หมายเหตุ: อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม- เนตรทิพย์: Exclusive นายกฯ รู้ยัง? มิติใหม่บอร์ด รฟม. จัดประชุมบอร์ด "ออนกรีน" ในสนามกอล์ฟสุดหรู แถมดวลวงสวิงกันครึกครื้น อ้างกระชับสัมพันธ์ฝ่ายบริหารhttp://www.natethip.com/news.php?id=7758