หลังจากรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ใช้ความพยายามเกลี้ยกล่อมและกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กบง.) เพื่อพิจารณาทบทวนและปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบันกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทาง
…...
ด้วยเหตุที่การแจกเงินประชาชนคนละ 10,000 บาท ผ่าน “ดิจิทัล วอลเล็ต” ของรัฐบาล ไม่สามารถดำเนินการได้ตาม “ไทม์มิ่ง” ที่วางไว้ แต่ผู้ว่าการ ธปท. กลับทำเป็นหูทวนลม ไม่มีทีท่าว่าจะทบทวนแนวทางการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ยังคงยืนกรานเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดี ยังไม่ถึงขั้นวิกฤตที่ต้องใช้นโยบายการเงินและลดดอกเบี้ยกระตุ้น
แม้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะออกโรงสนับสนุนนโยบายลดดอกเบี้ยนโยบายด้วยอีกแรง หลังตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวมในปี 2566 ออกมาต่ำกว่าประมาณการที่วางไว้ อันสะท้อนให้เห็นภาวะเศรษฐกิจที่กำลังดำดิ่งสู่วิกฤติ ภาครัฐได้ใช้มาตรการการคลังไปหมดหน้าตักไปแล้ว
แต่ ธปท. ก็ยังคงไม่มีท่าทีจะสนองตอบนโยบายรัฐบาลแต่อย่างใด สะท้อนให้เห็นมุมมองของ ธปท. ที่แทบจะเดินไปคนละทางกับรัฐบาล ไม่สามารถจะจูนกันติด ความคาดหวังที่ทุกฝ่ายจะเห็น ธปท. และสมาคมธนาคารไทย พาเหรดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแทบจะเป็นเรื่องเพ้อฝัน (แม้ผลประกอบการของแบงก์ทั้งระบบในปีที่ผ่านมา จะมีกำไรทะลักล้นกว่า 2 แสนล้านบาทก็ตาม)
เหตุนี้ กระทรวงการคลังและรัฐบาลจึงแก้ลำ ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ด้วยการผลักดันแนวทางการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ หลังจากรัฐบาลและ ธปท. คุมกำเหนิดใบอนุญาตประกอบกิจการแบงก์พาณิชย์ และสถาบันการเงินมานับศตวรรษ โดยจะออกใบอนุญาตจัดตั้งแบงก์ใหม่ในลักษณะที่เป็น Virtual Bank ที่นัยว่า จะพลิกโฉมหน้าทางการเงิน ให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินอย่างแท้จริง ไม่ติดกับดักของระบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน
4 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอใบอนุญาตจัดตั้ง “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” หรือ Virtual Bank ตามที่คณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง และ ธปท. ได้จัดทำหลักเกณฑ์เอาไว้
ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจน้อย-ใหญ่ที่ขานรับนโยบายเพิ่มไลเซ่นส์แบงก์ใหม่กันอย่างคึกคัก
*KTB -OR- Gulf -AIS ขึ้นแท่นเต็ง 1
สาระหลักของประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ประกอบด้วย 1. เป็นธนาคารที่ผสานความเชี่ยวชาญ 3 ด้าน ได้แก่ ธนาคาร-เทคโนโลยีดิจิทัล-ข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรม เข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน เร่งเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและก้าวสู่ฮับการเงินอาเซียน
2. “ธนาคารไร้สาขา” มุ่งเน้นบริการทางการเงินแก่ 1) ผู้ไม่มีรายได้ประจำ และ SMEs 2) กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ (Underserved) 3) กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) 4) กลุ่มเข้าไม่ถึงสินเชื่อและกลุ่มเป็นหนี้นอกระบบ
3. ไม่จำกัดจำนวนใบอนุญาต (เดิมจำกัด 3 ราย) เนื่องจากกระทรวงการคลังต้องการเปิดกว้างแก่ผู้มีศักยภาพและผ่านคุณสมบัติ โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พิจารณาจำนวนใบอนุญาตที่จะกระตุ้นการแข่งขัน และไม่เสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน
4. “ธนาคารไร้สาขา” กำกับโดย ธปท. เสมือนธนาคารพาณิชย์อื่น โดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ธนาคารไร้สาขาจะไม่ใช้ระบบเงินฝาก ระบบสินเชื่อ Internet Banking ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นทั้งในและต่างประเทศ
5. ผู้ขออนุญาตสามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ประกาศฯ มีผลบังคับใช้ พร้อมกับหลักฐานและข้อมูลประกอบการพิจารณาตามที่ประกาศฯ กำหนด
6.กระทรวงการคลังและ ธปท.จะร่วมกันพิจารณาคำขออนุญาตภายใน 9 เดือน และต้องจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดและเปิดบริการใน 1 ปี
และ 7. ต้องตั้งสำนักงานใหญ่ในไทยและมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทในระยะแรก และไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในระยะปกติ (5ปี) สามารถเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อผสานความเชี่ยวชาญเฉพาะได้
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนธุรกิจเที่แสดงความสนใจจะกระโดดเข้าร่วม Virtual Bank ในเวลานี้ มีทั้งกลุ่มทุนสื่อสาร พลังงาน และสถาบันการเงิน ที่เปิดตัวออกมากันแล้วอย่างน้อย 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มพันธมิตร ธนาคารกรุงไทย KTB, AIS , บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ GULF และบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)หรือ OR
กลุ่มที่ 2 บริษัทเอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ร่วมกับ Kakao Bank ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลใหญ่ที่สุดจากเกาหลีใต้ และกลุ่มที่ 3 กลุ่ม Ascend Money ผู้ให้บริการอีวอลเล็ตภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” และพันธมิตรที่ประกอบด้วยธํนาคารเกียรตินาคิน (KKP) แอนท์ กรุ๊ป Ant Group และ Ascend Money
สัปดาห์ก่อน กลุ่มผู้บริหาร Virtual Bank น้องใหม่อย่าง OR-KTB และ AIS ออกมาชูจุดแข็งของพันธมิตรที่มีฐานลูกค้าอยู่ในมือมากกว่า 100 ล้านราย โดย OR มีสถานีบริการน้ำมันกว่า 2,203 แห่ง ร้านคาเฟ่ อเมซอนอีก 4,045 สาขา, ร้านสะดวกซื้อ 2,186 สาขา ทั้งยังมีร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นสมาชิกบัตร Blue Card อีกกว่า 8 ล้านคน
ขณะ AIS ก็มีฐานลูกค้ามือถือและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในมือกว่า 50 ล้าน ด้าน KTB ที่เป็นผู้พัฒนา “แอพเป๋าตัง” ยังมีฐานลูกค้าอีกกว่า 40 ล้าน รวมแล้วพันธมิตรกลุ่มนี้ดูจะมีความได้เปรียบกลุ่มอื่น ๆ จนถึงกับประกาศว่า จะเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเงินครั้งใหญ่อย่างแน่นอน!
แต่ Virtual Bank ที่ว่าจะปรับเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเงิน ทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินได้อย่างแท้จริงหรือไม่ จะสามารถทลายกำแพงผูกขาดของระบบเศรษฐกิจลงไปได้หรือไม่ ในเมื่อหลักเกณฑ์การจัดตั้ง Virtual Bank ที่ว่านี้ ยังคงอยู่ภายใต้กำกับของ ธปท ทุกกระเบียดนิ้ว !!!
*ย้อนรอยดู Nano-Pico Finance
แม้กระทรวงการคลังจะป่าวประกาศแนวทางการออกใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา โดยไม่จำกัดจำนวนใบอนุญาต (License) แต่ให้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ลงทุนเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน
แต่หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนรอยดูเส้นทางการจัดตั้ง Nano Finance และ Pico Finance ของกระทรวงการคลังก่อนหน้า จะเห็นว่า ล้วนอ้างเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งทุนจากการที่ไม่สามารถจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบปกติจากธนาคารและสถาบันการเงิน
โดย “นาโนไฟแนนซ์ - Nano Finance” สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับนั้น เปิดทางให้ผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้ ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน แต่จะต้องจัดตั้งบริษัทดำเนินการ มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity ratio) ไม่เกิน 7 เท่า กำหนดเกณฑ์ปล่อยกู้สินเชื่อเอนกประสงค์ไม่เกิน 2 เท่าเงินเดือนและไม่เกิน 100,000 บาท คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 36% (จากปกติ 25%)
ขณะที่ PICO Finance สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง เป็นสินเชื่อเอนกประสงค์ที่รัฐต้องการให้บรรดาเจ้าพ่อ เจ้าแม่เงินกู้นอกระบบทั้งหลาย เข้ามาขออนุญาตจัดตั้งและปล่อยกู้สินเชื่ออย่างถูกกฎหมาย กำหนดเกณฑ์ปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 50,000-100,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งพิโก้ ไฟแนนซ์ กับรัฐมากกว่า 1,000 ราย
ความสำเร็จ-ล้มเหลวของการจัดตั้งนาโน และพิโก้ ไฟแนนซ์ มีมากน้อยแค่ไหน ทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดีการจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์ ที่เปิดทางให้สถาบันการเงิน บริษัทเงินทุนและผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินสามารถดำเนินการได้ กลายเป็นช่องทางที่ทำให้แบงก์และสถาบันการเงินต่างตบเท้าเข้าร่วมวงไพบูลย์กันคึกคัก แม้แต่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอย่างธนาคารออมสิน
ขณะที่เป้าหมายในการจัดระเบียบเจ้าพ่อเจ้าแม่เงินกู้นอกระบบทั้งหลาย ที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายไว้สวยหรูก่อนหน้ากลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง! เห็นได้จากการที่รัฐบาลและกระทรวงการคลัง ยังต้องผลักดันนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ดึงลูกหนี้เงินกู้นอกระบบทั้งหลายมาขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานรัฐเพื่อที่รัฐจะเป็นตัวกลางเจรจาแก้ไขปัญหาหนี้ให้ล่าสุด
ด้วยเหตุนี้ จึงอดคิดไม่ได้ว่า การทบทวนนโยบายคุมกำเนิดแบงก์พาณิชย์และสถาบันการเงิน ด้วยการเพิ่มไลเซ่นส์ธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank สุดกระหึ่มที่รัฐบาลและคลังกำลังดำเนินการอยู่นี้ เพื่อหวังจะให้เป็นแหล่งเงินทุนที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างแท้จริง จะเป็นคำตอบที่ทุกฝ่ายเพรียกหา มีหลักประกันใดรับประกันได้ว่า Virtual Bank ที่ว่าจะไม่เจริญรอยตาม Nano-Pico Finance
ในเมื่อหลักเกณฑ์ และเงื่อนการจัดตั้ง ตลอดจแนวทางในการกำกับดูแลสถาบันการเงินทั้งหลายเหล่านี้ ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ทุกกระเบียดนิ้ว!!!
*แนะคลังทบทวนเกณฑ์ Virtual Bank
แม้ทุกฝ่ายจะออกมาขานรับนโยบายรัฐในการออกใบอนุญาต “ไลเซ่นส์” แบงก์ใหม่ แต่หลายฝ่ายยังคงแสดงความกังวลว่า “ธนาคารไร้สาขา” ที่ว่านี้ จะเป็นความหวังให้ประชาชนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนได้มากน้อยแค่ไหน จะเป็นสถาบันการเงินที่ทุกฝ่ายเพรียกหาได้อย่างแท้จริงหรือไม่
แม้หลักเกณฑ์ รูปแบบการดำเนินกิจการของสถาบันการเงินใหม่ จะสอดรับกับพฤติกรรมของผู้ใช้บริการในปัจจุบันที่เน้นการให้บริการออนไลน์เป็นหลัก มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นจุดขาย
และต่างก็เชื่อว่า หาก Virtual Bank เริ่มให้บริการด้วยเงื่อนไขการปล่อยกู้ที่อำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าผู้ใช้บริการถึงห้องครัวหรือห้องนอนโดยตรง (ผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด) ย่อมทำให้ลูกค้าในระบบเดิมที่ต้องถูกโขกสับอัตราดอกเบี้ยอย่างไม่มีทางเลือก คงพร้อมจะผละจากระบบเดิมและโผเข้าซบธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ที่ว่านี้
แน่นอนว่า ด้วยพื้นฐานของ Virtual Bank ที่ไม่มีต้นทุนด้านสาขา ไม่ต้องอาศัยหรือใช้พนักงานหน้าเคาน์เตอร์เรือนหมื่นคน แต่เน้นการทำตลาดออนไลน์ อาศัยเทคโนโลยีที่เข้าถึงผู้ใช้บริการได้ในทุกช่องทาง สามารถให้บริการได้ตลอด 24 ชม. ทำให้สามารถลดต้นทุนการบริหารจัดการลงได้ มีความเปรียบธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเต็มรูปแบบ ย่อมทำให้รัฐสามารถสามารถจะกำหนดส่วนต่าง (Spread) อัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ไม่ใช่ปล่อยให้แบงก์โขกส่วนต่างดอกเบี้ยไปจนถึง 7-10% อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แต่ด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการออกใบอนุญาตที่ออกมาล่าสุดนั้น ยังคงไม่มีหลักประกันใดจะบ่งชี้ว่าประชาชนผู้ใช้บริการโดยเฉพาะระดับรากหญ้าจะได้รับการดูแลในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่รัฐและกระทรวงการคลังควรพิจารณาทบทวนก็คือ เรื่องของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread ที่เหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยให้ธปท.กำกับดูแลอย่างที่เป็นอยู่
ที่สำคัญ การที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังยังคงให้ ธปท. ทำหน้าที่กำกับดูแลและกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล Virtual Bank ภายใต้ข้อกำหนดที่ ธปท. มีอยู่ในปัจจุบันทุกฝ่ายต่างรู้อยู่เต็มอกว่า ยังไงเสีย ธปท. คงต้องรักษาระบบธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินภายใต้การกำกับของตนเองที่มีอยู่ราว 30 แห่งนี้เป็นหลัก ยากที่จะทำให้สถาบันการเงินดังกล่าวมีความคล่องตัวในการดำเนินการ เผลอ ๆ อาจถูกกลืนเข้าสู่ระบบกลายเป็น “เสือนอนกิน” Tiger Sleep Eat ตัวใหม่ในระบบธนาคารพาณิชย์ขึ้นมาอีก
สุดท้ายแล้ว Virtual Bank ก็คงเจริญรอยตาม “นาโน และพิโก้ ไฟแนนซ์” ที่เป็นได้แค่ “มหกรรมปาหี่” ที่คลังและ ธปท. ทำคลอดออกมาลดกระแสต้านของสังคม และสุดท้ายก็หนีไม่พ้นการสร้าง Tiger Sleep Eat ตัวใหม่ขึ้นมาเท่านั้น!!!
หมายเหตุ: อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เนตรทิพย์: บทวิเคราะห์
Virtual Bank... เปลี่ยนโฉมหน้าการเงินแน่หรือ? ถอดบทเรียน Pico-Nano Finance
http://www.natethip.com/news.php?id=8043
เนตรทิพย์: News
“คลัง” เปิดเกม Virtual Bank ปั้นการเงินยุคดิจิทัล สู่ฮับการเงินอาเซียน
http://www.natethip.com/news.php?id=8047