ห้วงสัปดาห์นี้ สิงคโปร์จัดคอนเสิร์ตยักษ์ระดับโลก “เทเลอร์ สวิฟท์” 6 รอบ 6 วัน แต่ละรอบมีสาวกสวิฟตี้ เข้าชมกันแน่นขนัด 55,000 คน หรือรวมกว่า 3.5 แสนคน (ไม่รวมอีกส่วนที่แม้ไม่มีที่นั่ง แต่ก็บินไปดมกลิ่นสวิฟตี้ก็ยังดี)
…
ตลอดห้วงขวบเดือนก่อนคอนเสิร์ตระเบิดขึ้น ทั้งเที่ยวบิน โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาคาร สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในสิงคโปร์ ถูกจองเรียบวุธเต็มเอี้ยด แม้ราคาจะสูงแค่ไหนก็ไม่หลงเหลือ ขณะบรรดาภัตตาคาร ห้างร้านต่าง ๆ จัดโปรโม่ชั่นต้อนรับสาวกสวิฟตี้ที่เดินทางมาก่อนกันทุกแห่ง
รัฐบาลสิงคโปร์ร่วมลงขันสนับสนุนการจัดคอนเสิร์ตนี้ด้วยรอบละ 100 ล้าน รวม 600 ล้าน (เท่ากับเม็ดเงินกองทุน กทปส. ที่ กสทช. ลงขันถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022) แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม คุ้มยิ่งกว่าแฟลตปลาทอง (ปี 2526) เพราะนัยว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดจากอภิมหาคอนเสิร์ตแบบ Exclusive ประเทศเดียวในอาเซียนครั้งนี้กว่า 13,500 ล้าน เฉลี่ยใช้จ่ายคนละ 37,000 บาท
เมื่อรวมกับคอนเสิร์ต Coldplay World Tour เมื่อปลายเดือน ม.ค. 67 ที่คาดว่ามีเม็ดเงินสะพัดมากกว่า 12,000 ล้านบาท แค่ 2 อภิมหาคอนเสิร์ต ก็ทำเอามีเม็ดเงินสะพัดไปทั่วเกาะสิงคโปร์มากกว่า 25,000 ล้านบาท แทบจะเลี้ยงประชากรทั้งเกาะสิงคโปร์ไปทั้งปี
ยังไม่รวม Singapore Airshow 2024 (จัดขึ้นทุก 2 ปี) ระหว่าง 20-25 ก.พ. ที่ศูนย์นิทรรศการชางงี สิงคโปร์ ดึงบริษัทด้านการบินและอวกาศกว่า 1,000 แห่งทั่วโลกเข้าร่วม และการแข่งขันกอล์ฟ HSBC Women’ S World Championship 29 ก.พ. - 3 มี.ค. 67 ที่สนาม Sentosa Golf Club, Tanjong Course, Singapore ที่ระดมนักกอล์ฟหญิงระดับเวิลด์คลาสจากทั่วโลกเข้าร่วมอีก
เขาไม่ต้องประกาศตัวเองเป็น Aviation HUB แต่เป็น Entertainment HUB แต่กลับได้ Aviation HUB และเป็นทุก HUB ไปโดยอัตโนมัติ
ส่วนพี่ไทยเราประกาศจะเป็น Aviation HUB ทางการบินและกระจายสินค้า แต่ไม่รู้ว่าเรามีปัจจัยอะไรที่จะดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่ว่านั้น เรามีมหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติ มีเทศกาลสงกรานต์ บุญบั้งไฟและเทศกาลอะไรต่อมิอะไรที่หลากหลายทางวัฒนธรรม เรามีสนามบินหรูหราหมาเห่า หรือมีแหล่งเที่ยวเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงวัฒนธรรมที่เหนือกว่า ?
มหกรรมงานแสดงสินค้าระดับชาติ หรือระดับอินเตอร์ ที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจเรายังดี จัดทำไรมีผู้คนแห่แหนกันไปร่วมงานกับคับคั่ง มีเงินสะพัดนับหมื่น หรือหลายหมื่นล้าน ก็เห็นจะมีแต่มหกรรม Motor Show และ Money Expo เท่านั้นแหล่ะ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นมหกรรมกรรม “สร้างหนี้สิน” ให้คนไทยเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดึงดูการลงทุนและท่องเที่ยวใด ๆ แม้แต่น้อย
ที่เห็นและเป็นไปนอกจาก AOT ที่ออกมาขานรับจะทุ่มเงิน 2.1 แสนล้าน ขยายศักยภาพสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง รวมทั้งสนามบินในภูมิภาคของ ทอท. เพื่อให้รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศให้ได้ถึง 150 ล้านคน ท่ามกลางคำถามจากทุกฝ่าย ขยายสนามบินแล้วนักท่องเที่ยว นักลงทุนจะตรงรี่เข้ามาประเทศไทยหรือ? เขาอยากมาเห็นสนามบินสุวรรณภูมิของไทยกันหลังจากขยายศักยภาพแล้วอย่างนั้นหรือ?
เกิดนักท่องเที่ยวที่บินมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง อยากไปเที่ยวประจวบฯ -หัวหิน จะเดินทางกันไปอย่างไรในเมื่อถนนพระราม 2 ที่สร้างมากกว่า 50 ปียังไม่แล้วเสร็จต้องหาวเรอรอกันไปอีกเป็นทศวรรษ หรืออยากไปทัวร์ที่เขาใหญ่ เลยไปโคราช ขอนแก่นดูไดโนซอรัส หรือจะไปบ้านเชียง ไปอุดร จะนั่งรถไฟไฮสปีดเทรนไปสัตหีบ-ระยอง ก็อาจจะต้องรอไปอีก 40-50 ปีจากนี้ เพราะที่พูดมานั้นยังไม่สร้างไฮสปีดเทรนกันเลยสักสายที่สร้างอยู่ก็ไม่รู้จะแข่งกับถนนพระราม 2 หรือไรถึงได้อืดเป็นเรือเกลือ
แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อที่มีอยู่ก็คงมีแต่ภูชี้ฟ้า ม่อนแจ่ม ภูอะไรต่อมิอะไรกับที่เชียงใหม่ที่พอจะนึกออก แต่ก็คงต้องแย่งกันกินแย่งกันใช้กับคนไทยเราเองที่ไปไหนไม่ได้ เพราะเจอปัญหาตั๋วแพงเลยต้องขับรถไปแย่งกันเที่ยวบนภูทั้งหลายนั่นแหล่ะ
แถมปัจจัยในเรื่องค่าตั๋วเครื่องบินในแหล่งท่องเที่ยวหลักๆ ที่ผู้คนสะท้อนให้ภาครัฐกันมาเป็นปีเป็นชาติก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข แหล่งท่องเที่ยวหลักๆ ไม่ว่าจะ “เกาะสมุย หรือภูเก็ต” ล้วนมีปัญหาในเรื่อง “ตั๋วเครื่องบินราคาแพง” ชนิดที่คนไทยหมดสิทธิ์จะไปท่องเที่ยว ต้องหวังพึ่งแต่นักท่องเที่ยวจีนหรือยุโรปเป็นหลักเท่านั้น
ยิ่งในส่วนของแหล่งท่องเที่ยวเกาะสมุยนั้นยิ่งหนัก ไม่เคยอยู่ในโฟกัสการแก้ไขปัญหาของภาครัฐแม้แต่น้อย การแกไขปัญหาตั๋วบินแพงที่กระทรวงคมนาคมและสำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) ดำเนินการไปล่าสุด ก็พุ่งเป้าไปที่เส้นทางบินกรุงเทพ-เชียงใหม่ และภูเก็ตเท่านั้น ไม่เคยชำเลืองมาดูตั๋วเครื่องบินที่เกาะสมุยเลยสักนิด!
แม้แต่สายการบินบางกอกแอร์เวย์สที่มีฐานการบินหลักอยู่ที่สมุย และเป็นเจ้าของสนามบินสมุยเองก็ตามที ราคาตั๋วเครื่องบินไป-กลับทั้งของการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์ส 2 สายการบินที่ให้บริการอยู่ ก็มีราคาทะลุ 5,000-6,000 บาท ไป-กลับเกิน 11,000-15,000 บาทขึ้นไป เทียบกับตั๋วเครื่องบินกรุงเทพ- บาหลี , กรุงเทพ-สิงคโปร์ หรือกรุงเทพ-ฮ่องกง ที่อยู่ในระดับแค่ 8,000-9,000 บาทเศษเท่านั้น จนผู้โดยสาร นักท่องเที่ยวพากันสัพยอก บินไปกินติ่มซำที่ฮ่องกง หรือข้าวมันไก่สิงคโปร์ ไปไหว้พระที่เกาะบาหลียังถูกกว่าบินไปแตะหาดทรายที่เกาะสมุยเสียอีก
เสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ท และภัตตาคาร ร้านอาหารบนเกาะสมุย รวมทั้งนักท่องเที่ยวไทยที่หลงบินเข้าไปท่องเที่ยวยังพื้นที่ดังกล่าวที่สะท้อนออกมานั้น ต่างก็บ่นทำนองเดียวกันว่า ตั๋วเครื่องบินไปสมุยนั้นแพงหูฉี่ เริ่มต้นสนนราคาก็ 4,000-6,000 อัพ ขนาดในช่วง “โลว์ซีซั่น” ราคาก็ยังแพงกว่าเชียงใหม่และภูเก็ต 2-3 เท่าตัว จึงทำให้ช่วง “ไพรม์ไทม์” ที่เป็นไฮซีซั่นของเกาะสมุยนั้นสั้นกว่าที่อื่น ๆ
แม้ล่าสุดนายกฯ และกระทรวงคมนาคมจะลงมาดูแลปัญหา แต่ก็ทำได้แค่คลอดมาตรการ “ขายผ้าเอาหน้ารอด” จัดโปรโมชั่นและเพิ่มไฟล์ทบินรับนักท่องเที่ยวให้ 10,000-12,000 ที่นั่งให้เท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนแต่อย่างใด
เรายังหวังจะเป็น Thailand Aviation Hub กันอยู่อีกหรือ???
หมายเหตุ: อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-เนตรทิพย์: Hot Issue
นายกฯ ชูวิสัยทัศน์ไทย... สู่ HUB Aviation ของภูมิภาค ฝันใหญ่ติด 1 ใน 20 ศูนย์กลางการบินโลกใน 5 ปี!
http://www.natethip.com/news.php?id=8033
-เนตรทิพย์: Special Report
Aviation HUB...อัพเกรดประเทศไทย! แค่ปัดฝุ่นลุยลงทุนขยายสนามบินก็เป็นได้หรือ ฯพณฯ?
http://www.natethip.com/news.php?id=8039