ด่านตรวจพืชช่องเม็ก จับมือ ด่านศุลกากรช่องเม็ก จับผู้ต้องสงสัยเตรียมขนต้นพันธุ์ทุเรียนหมอนทอง พืชสงวนไทย 8 พันต้น มูลค่ากว่า 2 แสนบาทออกนอกประเทศ ยึดของกลางพร้อมแจ้งข้อกล่าวหาทำผิดตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืชหากลักลอบส่งออกพืชสงวนไทย 11 ชนิด โดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 4 พันบาท
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบส่งออกพืชสงวนตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช ของไทย ล่าสุดนายตรวจพืช ด่านตรวจพืชช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี กรมวิชาการเกษตร ได้รับเบาะแส จากพลเมืองดีว่า จะมีการลักลอบนำพืชสงวนของไทยส่งออกนอกราชอาณาจักร จึงได้ประสานขอความร่วมมือกับด่านศุลกากรช่องเม็กร่วมกันเข้าตรวจสอบพบรถยนต์บรรทุกคันหนึ่งบริเวณจุดตรวจรถยนต์และสินค้าขาออก ด่านพรมแดนช่องเม็ก ซึ่งจอดอยู่ในพื้นที่ขาออก คณะเจ้าหน้าที่จึงขอทำการตรวจสอบรถยนต์บรรทุกดังกล่าว พบต้นกล้าพันธุ์ทุเรียนอยู่หลังรถยนต์บรรทุก จึงได้ควบคุมตัวผู้ขับรถดังกล่าว มายังด่านศุลกากรช่องเม็ก ซึ่งจากการตรวจค้นพบต้นกล้าพันธุ์พืชสงวน คือ ต้นพันธุ์ทุเรียนหมอนทอง จำนวน 8,000 ต้น คิดเป็นมูลค่า 240,000 บาท (ต้นละ 30 บาท) จึงแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องสงสัยทราบว่าเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 30 ห้ามมิให้ผู้ใดส่งออกพืชสงวน เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี และเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทดลองหรือวิจัยในทางราชการเท่านั้น หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยได้นำส่งผู้ต้องสงสัยให้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี และได้ยึดของกลางที่เป็นพืชสงวนทั้งหมดไว้ในความดูแลของด่านศุลกากรหนองคาย เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
“การจับกุมครั้งนี้ ได้แจ้งข้อหาให้ผู้ถูกจับกุมทราบว่าผิดตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืชฯ ฐานความผิดพยายามส่งออกพืชสงวนของไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งตามกฎหมายนั้น รัฐมนตรีจะมีอำนาจอนุญาตให้ส่งออกพืชสงวนได้เฉพาะเพื่อใช้ประโยชน์ในการทดลองหรือวิจัยเท่านั้น โดย พระราชบัญญัติพันธุ์พืชฯ กำหนด พืชสงวนไว้ทั้งหมด 11 ชนิด คือ ทุเรียน องุ่น ลิ้นจี่ มะพร้าว มะขาม ส้มโอ ลำไย ทองเครือ กวาวเครือ สละ และสับปะรด ซึ่งหากมีการลักลอบส่งออกพันธุ์พืชสงวนของไทยเหล่านี้ออกไปขยายพันธุ์ในประเทศอื่นๆ จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยตรงอย่างมาก ดังนั้น หากผู้ใดทราบเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าว สามารถแจ้งได้ที่ด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตรทั่วประเทศ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว