หากเอื้อนเอ่ยถึง ส.ป.ก.4-01 หลายฝ่ายคงนึกไปถึงคดีอื้อฉาวที่ยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนในสังคม
…
นั่นก็คือ..กรณีการแจก ส.ป.ก.4-01 ให้ “นายหัวภูเก็ต” ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย โดยมี “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รมช.เกษตรฯ ในเวลานั้นเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งแม้นโยบายของรัฐบาลนั้นจะเป็นไปด้วยเจนารมย์ที่ดี เป็นสิ่งที่ประชาชนเพรียกหา
แต่เมื่อมีการแจกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ส.ป.ก. ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการพิจารณาในจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2537 ให้กับราษฎรในพื้นที่จำนวน 486 ราย พื้นที่ทั้งหมด 10,536 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา กลับพบว่า ในรายชื่อผู้รับเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 นั้น มีบุคคลในตระกูลเศรษฐีภูเก็ตหลายรายได้รับการแจกที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ไปด้วยโดยเฉพาะปรากฏชื่อของ นายทศพร เทพบุตร สามีของนางอัญชลี วานิช เทพบุตร ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นเลขานุการ รมช.เกษตร ในขณะนั้นด้วย
เมื่อสื่อมวลชนตีแผ่ความไม่ชอบมาพากลในเรื่องนี้ กระทรวงเกษตรฯ และรัฐบาลในขณะนั้น ต่างออกโรงยืนยันนั่งยันว่า การแจกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 ของรัฐดำเนินไปตามกฎหมาย กฎระเบียบทุกประการ จนถึงขนาดที่โฆษกรัฐบาล หรือ “โฆษกเทวดา” ในขณะนั้นออกมาสัพยอกสื่อมวลชนที่ตามติดข่าว ส.ป.ก. อื้อฉาวในเวลานั้น ที่ไม่รู้จักนิยามของคำว่า “เกษตรกร”
ท้ายที่สุด กระทรวงเกษตรได้มีคำสั่งที่ 658/2537 ลงวันที่ 29 พ.ย. 2537 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ที่ออกให้กับราษฎรในจังหวัดภูเก็ต ก่อนจะได้ผลสรุปที่พบว่า มีปัญหา 2 ประการคือ..
1. ที่ดินที่นำมาจัดสรรบางจุดยังคงเป็นป่าค่อนข้างสมบูรณ์ และ 2. พบปัญหาในการพิจารณาการปฏิบัติ การพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรที่สมควรจะได้รับสิทธิ์ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งพบว่าไม่เป็นไปตามประกาศ และยังมีปัญหาในการตีความ จะ คำว่า “เกษตรกร” ด้วย
ต่อมาพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล คือ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ รมว.กระทรวงเกษตรฯ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น แต่ทั้งสองได้ชิงลาออกจากตำแหน่งเสียก่อน ฝ่ายค้านจึงเปลี่ยนเป้าหมายยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ในวันที่ 17-18 พ.ค. 2538
หลังการอภิปรายเสร็จสิ้นลงพรรคพลังธรรมที่มี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้นำพรรคในขณะนั้น และเป็น 1 ในพรรคร่วมรัฐบาล มีมติ “งดออกเสียง” ด้วยเหตุผลว่า รัฐบาลไม่สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาได้ ขณะที่สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นสมาชิกกลุ่ม 16 ได้ประกาศจะไม่ยกมือให้ฝ่ายรัฐบาลด้วยอีก ท้ายที่สุดนายชวน หลีกภัย นายกฯ ต้องประกาศ “ยุบสภา” หนีการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเวลานั้น
กลายเป็น “ตราบาป” ของพรรค ปชป. และกำนันสุเทพ มาจนกระทั่งปัจจุบัน!
เมื่อ “รัฐบาลเศรษฐา (เราจะเป็นเศรษฐี)” มีนโยบายต่อยอดการปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. ไปถึงขั้นจะให้มีการออกโฉนด ส.ป.ก. หรือโฉนดเพื่อเกษตรกรรม เพื่อเปิดทางให้เกษตรกรที่ได้รับแจกที่ดิน ส.ป.ก. สามารถนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสถาบันการเงินต่อยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดินได้
รวมทั้งเป็นการยกระดับสิทธิ์และพัฒนาสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก. เพิ่มจากเดิมที่ให้เพียงสิทธิการเข้าทำประโยชน์ ไม่สามารถซื้อ ขาย เปลี่ยนมือ โอนไปยังบุคคลอื่นได้ โดยกระทรวงเกษตรดีเดย์แจกโฉนด ส.ป.ก. มาตั้งแต่ 15 ม.ค. 2567 โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินการทยอยแจกโฉนด ส.ป.ก. เพื่อเกษตรกรรมที่ว่าภายในระยะเวลา 1 ปีนี้ ครอบคลุม 70 จังหวัดเนื้อที่กว่า 1.6 ล้านไร่
คล้อยหลังนโยบายการแจกโฉนด ส.ป.ก. ดังกล่าวไม่ทันข้ามวัน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้ตรวจพบการบุกรุกแผ้วถางป่าในเขตอุทยานเพื่อปลูกต้นมะม่วง เนื้อที่ประมาณ 3-3 ไร่ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2567 และยังพบหลักหมุดนิรนาม ส.ป.ก. อยู่ในพื้นที่อีก 3 หมุด จึงดำเนินการตรวจยึดและดำเนินคดีทันที
ก่อนดำเนินการตรวจสอบขยายผลจนพบว่า ในเว็บไซต์ของสำนักจัดการแผนที่ และสารระบบที่ดินได้มีการกำหนดพื้นที่สำหรับการปฏิรูปที่ดินเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จำนวนกว่า 2,933-2-7 ไร่ และมีการกำหนดรูปแปลงเพื่อออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 จำนวน 42 แปลง เนื้อที่ประมาณ 972-2-79 ไร่ ซึ่งจากการตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับเอกสารสิทธิ์เหล่านี้ ปรากฏว่า ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมแต่อย่างใด และไม่ได้อยู่ในพื้นที่แต่อย่างใด
13 ก.พ. 2567 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ จึงนำคณะลงตรวจสอบพื้นที่อีกครั้งก่อนจะพบว่า มีการปักหมุด ส.ป.ก.4-01 ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จำนวนมาก ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นป่าดิบที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ บางพื้นที่ยังพบหลักหมุด ส.ป.ก.ทับแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยอีก จึงดำเนินการ “รื้อถอน” หลักหมุดนิรนาม ส.ป.ก.ดังกล่าว พร้อมแจ้งความเอาผิดเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.โคราช ยกชุด
ก่อนที่นายชัยวัฒน์ จะเดินทางไปเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีการหยิบยกกรณีตารวจพบหมุด ส.ป.ก.4-01 ในเขตอุทยานฯขึ้นมุกเครียดในที่ประชุมด้วย โดยผู้แทนสำนักงานปฏิรูปที่ดินฯ และปฏิรูปที่ดินโคราช ยืนยันว่า การออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 ดังกล่าวอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งสามารถดำเนินการได้ ขณะที่นายชัยวัฒน์ได้ลุกขึ้นตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนยืนยันว่า “เป็นการบุกรุกที่อุทยานฯ และมีการดำเนินการอย่างเป็นชบวนการ ก่อนจะประกาศกร้าวที่จะพิทักษ์ผืนป่าอุทยานไม่ยอมให้ใครหน้าไหนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ได้”
คล้อยหลัง ไม่ทันข้ามวัน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตร ก็นำคณะ พร้อมเลขาธิการ ส.ป.ก.ลงตรวจสอบพื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่ พร้อมเรียกผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เข้าร่วมตรวจสอบปัญหาหมุดนิรนาม ส.ป.ก.ฯ ที่อ้างว่ารุกที่อุทยานเขาใหญ่ ก่อนสอบถามรายละเอียดจาก ส.ป.ก.โคราชและเลขาฯ ส.ป.ก. ที่มีการหยิบยกเอกสารเพื่อแสดงให้เห็นว่า มีการประกาศเขตพื้นที่ ส.ป.ก. กันมาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ เสียอีก
อย่างไรก็ตาม รมว.กระทรวงเกษตร ได้สั่งให้ ส.ป.ก.โคราช ชะลอการรังวัดปักหมุดที่ดินให้เกษตรกรในพื้นที่เจ้าปัญหาไปก่อน จนกว่าจะมีข้อยุติและสรุปจากคณะกรรมการกลาง ที่จะมีการเชิญเจ้ากรมแผนที่ทหารเข้ามาร่วมตรวจสอบ และได้เน้นย้ำให้สองฝ่ายมีการเจรจาเพื่อให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น
ถึงเวลานี้กระแสสังคมเริ่มตั้งคำถาม หมุดนิรนาม ส.ป.ก.30 โผล่เข้ามาอยู่ในอุทยานแห่งชาติเข้าใหญ่ได้อย่างไรและเมื่อใด เหตุใด ส.ป.ก.โคราช และสำนักงานฯ จึงไม่มีการประสานกับเขตอุทยานฯ รวมทั้งหน่วยงาน ทส. ในการเข้ามาปักหมุดหลักเขต ส.ป.ก.ในพื้นที่แห่งนี้
ก่อนที่เลขาฯ ส.ป.ก. จะออกคำสั่งย้าย 6 เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.โคราช เข้าไปรายงานตัวยังส่วนกลางเพื่อเปิดทางให้มีการสอบสวน พร้อม ๆ กับที่มีข่าว “คณะกรรมการ ป.ป.ช.” มีมติชี้มูลความผิด นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กับพวกกรณีดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยาน (ห้วยคมกฤต) ในพื้นที่อุทยานฯ แก่งกระจาน โดยมิชอบ
โดยชี้มูลนายชัยวัฒน์ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และฐานเป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ใน มาตรา 4 และมาตรา 12 ฐานตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมฯ และยังมีข้อหาอื่นๆ เป็นหางว่าว
ก่อนส่งเรื่องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ต้นสังกัดดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 85 (1) และ (4) โดยไม่ต้องมีการตั้งกรรมการสอบวินัยใด ๆ อีก ท่ามกลางข้อวิพากษ์ เหตุใด ป.ป.ช.จึงมาชี้มูลความผิดนายชัยวัฒน์เอาในช่วงนี้ จนอดคิดไม่ได้ว่ามี “ใบสั่ง” หรือ Invisible Hand ที่ไหนยื่นมือเข้ามาสกัดเส้นทางการตรวจสอบและดับเครื่องชนขบวนการสวมสิทธิ์ สปก.ของนายชัยวัฒน์ หรือไม่?
ยิ่งเมื่อย้อนรอยดูสายสัมพันธ์ระหว่าง ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับ “เจ้าของนาฬิกา” เรือนนั้น ซึ่งก็คือหัวหน้าพรรค พปชร. ของ ร.อ.ธรรมนัส ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้สังคมคลางแคลงใจ อะไรมันจะ “ประจวบเหมาะ” เจือสมกันได้ดีขนาดนี้
กับ “ปริศนา” หลักหมุดนิรนาม ส.ป.ก. ที่อุทยานฯ เขาใหญ่ ตรวจพบนั้น หากจะอ้างว่าเป็นเขตปฏิรูปที่ดินมาแต่ไหนแต่ไร และมีการออกประกาศแนวเขตปฏิรูปที่ดินมาตั้งแต่ปีมะโว้ ก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อปี 2505 (18 ก.ย. 2505) เสียอีก!
ก็ให้เกิดข้อฉงนสนเท่ห์และเกิดคำถามตามมาทันที แล้วกรมอุทยานฯ ไปประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทับที่ดินปฏิรูป ส.ป.ก. ได้อย่างไร? หรือ ส.ป.ก. ยอมให้กรมอุทยานฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ (ทส.) ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทับซ้อนที่ดินปฏิรูปฯ ไปได้อย่างไร โดยไม่มีการร้องแรกแหกกระเชอใด ๆ มาตั้งแต่แรก!
แต่เพิ่งจะมีปะทุขึ้นมา และตีโพยตีพายว่า เป็นเขตที่ดิน ส.ป.ก. เอาเมื่อรัฐบาลมีนโยบายแปลงที่ดิน ส.ป.ก. เป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรมที่สามารถจะดำเนินการโอนและซื้อขายเปลี่ยนมือได้
เหตุนี้ จึงไม่แปลกที่สังคมจะพากันตั้งคำถามว่า ทั้งหลายทั้งปวงคือความความพยายามที่จะ “สวมรอย” ออกโฉนด ส.ป.ก.เพราะที่ดินผืนป่า ส.ป.ก.นิรนามเจ้าปัญหานั้น สนนราคาซื้อขายหากสามารถผลักดันออกเป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรม หรือโฉนด ส.ป.ก.ได้ นัยว่าราคาทะลักไปถึงไร่ละ 30 ล้าน
3,000 ไร่ในเป้าหมายการออกโฉนด ส.ป.ก.ที่ว่านี้ คิดเป็นเม็ดเงินสักกี่มากน้อยก็ลองเอาหัวแม่(....ทรีน)ตรองดูกันเอา จริงไม่จริง!!!
หมายเหตุ: อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม...
-เนตรทิพย์:Columnist
หลักหมุด “ส.ป.ก.” เจ้าปัญหา แก๊งงาบป่า “เขาใหญ่” ฝันค้าง! สะเทือน! พรรคพลังประชารัฐ
http://www.natethip.com/news.php?id=7964